เกี่ยวกับเรา
ความเป็นมาของแพทย์วิถีธรรม
ข้อมูลหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย
รูปแบบการบูรณาการวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรม
นางนิตยาภรณ์ สุระสาย
วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
พ.ศ. 2563
การแพทย์วิถีธรรมเป็นการแพทย์ทางเลือกที่ใช้หลักการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health Care) ศึกษาวิจัยองค์ความรู้และหลักการแพทย์วิถีธรรมโดย ดร. ใจเพชร กล้าจน วิธีการดำเนินการวิจัยใช้ทั้งรูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ด้วยการสังเคราะห์องค์ความรู้จากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านสุขภาพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ใช้วิธีการทดลอง การสังเกต การสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม เพื่อพัฒนาและสังเคราะห์เป็นหลักสูตรอบรม และใช้วิธีทางสถิติวิเคราะห์ข้อมูล พิสูจน์ ประเมิน หรือยืนยันประสิทธิภาพของวิธีการดูแลสุขภาพ การวิจัยสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ด้านสุขภาพ 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1) สาเหตุของความเจ็บป่วยตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ 4 สาเหตุหลัก 9 สาเหตุย่อย
2) กลไกการเกิดและการหายของโรค/อาการเจ็บป่วย ตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ
3) กลุ่มอาการเจ็บป่วย ตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ 5 กลุ่มอาการ
4) การปรับสมดุลเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธในแนวทาง “3 สูตรปรับสมดุล 4 กลวิธีหลัก 9 เทคนิค”
ซึ่งภายหลัง เมื่อ ปี พ.ศ. 2555 ได้รับแต่งตั้งจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรมเพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในปีเดียวกันนั้น สำนักการแพทย์ทางเลือก ได้นำองค์ความรู้การแพทย์วิถีธรรมหรือการแพทย์วิถีพุทธ มาจัดทำหลักสูตรชื่อ“การแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม เพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” ได้รับการอนุมัติ จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มีปรัชญาของหลักสูตร คือ บูรณาการองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพทุกศาสตร์ ด้วยธรรมะ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ประหยัด เรียบง่าย ปลอดภัย ได้ผล พึ่งตนเองได้และช่วยเหลือผู้อื่นใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเป็นหลัก ประยุกต์กับวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน (ใจเพชร กล้าจน 2558: 2)
ความหมายของการแพทย์วิถีธรรม
การแพทย์วิถีธรรมหรือการแพทย์วิถีพุทธ หมายถึง การแพทย์ที่นำเอาจุดดีของวิทยาศาสตร์การดูแลสุขภาพทั้ง 4 แผน คือ แผนปัจจุบัน แผนไทย แผนทางเลือกและแผนพื้นบ้าน รวมกับหลัก 8 อ. เพื่อสุขภาพที่ดีของสถาบันบุญนิยม มาจัดการองค์ความรู้ ประยุกต์ ผสมผสานบูรณาการด้วยหลักธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เน้นการแก้ไขหรือลดปัญหาสุขภาพที่ต้นเหตุ โดยใช้สิ่งที่ประหยัดที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด ด้วยวิธีที่เรียบง่าย ได้ผลรวดเร็ว สามารถพึ่งพาตนเองได้ ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก ประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยสามารถสร้างความเป็นพุทธะในตนไปพร้อม ๆ กับการเกื้อกูลมวลมนุษยชาติ ด้วยการสาน พลังกับหมู่มิตรดี ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี (ใจเพชร กล้าจน 2558: 19)
แนวคิดองค์รวมตามหลักแพทย์วิถีธรรม
ใจเพชร กล้าจน (2558: 252) อธิบายแนวคิดองค์รวมของสรรพสิ่งในมหาจักรวาล ว่า “ในมหาจักรวาลนี้ไม่มีอะไรที่ไม่สัมพันธ์กัน สิ่งที่จะทำให้เข้าใจการดูแลแก้ไขสุขภาพได้อย่างแจ่มแจ้งนั้น ต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์ของ “นาม” “ปราณ” “จิตวิญญาณ” และ “คลื่นแม่เหล็กแห่งชีวิตที่มองไม่เห็น” กับ “รูป” “เหตุการณ์” และ “สิ่งที่เป็นวัตถุแท่งก้อนที่มองเห็น” เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่เล็กละเอียดถึงขั้นมองไม่เห็นที่สัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็น และเรียนรู้จากสิ่งที่มองเห็นสัมพันธ์กับสิ่งที่มองไม่เห็น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อัตถิ สุกตทุกกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก” แปลว่า “ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้ว มีอยู่” (ม.อุ.14/257) ซึ่งพระพุทธเจ้ายืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างในมหาจักวาลทั้งนามและรูปล้วนสัมพันธ์กันหมดตามหลักปฎิจจสมุปบาท (อนุโลม) 11 (วิ.ม.4/1) ไม่มีอะไรที่ไม่สัมพันธ์กัน สิ่งต่าง ๆ ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้นสัมพันธ์กับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ละเหตุทุกข์ได้เป็นสุขในที่ทั้งปวง” (ขุ.ขุ.25/59), “ละทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นความสุข” (ขุ.ขุ.25/33) และองค์ประกอบที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการดับทุกข์ คือ “ความเป็นผู้มีมิตรดีสหายดีสังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นพรหมจรรย์ (ความพ้นทุกข์) ทั้งสิ้น” (สํ.ม.19/5)”
ภูมิหลังของ ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)
ดร.ใจเพชร กล้าจน หรือบุคคลที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมอเขียว” เกิดเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2515 ที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ในวัยเด็กได้เรียนรู้การพึ่งตนเองด้านการดูแลสุขภาพจากพ่อและซึมซับการเกื้อกูลและแบ่งปันผู้อื่นจากครอบครัว
ประวัติครอบครัว เป็นลูกคนที่ 2 คุณแม่ชื่อนางครั่ง มีทรัพย์ อายุ 63 ปี เป็นกสิกร ที่ขยันและแข็งแรงมากในการทำกสิกรรม และกิจกรรมการงาน เป็นคนที่มีน้ำใจเกื้อกูลข้าวของหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ต่อญาติพี่น้องและผู้เดือดร้อนมาตลอด คุณพ่อชื่อนายเลียง มีทรัพย์ อาชีพรับราชการครู เสียชีวิตแล้วเมื่ออายุ 67 ปี สมัยก่อนนั้นทั้งครูและหมอขาดแคลนอย่างยิ่ง ทำให้พ่อต้องศึกษาความรู้ในการดูแลสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อพึ่งตนเอง ดูแลครอบครัว และช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนในด้านสุขภาพ อีกทั้งได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรจากหมอพื้นบ้าน และได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพแผนปัจจุบันจากทหารเสนารักษ์ จึงใช้องค์ความรู้ทั้งด้านสมุนไพรและแผนปัจจุบันผสมผสานกันในการพึ่งตน ช่วยเหลือครอบครัวและชาวบ้านที่เดือดร้อนด้านสุขภาพมาตลอด พ่อเป็นคนขยัน ใจเย็น มีน้ำใจชอบช่วยเหลือคน มีความยุติธรรม ที่ชาวบ้านในอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ให้ความเคารพนับถืออย่างมาก จึงได้รับการขอร้องจากชาวบ้านให้ไกล่เกลี่ยตัดสินปัญหากรณีพิพาทของชาวบ้านเสมอ ดังนั้นจึงทำหน้าที่ทั้งครูทั้งหมอและศาลยุติธรรมตลอดชีวิต พ่อช่วยชีวิตคน ด้วยการใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่หาง่ายตลอดมา และผืนดินที่ทำนาทำสวนก็เคยเป็นพื้นที่ที่ใช้ดูแลช่วยเหลือผู้อพยพชาวลาว ประมาณ 100 คน ที่หนีสงครามกลางเมืองประเทศลาวมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว (ประมาณ พ.ศ. 2515-2525) พี่น้องชาวลาวได้พึ่งพิงอยู่นานหลายปี จนสถานการณ์ประเทศของเขาคลี่คลายจึงขยับขยายไปประเทศที่สามบ้าง กลับประเทศลาวบ้าง ฐานะครอบครัว ไม่ได้ร่ำรวย แต่ทุกคนขยันทำกิจกรรมการงาน ทุกวันนี้คุณแม่ก็เป็นจิตอาสาทำงานฟรีด้วยการช่วยปลูกพืชผัก ทำอาหาร และดูแลสภาพความเป็นอยู่ทั่วไป ของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
ในวัยเรียน ดร. ใจเพชร กล้าจน เป็นคนจริงจัง ตั้งใจเรียน จึงเป็นเด็กเรียนดี อยากเป็นทหารอากาศ สอบติดแต่ไปรายงานตัวไม่ทัน จึงกลับมาเลือกเรียนด้านสุขภาพที่สอบได้เช่นกัน ศึกษาที่วิทยาลัยพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตั้งใจสมัครเรียนหลักสูตร 2 ปีเพื่อจะได้ทำงานช่วยเหลือตัวเองได้เร็ว คิดเพียงว่า ขอเป็นเจ้าหน้าที่อนามัยเล็ก ๆ ดูแลเลี้ยงชีพตนเองได้และทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนชนบทอีสานเท่านั้น
การแพทย์วิถีธรรมพัฒนาไปพร้อมกับการดำเนินชีวิตของ ดร. ใจเพชร กล้าจน ในช่วงทำงาน ผู้วิจัยจึงแบ่งพัฒนาการของการแพทย์วิถีธรรมออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1
ระยะก่อนค้นพบการแพทย์วิถีธรรม พ.ศ. 2535-2537 ระยะ 3 ปีแรกของการทำงาน เป็นช่วง “ค้นพบปัญหา”
ระยะที่ 2
ระยะค้นพบการแพทย์วิถีธรรม พ.ศ. 2538-2547 เป็นช่วง 10 ปีที่ค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพ จนกระทั่ง ค้นพบการแพทย์วิถีธรรม
ระยะที่ 3
ระยะพัฒนาองค์ความรู้การแพทย์วิถีธรรมและพัฒนาจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม พ.ศ. 2548-2557 เป็นช่วง 10 ปี ที่นำองค์ความรู้แพทย์วิถีธรรมสู่การรับรองอย่างเป็นทางการในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุข ได้รับการยอมรับจากสังคม พร้อมกับสร้างทีมจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมร่วมกันเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนที่สนใจ
ระยะที่ 4
ระยะเผยแพร่การแพทย์วิถีธรรมสู่มวลมนุษยชาติ พ.ศ. 2558-2562 (ปัจจุบัน) เป็นช่วงหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ดร. ใจเพชร กล้าจน พร้อมจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมได้เผยแพร่องค์ความรู้แพทย์วิถีธรรมสู่มวลมนุษยชาติ มีการจัดการอบรมสำหรับประชาชนที่ศรัทธาและสมัครใจเข้าร่วมเรียนรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พัฒนาการของการแพทย์วิถีธรรม 4 ระยะ มีรายละเอียดดังนี้
1. ระยะก่อนค้นพบการแพทย์วิถีธรรม
ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2535-2537 ระยะ 3 ปีแรกของการทำงาน เป็นช่วง “ค้นพบปัญหา”
ปี พ.ศ. 2535 หลังเรียนจบ ได้รับราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่โรงพยาบาลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ทำงานฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ ทำงานร่วมกับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำไปทั้งที่ไม่มีงบประมาณ แต่เห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ ก็ตั้งใจมุมานะทำ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร แก้ไขปัญหายาเสพติด รณรงค์เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น จนกระทั่งในปีแรก พ.ศ.2536 ได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการดีเด่นของโรงพยาบาล ทำไปสักพักเห็นคนเจ็บป่วยจากโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคที่เรื้อรังรักษาไม่หาย หรือแม้แต่ไม่ใช่โรคเรื้อรัง เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ก็รักษาไม่หาย เริ่มสนใจเรื่องการแพทย์แผนไทย เริ่มจากเรื่องนวดและการใช้ยาสมุนไพร โดยเริ่มบุกเบิกโครงการแพทย์แผนไทยขึ้นในโรงพยาบาลหว้านใหญ่ เพราะเห็นว่าชาวบ้านน่าจะพึ่งตนเองได้ โดยเชิญหมอพื้นบ้านเป็นวิทยากร อบรมอาสาสมัครสาธารณสุข และก็ถือโอกาสเรียนด้วย เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ในวัยเด็กจากพ่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยยาสมุนไพร และได้ทำหลาย ๆ เรื่องในด้านแพทย์แผนไทย ทำให้ได้พื้นฐานความรู้ จึงเริ่มเห็นทางออกของสุขภาพ ต่อมาคุณหมอเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการกองการแพทย์แผนไทย ได้เข้ามาส่งเสริมให้ทำโครงการแพทย์แผนไทยต่อเนื่อง จนมีโรงอบสมุนไพรที่โรงพยาบาลหว้านใหญ่ จากนั้นฝ่ายส่งเสริมสุขภาพได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมเป็นครูฝึกแพทย์แผนไทย แล้วกลับไปทำงาน รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนงานมาฝึกนวดฝ่าเท้า เพื่อกลับไปบริการชุมชน ตรงนี้เป็นการเริ่มต้นของการได้ประสบการณ์ผสมผสานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมาช่วยแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน
ช่วง 3 ปีแรกของการทำงาน แม้ได้ทุ่มเทแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนอย่างเต็มที่สุดความสามารถ แต่ก็แก้ปัญหาสุขภาพไม่ได้ผลเท่าที่ควร ปัญหาบางเรื่องแก้ไขได้เพียงเล็กน้อย อีกหลายเรื่องยังแก้ไม่ได้ ซ้ำร้ายปัญหากลับรุนแรงและขยายกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดคำถามในใจว่า “ทำไมประชาชนผู้ป่วยมากขึ้น ๆ เจ้าหน้าที่ก็ป่วยมากขึ้น และตัวเองก็ยังป่วย” ด้วยความเป็นคนจริงจัง จึงเกิดความเครียดมากกับปัญหาที่ค้นพบ
2. ระยะค้นพบการแพทย์วิถีธรรม
ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2538-2547 เป็นช่วง 10 ปีที่ค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาสุขภาพ จนกระทั่ง ค้นพบการแพทย์วิถีธรรม”
เริ่มจาก ปี พ.ศ. 2538 หลังจากค้นพบปัญหาสุขภาพ และวิธีแก้ไขที่ใช้อยู่ยังแก้ไขไม่ได้เท่าที่ควร จึงเกิดความเครียด แสวงหาวิธีคลายความเครียดโดยการปฏิบัติธรรม เมื่อศึกษาพระไตรปิฎก ได้พบว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนล้วนเป็นเรื่องสุขภาพ เพราะพระพุทธเจ้าสอนไปสู่การบรรลุธรรมคือความพ้นทุกข์หรือสภาพของใจไร้กังวล นอกจากนั้นยังมีพระสูตรที่กล่าวถึงการดูแลสุขภาพและรักษาโรคตรง ๆ หลายพระสูตร ซึ่งเมื่อนำมาปฏิบัติตาม พบว่าได้ผลดี ความทุกข์ใจปัญหาทางกายคลี่คลายไป นอกจากการศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว ยังได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในวิถีชีวิต พบว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางพอเพียงเรียบง่ายเช่นเดียวกัน รวมทั้งการไปร่วมศึกษาธรรมะกับพ่อครูสมณะโพธิรักษ์แห่งสถาบันบุญนิยม หรือชุมชนผู้ปฏิบัติธรรมชาวอโศกซึ่งสนใจการแพทย์ทั้งในและนอกระบบ จึงเป็นโอกาสให้ได้ศึกษาเพิ่มพูนความรู้การดูแลสุขภาพหลากหลายมากขึ้น ได้แก่ การดูแลสุขภาพด้วยหลัก 8 อ. จากสถาบันบุญนิยม การศึกษาเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านจากหมอยาชาวบ้าน หมอแผนไทย ตลอดจนได้ศึกษาแพทย์พื้นบ้านและแพทย์ทางเลือกจากจีนไต้หวัน มาเลเซีย นอกจากนั้นยังได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการดูแลสุขภาพในระบบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในรายวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนไทย แนวคิดและทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เวชกรรมแผนไทย เภสัชพฤกษศาสตร์ธรรมานามัย และสังคมวิทยาการแพทย์ ประกอบกับ ดร.ใจเพชร กล้าจน เป็นนักวิชาการสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในชุมชน จึงมีองค์ความรู้การแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งองค์ความรู้หลากหลายที่มีเป็นข้อมูลสำคัญในการนำมาผสมผสานประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับการดูแลสุขภาพในบริบทกายภาพของคนไทย
สรุปได้ว่า การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรมได้สังเคราะห์ขึ้นจากการศึกษาและบูรณาการวิธีการดูแลสุขภาพจากความรู้หลัก 7 เรื่อง คือ
1. หลักพุทธศาสตร์ (เลือกพระสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาวะทางกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณมาประยุกต์ปฏิบัติในวิถีชีวิต)
2. หลักการแพทย์แผนปัจจุบัน (เลือกจุดเด่นอยู่ที่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุฉุกเฉิน การระงับอันตรายที่รุนแรงชั่วคราว การกดอาการของโรคเพื่อลดหรือระงับอาการทรมานชั่วคราว การสร้างสุขภาพด้วยหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ)
3. หลักการแพทย์แผนไทย (เลือกจุดเด่นอยู่ที่การปรับสมดุล ดิน น้ำ ลม ไฟ เส้นลมปราณ และโครงสร้างร่างกาย)
4. หลักการแพทย์ทางเลือก (มีจุดเด่นอยู่ที่การปรับสมดุลร้อน เย็น เส้นลมปราณและโครงสร้างร่างกาย)
5. หลักการแพทย์แผนพื้นบ้าน (มีจุดเด่นอยู่ที่การปรับสมดุลร่างกายด้วยทรัพยากรในท้องถิ่น การปรับสมดุลเส้นลมปราณและโครงสร้างร่างกายแนวพื้นบ้าน)
6. หลัก 8 อ.เพื่อสุขภาพที่ดีของสถาบันบุญนิยม ได้แก่ อิทธิบาท 4 อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย เอาพิษออก เอนกาย อุจจาระ และอาชีพที่สัมมา
7. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดและการปฏิบัติดูแลสุขภาพด้วยความพอเพียง เรียบง่าย พึ่งตนเองได้ ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก
ในระหว่างศึกษาหาความรู้การดูแลสุขภาพ ได้นำมาทดลองใช้กับตนเอง ผู้ป่วยในความรับผิดชอบที่สมัครใจ ญาติธรรมชาวอโศก และได้ใช้สอนประชาชนกลุ่มกสิกรที่มาเรียนรู้เรื่องกสิกรรมไร้สารพิษกับชุมชนชาวอโศก จำนวนกว่า 12,000 คน โดยมีการรวบรวมข้อมูลประสบการณ์ที่ได้ทดลองใช้จำนวนมาก จนสามารถเลือกวิธีการที่ใช้ได้ผลดีมาปฏิบัติและเผยแพร่สู่ประชาชนที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีจิตอาสามาร่วมเสียสละช่วยกันประมาณ 10 คน ในระยะเริ่มต้นสื่อเผยแพร่ยังไม่รวดเร็วไร้พรมแดนดังยุคปัจจุบัน เช่น การเผยแพร่เอกสารความรู้สู่ประชาชนในระยะแรกใช้การเขียนกระดาษหรือถ่ายเอกสารให้รายบุคคล เมื่อข้อมูลเพิ่มมากขึ้นจึงพิมพ์เป็นหนังสือ เช่น หนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อย่านาง และหนังสือถอดรหัสสุขภาพเล่มที่ 1 และมีสื่อประกอบภาพเสียงเป็นแผ่นวีซีดี/แผ่นดีวีดีใช้กับเครื่องวีดีโอ สาธิตวิธีออกกำลังกายที่ประยุกต์ใช้การแพทย์ทางเลือกเช่นโยคะ กดจุดลมปราณ การจัดกระดูกปรับสมดุลโครงสร้างร่างกาย และการกายบริหารตามแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน แม้จะมั่นใจว่าได้พบแนวทางปฏิบัติที่เป็นทางรอดของการดูแลสุขภาพ แต่เนื่องจากการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรมมีสูตรอาหารปรับสมดุลที่เน้นพืชผักไม่มีเนื้อสัตว์และปรุงน้อย จึงไม่คิดว่าผู้คนในสังคมจะปฏิบัติตามได้มากนัก เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงรับประทานอาหารไม่ได้ การเผยแพร่แนวปฏิบัติการแพทย์วิถีธรรมที่ค้นพบจึงยังอยู่ในวงจำกัดของกลุ่มญาติธรรมชาวอโศกและผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับชาวอโศกเป็นหลัก
ผู้วิจัยสรุปได้ว่า ระยะค้นพบการแพทย์วิถีธรรม เป็นระยะที่มีกระบวนการการศึกษาค้นหาความรู้การดูแลสุขภาพ ทดลองพิสูจน์ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และเลือกวิธีที่ได้ผลดีและเหมาะสมมาปฏิบัติ
3. ระยะพัฒนาองค์ความรู้การแพทย์วิถีธรรมและพัฒนาจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม
ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2548-2557 เป็นช่วงนำองค์ความรู้แพทย์วิถีธรรมสู่การรับรองอย่างเป็นทางการ สร้างทีมจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมร่วมกันเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนที่สนใจ
ปี พ.ศ. 2548 ดร. ใจเพชร กล้าจน ได้ย้ายสถานที่ทำงานราชการจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร มาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ เพื่อมาช่วยเป็นวิทยากรจัดอบรมกสิกรในโครงการสัจธรรมกสิกรรมไร้สารพิษของศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษที่จังหวัดอำนาจเจริญ
ปี พ.ศ. 2549 เริ่มมีการจัดทำโครงการอบรมสุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับกลุ่มป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จุดเริ่มต้นของการเผยแพร่การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรมเกิดขึ้น เมื่อหัวหน้างานควบคุมโรคของโรงพยาบาลอำนาจเจริญได้บอกเล่าเรื่องราวที่ผู้ป่วยออกเดินทางจากหมู่บ้านพร้อมรถตลาดเช้าตั้งแต่ตีสามเพื่อมารอรับการตรวจรักษาโรคในคลินิกโรคเบาหวาน กว่าแพทย์พยาบาลจะตรวจรักษาเสร็จบางวันเวลาก็ล่วงเลยไปถึงภาคบ่าย เรื่องราวนี้ทำให้ ดร.ใจเพชร กล้าจน ตัดสินใจว่า จะทดลองนำองค์ความรู้การแพทย์วิถีธรรมเผยแพร่สู่ประชาชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนอีกทางหนึ่ง
ปี พ.ศ. 2550 ดร. ใจเพชร กล้าจน ได้ขอที่ดินของครอบครัวจากคุณแม่ครั่ง มีทรัพย์ มาจัด เป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร แล้วก็จัดค่ายสุขภาพเป็นประจำเดือนละครั้งตลอดทั้งปี เพื่อให้ทุกคน ทั้งคนที่ป่วยและคนที่ยังไม่ป่วย ได้มาฝึกอบรมเป็นหมอที่จะดูแลตัวเอง ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้อย่างหมดเปลือกตามเวลาที่มี โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการตั้งตู้บริจาคหรือป่าวประกาศว่าต้องบริจาคตามจิตศรัทธา เพราะต้องการให้คนที่มาสบายใจที่สุด ไม่ต้องรู้สึกกดดันด้วยเรื่องเงิน ด้วยความคิดว่าคนป่วยก็มีวิบากกรรมของเขามากพออยู่แล้ว การทำมาหากินด้วยการขูดรีดเอาเปรียบค้ากำไรเกินควรบนความทุกข์ของคนอื่นไม่ใช่เรื่องดีเลย แต่เป็นบาปชั่ว เป็นสิ่งที่น่าละอายและเลวร้ายอย่างยิ่ง ที่จะนำความทุกข์ทรมานเดือดร้อนเลวร้ายอย่างแสนสาหัสมาสู่ตนเองและมวลมนุษยชาติ แทนที่จะทำบาปชั่วอย่างนั้น น่าจะถือเป็นโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือกัน เป็นโอกาสทำมหาบุญเพื่อลดความทุกข์ความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการทำ“ธุระบุญ”ไม่ใช่ธุรกิจ ดังที่ในหลวงท่านได้ตรัสไว้ว่า “ขาดทุนของเราคือกำไรของเรา” ซึ่งการบรรยาย ฝึกฝน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในค่ายสุขภาพ ก็มีจุดประสงค์ให้ผู้มาร่วมอบรมทุกคน เมื่อกลับออกไปแล้ว สามารถดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้ด้วยหลักการแพทย์วิถีธรรม ที่ใช้ได้ผลจริง โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยสิ่งที่ประหยัด เรียบง่าย และแต่ละคนทำเอาเองได้ ในค่ายสุขภาพนั้น ไม่ได้สอนเรื่องการดูแลสุขภาพกายอย่างเดียว แต่ได้สอนการดูแลสุขภาพจิตโดยการใช้ธรรมะในชีวิตประจำวันด้วย รวมทั้งการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และการเกื้อกูลผู้อื่นต่อไป โดยใช้กลยุทธ์หลัก คือ“การทำตัวอย่างหรือความผาสุกที่ตน แล้วช่วยคนที่ศรัทธา” ขณะที่มีการเผยแพร่ความรู้การแพทย์วิถีธรรมก็มีกระบวนการสร้างและพัฒนาจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย ดร.ใจเพชร เคยกล่าวว่า “ถ้ากระผมทำงานคนเดียว ก็คงช่วยเหลือผู้คนได้ไม่มากนัก แต่โชคดีที่มีกัลยาณมิตรมาร่วมอุดมการณ์ผสานวิญญาณแห่งน้ำใจของความเมตตา กล้าหาญ และเสียสละ ผนึกเป็นกำลังสามัคคี เพื่อ“การพึ่งตนและช่วยคนให้พ้นทุกข์” บุคคลดังกล่าว คือ พี่น้องจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ระบบของสวนป่านาบุญและค่ายสุขภาพนั้นสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ซึ่งเป็นบุคคลที่เคยผ่านค่ายและเห็นคุณค่าของช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เสียสละทำงานฟรี” ณ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) มีจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม กระจายตัวอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนมากกว่า 500 คน มีศูนย์รวมทุกภาค ซึ่งแต่ละภาคจัดกิจกรรมอบรมสุขภาพต่อเนื่องเคียงคู่ไปกับศูนย์หลักที่สวนป่านาบุญ 1 อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร มีพี่น้องประชาชนผ่านการอบรมมากกว่า 300,000 คน ยังไม่นับการที่จิตอาสาได้แบ่งปันความรู้หรือเกื้อกูลกันรายบุคคล
นโยบายหลักของเครือข่ายแพทย์วิถีธรรม มุ่งเน้นให้จิตอาสามาบำเพ็ญบุญกุศล เสียสละ ลด ละกิเลส จึงสร้างกิจกรรมให้จิตอาสาแพทย์วิถีธรรม มารวมกันฝึกฝนการใช้ชีวิตแบบคนจน เป็นคนที่มุ่งมาจน ตั้งใจจน เต็มใจจน กล้าจน ไม่ใช่จนอย่างสิ้นไร้ไม้ตอกหรือจนแบบขี้เกียจงอมืองอเท้า แต่เป็นการจนแบบมีแจก จนอย่างมีสมรรถนะและขยันทำกิจกรรมการงานที่เป็นประโยชน์ด้วยความสุขใจเต็มใจ แต่ไม่กอบโกยกักเก็บเกินความจำเป็น ตั้งใจสละออกไปช่วยผองชน เป็นคนจนที่จะรวยก็ได้แต่ไม่ยอมรวย จึงเป็นคนจนที่มีคุณค่า เป็นคนจนมหัศจรรย์ เป็นประโยชน์สุขสูงสุดที่แท้จริงต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งก็คือคนพอเพียง ชีวิตที่มั่นคง มีคุณค่า และผาสุกที่สุดในโลก นั่นเอง แต่ละวันแต่ละคนต่างก็ฝึกฝนพากเพียรทำกิจกรรมการงานที่เป็นประโยชน์ ให้หนักให้เหนื่อยแต่ในขีดที่ไม่ให้ป่วย แล้วพักให้พอดี (รู้เพียรรู้พัก) ในส่วนตัวกินน้อยใช้น้อยที่สุด เท่าที่จะแข็งแรงที่สุด ไม่ขาดแคลนไม่ลำบากไม่ทรมานตนเกินไป ผลผลิตที่ได้ก็เอาเข้ากองบุญ (สาธารณโภคี) กินใช้ร่วมกันอย่างประณีตประหยัด มีคณะกรรมการพิจารณาการใช้กองบุญดำเนินกิจกรรมการงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของชุมชนและสังคม ด้วยศิลปะ ได้แก่ สุนทรียะ (ความดึงดูด ความน่าสนใจ) และสาระ (คุณค่าประโยชน์) ที่ไม่เสริมความอ่อนแอ และความโลภโกรธหลงอันเป็นความเลวร้ายที่แท้จริงให้แก่ใคร แต่ให้เกิดความเข้มแข็งในการพึ่งตนและมีน้ำใจแบ่งปันคนอื่นต่อไป
ปี 2552-2557 องค์ความรู้การแพทย์วิถีธรรมได้รับการรับรองจากหน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุขหลังจากการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างจิตอาสาเผยแพร่การแพทย์วิถีธรรมช่วยเหลือประชาชนในสังคมมากว่า 14 ปี ดังนี้
ปี พ.ศ. 2552 ศึกษาในระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ ของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร”ผลการวิจัยได้องค์ความรู้หลักของการแพทย์วิถีธรรม ที่ผ่านการค้นคว้าทดลองมาเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี
ปี พ.ศ. 2555 ได้รับมอบดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสาธารณสุขชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ในฐานะที่เป็นบุคคลค้นพบการแพทย์วิถีธรรม ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 จากผลงานเชิงประจักษ์ต่อสังคมด้านการพัฒนาการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรมและนำความรู้เผยแพร่ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ
ในปีเดียวกันนี้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติเป็นหลักสูตร “การแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม เพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง”เมื่อวันที่ 7 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 และสำนักการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม เพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อวันที่ 9 เดือนมีนาคม พ.ศ.2555
ปี พ.ศ. 2556-2557 ศึกษาในระดับปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค (สาธารณสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง“จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ
ผลงานที่ปรากฏสู่สังคมทำให้ได้รับการยอมรับและมอบรางวัลการเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เช่น
1. รางวัลต้นแบบคนดีแทนคุณแผ่นดิน พ.ศ. 2553 เครือข่ายเดอะเนชั่น
2. รางวัลคนค้นฅนอวอร์ด ครั้งที่ 2 สาขา คนต้นเรื่องแห่งปี พ.ศ. 2553
3. รางวัลชนะเลิศ ผลงานวิชาการ Routine to Research ประเภทโปสเตอร์ เรื่อง “ผ่าทางตันปัญหาสุขภาพด้วยการ แพทย์วิถีธรรม ของหน่วยงานแพทย์วิถีธรรมโรงพยาบาลอำนาจเจริญ” จากสำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 5,6,7 วันที่ 29 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
4. รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในผลงานวิชาการเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนเรื่อง “นวัตกรรมผ่าทางตันปัญหาสุขภาพ โรงพยาบาลอำนาจเจริญ” สำนักงานบริการสารธารณสุขและสมาคมเวชกรรมสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2554
5. รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ครั้งที่ 5 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พ.ศ. 2555 สาขาแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555
ผู้วิจัยสรุปได้ว่า ระยะพัฒนาองค์ความรู้การแพทย์วิถีธรรมและพัฒนาจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม เป็นระยะที่มีกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและรับรองหลักสูตรการแพทย์วิถีธรรมอย่างเป็นทางการจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุข พร้อมทั้งได้มีกระบวนการพัฒนาจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมเสียสละทำงานฟรีช่วยเหลือประชาชนไปพร้อม ๆ กัน และจากผลงานที่ปรากฏสู่สังคมทำให้ได้รับการยอมรับและมอบรางวัลการเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ
4. ระยะเผยแพร่การแพทย์วิถีธรรมสู่มวลมนุษยชาติ
ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2558-2562 (ปัจจุบัน) เป็นช่วงหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ดร.ใจเพชร กล้าจน พร้อมจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมได้เผยแพร่องค์ความรู้แพทย์วิถีธรรมสู่มวลมนุษยชาติ มีการสื่อสารความรู้ทางสื่อออนไลน์ตามยุคโลกไร้พรมแดน มีการจัดการอบรมสำหรับประชาชนที่ศรัทธาและสมัครใจเข้าร่วมเรียนรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ประชาชนที่ใช้การดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรมส่วนใหญ่มีสุขภาพที่ดีขึ้น จึงได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในวงกว้างมากขึ้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ จนเกิดสโลแกน “ศูนย์บาทรักษาทุกโรค” และ “หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวคุณเอง”
จิตอาสาแพทย์วิถีธรรมที่ผ่านกระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีประสบการณ์การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรมจนหายจากความเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน ด้วยความเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วยอื่น ๆ จึงมีมาร่วมเสียสละทำงานฟรีช่วยเหลือประชาชน เมื่อแต่ละภาครวมมวลจิตอาสาได้มากขึ้น จึงได้มีการขยายเครือข่ายไปยังภาคต่างๆ ในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งชื่อสถานที่ว่า ศูนย์วิชาการการแพทย์วิถีธรรม หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสวนป่านาบุญ และกำกับด้วยหมายเลข ปัจจุบันมีสวนป่านาบุญ 1 – 9 แห่ง แยกเป็นรายภาค ดังนี้
1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยศูนย์ฯ 2 แห่งคือ สวนป่านาบุญ 1 อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และ สวนป่านาบุญ 4 อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
2. ภาคใต้ ประกอบด้วยศูนย์ฯ 1 แห่งคือ สวนป่านาบุญ 2 อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. ภาคกลาง ประกอบด้วยศูนย์ฯ 4 แห่งคือ สวนป่านาบุญ 3 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, สวนป่านาบุญ 5 อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง, สวนป่านาบุญ 7 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ สวนป่านาบุญ 9 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
4. ภาคเหนือ ประกอบด้วยศูนย์ฯ 1 แห่งคือ สวนป่านาบุญ 8 อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
5. ภาคต่างประเทศ ประกอบด้วยศูนย์ฯ 1 แห่งคือ สวนป่านาบุญ 6 เมืองฮูสตัน มลรัฐเท็กซัสจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมร่วมกันดำเนินกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรม ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่
5.1 หลักสูตร 3-7 วัน ชื่อ ค่ายสุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จัดเดือนละ 1-2 ครั้ง มีผู้เข้าอบรมเฉลี่ยครั้งละ 200-300 คน จัดที่สวนป่านาบุญ 1-9 และเครือข่ายแพทย์วิถีธรรมทั่วประเทศ
5.2 ค่ายแฟนพันธุ์แท้ เพื่อตามหาและสร้างจิตอาสาศูนย์บาท เสียสละทำงานฟรี ไม่รับเงินทอง แต่ทำประโยชน์เพื่อผองชนทำเพื่อผู้อื่น จัดปีละ 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมการอบรมเฉลี่ยครั้งละประมาณ 300 คน
5.3 ค่ายพระไตรปิฎก เพื่อเผยแพร่สัจธรรมในพระพุทธศาสนา เน้นฝึกฝนปฏิบัติเข้มข้นลด ละ ล้างกิเลส และฆ่ากิเลส ฝึกรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว (อาหารไม่มีเนื้อสัตว์รสจืด) ฝึกฝนสมรรถนะและความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจด้วยกิจกรรมพิเศษ
ผู้วิจัยสรุปได้ว่า ระยะเผยแพร่การแพทย์วิถีธรรมสู่มวลมนุษยชาติ เป็นช่วงที่ ดร.ใจเพชร กล้าจน พร้อมจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ได้เผยแพร่องค์ความรู้แพทย์วิถีธรรมสู่ประชาชนที่ศรัทธาและสมัครใจเข้าร่วมเรียนรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีศูนย์ฯ หลักใน 4 ภาคของประเทศไทยและในต่างประเทศคือประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังมีการสื่อสารความรู้ทางสื่อออนไลน์ตามยุคโลกไร้พรมแดน ที่ทำให้ประชาชนทั่วโลกได้เข้าถึงการเรียนรู้การแพทย์วิถีธรรมได้มากยิ่งขึ้น
เครือข่ายแพทย์วิถีธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เครือข่ายแพทย์วิถีธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นเครือข่ายแพทย์วิถีธรรมที่มีจำนวนจิตอาสามากที่สุดถึงร้อยละ 40.00 (จำนวน 200 คน จากทั้งหมด 500 คน) ซึ่งในการจัดค่ายอบรมแต่ละครั้ง จะมีจิตอาสามาช่วยดำเนินกิจกรรมโดยเฉลี่ย 30-40 คน ในแต่ละค่ายเฉลี่ยสัดส่วนจิตอาสาต่อผู้เข้าอบรม 1: 5-10 จิตอาสาจะมีการรวมตัวกันในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดใกล้เคียง เป็นเครือข่ายย่อย รวมกันทำกิจกรรมอบรมสุขภาพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นของตน จัดเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 3 เครือข่ายย่อยคือ เครือข่ายอีสานตอนบน เครือข่ายอีสานตอนกลาง และเครือข่ายอีสานตอนล่าง พิจารณารายจังหวัด ได้ดังนี้
1. เครือข่ายอีสานตอนบน ประกอบด้วย จิตอาสาจากจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม และสกลนคร
2. เครือข่ายอีสานตอนกลาง ประกอบด้วย จิตอาสาจากจังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด
3. เครือข่ายอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จิตอาสาจากจังหวัด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ
4. ศูนย์หลักเครือข่ายแพทย์วิถีธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร จะเป็นศูนย์รวมของจิตอาสาทุกเครือข่ายย่อยมาร่วมกิจกรรม แต่ก็มีจิตอาสาประจำที่อาศัยอยู่ในชุมชนของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ ประมาณ 30-40 คน ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเป็นหลัก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกิจกรรมสำคัญ เช่น กลุ่มผู้เข้ารับการอบรมมีจำนวนมาก จิตอาสาจังหวัดต่าง ๆ ก็จะรวมกันมาช่วยให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องไปได้ ทั้งนี้ จิตอาสาทุกคนเสียสละทำงานฟรี มีหลากหลายระดับการศึกษา ตั้งแต่ ป.6 ถึงปริญญาเอก มีหลากหลายอาชีพ มีหลากหลายความสามารถ ได้นำความสามารถที่มีมาแบ่งปันสู่ผู้อื่น ส่วนใหญ่เคยเป็นประสบความทุกข์จากความเจ็บป่วย และมาดูแลสุขภาพดีขึ้นได้จากการแพทย์วิถีธรรม จึงปรารถนาที่จะบำเพ็ญกุศลช่วยเหลือผู้อื่นให้ดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนได้ร่วมไปกับหมู่กลุ่มจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ทำให้ขนาดของกลุ่มเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักคิดว่า “หมอที่ดีที่สุดในโลก คือตัวคุณเอง” “ฝึกฝนการพึ่งตนและช่วยคนให้พ้นทุกข์” “ทำตัวอย่างที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา”หรือ “ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา”
การขยายเครือข่ายสู่โรงพยาบาลของรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การเผยแพร่การแพทย์วิถีธรรมสู่โรงพยาบาลของรัฐ เริ่มต้นเกิดขึ้นจากการที่บุคลากรสาธารณสุขมาเรียนรู้ในค่ายสุขภาพฯ และนำไปปฏิบัติดูแลสุขภาพตนเองหรือบุคคลในครอบครัว จากนั้นก็ขยายถึงประชาชนในความรับผิดชอบ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขตสุขภาพที่ 7 ได้มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้การดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรมของบุคลากรสาธารณสุข จนกระทั่งมีหน่วยบริการสาธารณสุขระดับตำบลนำไปบูรณาการใช้ในหน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 10 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 25 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 13 แห่งและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 12 แห่ง รวม 60 แห่ง
สรุปการเผยแพร่องค์ความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ (แพทย์วิถีธรรม) ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่
1. การจัดค่ายอบรมให้ความรู้ และข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพพึ่งตนตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ
1.1 ค่ายสุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (หลักสูตร 3-7 วัน) จัดเดือนละ 1-2 ครั้ง มีผู้เข้าอบรมเฉลี่ยครั้งละ 200-300 คน จัดที่สวนป่านาบุญ 1-5 และเครือข่ายแพทย์วิถีพุทธทั่วประเทศ
1.2 ค่ายสุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง (หลักสูตร 1 วัน) มีผู้เข้าอบรมเฉลี่ยครั้งละ 200 คน จัดที่สวนป่านาบุญ 3, 4, 5 และเครือข่ายแพทย์วิถีพุทธทั่วประเทศ
1.3 ค่ายแฟนพันธุ์แท้ เพื่อตามหาและสร้างจิตอาสาศูนย์บาท เสียสละทำงานฟรีไม่รับเงินทอง แต่ทำประโยชน์เพื่อผองชนทำเพื่อผู้อื่น จัดปีละ 1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมการอบรมเฉลี่ยครั้งละประมาณ 300 คน
1.4 ค่ายพระไตรปิฏก เพื่อเผยแพร่สัจธรรมในพระพุทธศาสนา เน้นฝึกฝนปฏิบัติเข้มข้นลด ละ ล้างกิเลส และฆ่ากิเลส ฝึกรับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว (อาหารไม่มีเนื้อสัตว์รสจืด) ฝึกฝนสมรรถนะและความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจด้วยกิจกรรมพิเศษ เดินจาริกจาก สวนป่านาบุญ 4 (บ้านแดนสวรรค์) อำเภอธาตุพนม เพื่อไปสักการะพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนมเป็นระยะทางทั้งสิ้น 23 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วมการอบรมเฉลี่ย 300 ท่าน จัดปีละ 2 ครั้ง ที่สวนป่านาบุญ 1 หรือ สวนป่านาบุญ 4 ผู้วิจัยได้ช่วยเหลือประชาชนที่มีความทุกข์จากปัญหาสุขภาพกายและใจ ด้วยหลัก การแพทย์วิถีพุทธ (แพทย์วิถีธรรม) สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง รวมแล้วจนถึงปัจจุบัน (ปี 2558) สามารถช่วยคนได้กว่า 160,000 คน
2. การให้บริการความรู้และข้อมูลแพทย์วิถีพุทธในรูปแบบของสิ่งพิมพ์
ได้แก่ หนังสือ วารสาร แผ่นพับ แผ่นการ์ดต่าง ๆ ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ผู้วิจัยได้เขียนและเผยแพร่ผลงานสื่อสิ่งพิมพ์หนังสือด้านสุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ รวมแล้วมียอดพิมพ์ 1,800,000 เล่ม นอกจากนี้ ยังได้จัดทำสื่อภาพและเสียงประเภท ดีวีดี วีซีดี และเอ็มพีสาม เช่น ค่ายสุขภาพ ค่ายแฟนพันธุ์แท้ ค่ายพระไตรปิฎก โยคะกดจุดลมปราณและกายบริหาร ยา 9 เม็ด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สวดมนต์ ฝึกลมหายใจ กัวซา มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว คนพอเพียง ความผาสุกที่แท้จริง ฯลฯ จนถึงปัจจุบัน (ปี 2558) รวมประมาณ 12,000 แผ่น
3. การให้บริการความรู้และข้อมูลหลักการแพทย์วิถีพุทธ และให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพรายบุคคลโดยตรง (ตัวต่อตัว)
4. การให้บริการความรู้และข้อมูลแพทย์วิถีพุทธผ่านสถานีโทรทัศน์
4.1 สถานีโทรทัศน์บุญนิยมทีวี www.boonniyom.tv ในรายการ “สุขภาพดีกับแพทย์วิถีธรรม (หมอเขียว)” ออกอากาศเวลา 06.00-07.00 น. ทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์
4.2 สถานีโทรทัศน์หมอเขียวทีวีออนไลน์
5. การให้บริการความรู้และข้อมูลแพทย์วิถีพุทธผ่านสถานีวิทยุ
รับฟังรายการแพทย์วิถีธรรมทางอากาศ ทุกวันเสาร์ อาทิตย์เวลา ทุ่มถึง 2 ทุ่มทางคลื่น 102.75 หล่ายแก้วเรดิโอ รับเชิญไปออกรายการวิทยุท้องถิ่น เช่น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดอำนาจเจริญ สถานีอำเภอป่าซางบ้านโฮ่ง เวียงหนองล่องจอมทอง จังหวัดลำพูน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดนครพนม ฯลฯ
6. การให้บริการความรู้และข้อมูลแพทย์วิถีธรรมผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่เว็บไซต์หมอเขียวดอทเน็ต www.mokeaw.net
ซึ่งตั้งแต่ ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2558) มีผู้เข้าไปศึกษาสื่อทางระบบอินเตอร์เน็ตขององค์กรแพทย์วิถีธรรมรวมกว่า 11 ล้านครั้ง
7. การให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพและ ข้อมูลทาง LINE
8. ได้รับเชิญออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ
• สารคดีธรรมชาติบำบัดพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
• สารคดี สุขภาพดี วิถีไทย ของกระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11
• รายการสุขภาพดีด้วย 8 อ. “สุขภาพแนวพึ่งตนแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเพื่อมวลมนุษยชาติ “บุญนิยมทีวี” (เดิมชื่อ FMTV)
• รายการคน ค้นคน “หมอเขียวศูนย์บาทรักษาทุกโรค” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์
• รายการมองโลก มองธรรม เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบุญนิยมทีวี
• รายการ เรื่องจริงผ่านจอ เผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
• รายการครูสร้างคน คนสร้างโลก ของ คุรุสภา ตอน “หมอเขียว” เยียวยาครอบครัวครู ซึ่งครอบครัวครูดูแล โดย สกสค. เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์
• สารคดี ทางนำชีวิต ตอน “ธรรมะดับโรค” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
9. การจัดการความรู้ ทำวิจัย และพัฒนาด้านวิชาการ
• จัดตั้งกลุ่มวิชาการเพื่อศึกษาวิจัยการใช้การแพทย์วิถีธรรม ในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน ซึ่งได้มีผู้สนใจเข้าร่วมทั้งหน่วยงานโรงพยาบาลของรัฐ สำนักสาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล อสม. ร่วมกับภาคประชาชนที่เป็นจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธร่วมกับสำนักการแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการทำหลักสูตรการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม เพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
• ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ เปิดหลักสูตร ผู้ประกอบการสังคม ความถนัดแพทย์วิถีธรรม ร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน จัดหลักสูตรการแพทย์วิถีธรรมให้นักเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)
• ร่วมทำวิจัยกับโครงการกำลังใจในพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการฟื้นฟูผู้ต้องขังหญิง ได้แก่ เรือนจำกลางนครพนม เรือนจำจังหวัดภูเก็ต และทัณฑสถานเปิดโคกตาบัน จังหวัดสุรินทร์
ผู้ใช้หลักการแพทย์วิถีพุทธ ที่สามารถนำหลักการแพทย์วิถีพุทธไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ได้ผลสุขภาพดีขึ้นทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา (จิตวิญญาณ) นั้น ผู้ใช้การแพทย์วิถีพุทธล้วนแต่เป็นผู้มีความศรัทธาต่อการแพทย์วิถีพุทธ ใน 4 ด้าน คือ
1) ศรัทธาต่อตัวหมอเขียว
เมื่อหมอเขียวพากเพียรฝึกฝนปฏิบัติตามองค์ความรู้การแพทย์วิถีพุทธที่ได้บูรณาการมาตามที่นำเสนอในบทที่ 5 จนเกิดสภาพชีวิตพอเพียงเรียบง่าย ร่างกายแข็งแรง จิตใจดีงาม และจิตใจเป็นสุขแล้ว ซึ่งเป็นสภาพแห่งความเป็นพุทธบุตร เข้าใจและเข้าถึงองค์ความรู้ที่ถูกต้อง จึงดำเนินการพัฒนาเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติต่อไป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการพึ่งตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นในอัตตวรรคที่ 12
2) ศรัทธาต่อธรรมะ
หรือคุณธรรมที่ทรงไว้หรือที่มีอยู่ในตัวของหมอเขียว โดยเฉพาะความมีเมตตาธรรมและความเสียสละอย่างทุ่มโถม ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการเพียรช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ไม่หยุดหย่อน อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 20 ปี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
3) ศรัทธาต่อหลักเทคนิคการปรับสมดุล 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด)
ไปปฏิบัติในการดูแลป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และสร้างเสริมสุขภาพให้ทุเลาจากโรคหรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ เป็นการผ่าทางตันของระบบสุขภาพ ที่จะนำไปสู่สุขภาวะที่สมบูรณ์ได้อย่างยั่งยืน หรือสร้างเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรงได้จริง เห็นผลเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้จริง ผู้ใช้มีความสบาย เบากาย มีกำลัง มีความเป็นอยู่ที่ผาสุกขึ้นเจริญขึ้น
4) ศรัทธาต่อหมู่กลุ่มแพทย์วิถีพุทธ
ที่เป็นมิตรดีสหายดีสังคมสิ่งแวดล้อมดี เนื่องจากเป็นหมู่กลุ่มที่จะนำพาให้จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธแต่ละท่านที่มีความศรัทธาต่อหมู่กลุ่มอย่างบริสุทธิ์ใจจริง ไปสู่เป้าหมายของความผาสุก สงบสันติสุข เพื่อมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง
ผลสุขภาวะของผู้ใช้แพทย์วิถีพุทธโดยเลือกสุ่มอย่างง่ายและแบบเจาะจง จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,542 กรณีศึกษา สรุปสุขภาวะของผู้ใช้การแพทย์วิถีพุทธ ทั้ง 4 ด้าน จากการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
1. ด้านร่างกาย
สุขภาวะทางกาย มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น อาการเจ็บป่วยทุเลา ลดลง มีความรู้สึกสบาย มีกำลัง โปร่ง เบากายมากกว่าเดิม และเมื่อเจ็บป่ว สามารถพึ่งตนและดูแลตนเองได้ด้วยหลักการแพทย์วิถีพุทธเพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องไปพบแพทย์ ลดปริมาณการใช้ยาลงได้ หรือถึงระดับที่หยุดการใช้ยาลงได้เด็ดขาด ลดหรืองดการทานเนื้อสัตว์ได้ ทานอาหารรสจืดลงได้ และพยายามทานอาหารผักผลไม้มากขึ้น สุขภาวะทางกายในด้านเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในปัจจัยสี่ที่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ลดหรืองดการใช้ยา สามารถหลีกเลี่ยงการนำยาเคมีเข้าร่างกายได้ นอกจากนั้น การดำรงชีวิตแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และเครื่องนุ่งห่มได้ ส่งผลต่อสุขภาพกายที่มีพลังมากขึ้น ทำกิจกรรมการงานได้มากขึ้น สุขภาพใจที่เป็นสุขมากขึ้น ต่อยอดพัฒนาสู่การเป็นจิตอาสา
2. ด้านจิตใจ
สุขภาวะทางจิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ผู้ป่วยบอกเล่าได้ถึงความทุกข์ที่ลดลง ความสุขที่เพิ่มขึ้น ความโปร่งโล่งเบาสบายใจ มีความเข้าใจในวิธีการคิดพิจารณาจัดการความกลัวหรือความเครียดที่เหมาะสมได้ (ไม่กลัวโรค ไม่กลัวตาย ไม่เร่งผล ไม่กังวล) พิจารณาวางใจและยกจิตได้สูงขึ้น มีจิตที่อยากช่วยเหลือผู้อื่น มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในแนวทางแพทย์วิถีพุทธ มีความเชื่อและเข้าใจในกฎแห่งกรรมและผลของกรรมที่ชัดเจนมากขึ้น มั่นใจในการมีและการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและพอเพียง และการนำแนวทางการแพทย์วิถีพุทธไปปฏิบัติต่อได้อย่างต่อเนื่อง
3. ด้านสังคม (มิตรสหายและสังคมสิ่งแวดล้อม)
สุขภาวะทางสังคม เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่นใช้ชีวิตประหยัดพอเพียง ได้รับการสนับสนุนทางสังคม ผู้ป่วยบอกเล่าถึงความรู้สึกว่าสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สุขภาวะทางสังคม เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เชื่อมั่นในการเป็นหมอดูแลรักษาตนได้ มีทักษะการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพตนเองค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัวลดลงได้ ใช้ชีวิตที่ประหยัดพอเพียงและเรียบง่ายขึ้น มีจิตใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น ให้คำแนะนำบอกต่อผู้ที่สนใจหลักการแพทย์วิถีพุทธอย่างเข้าใจสภาพจิตของผู้ที่อยากหรือต้องการได้รับการแนะนำช่วยเหลือ สามารถจัดสรรเวลาช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้นอย่างเป็นสุข สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นมากขึ้น
4. ด้านปัญญา (จิตวิญญาณที่ดีงามและผาสุก เข้าถึงสัจธรรม)
สุขภาวะทางปัญญา (จิตวิญญาณ) เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ประเมินจากการบอกเล่าและพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสามารถในการมีความเข้าใจชีวิต มีความเชื่อมั่นในคุณงามความดี การให้อภัยการมีความหวังมีความรักต่อตนเองและผู้อื่น ได้ศึกษาและเข้าใจวิธีการลดละเลิกกิเลส ที่สามารถปฏิบัติได้จริงและเห็นผลจากการปฏิบัติว่ากิเลสลดละเลิกได้จริง มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสามารถในการพัฒนาด้านศักยภาพทางด้านจิตวิญญาณอย่างเต็มที่ มีความเข้าใจชีวิต และชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญขึ้น สามารถเห็นและลดความโลภ โกรธ หลงของตนได้อย่างชัดเจน มีความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นและเชื่อมั่นในเรื่องของกรรมและผลของกรรม (วิบาก) มีความเชื่อมั่นในการกระทำและผลของการกระทำเท่านั้นที่จะส่งผลอยู่ตลอดเวลา การสร้างแต่คุณงามความดี การให้อภัย มีความเมตตาต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้อย่างเป็นสุข ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทางด้านจิตวิญญาณอย่างเต็มที่ โดยมาพัฒนาตนเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธ เพื่อฝึกฝนความเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในตน พร้อมทำประโยชน์ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ
จากการศึกษาประวัติศาสตร์การแพทย์วิถีพุทธ จากจดหมายเหตุและสื่อต่าง ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2538-2558 ของผู้ป่วยที่ใช้การแพทย์วิถีพุทธ สถาบันบุญนิยม ในประเด็น “สุขภาวะของผู้ใช้การแพทย์วิถีพุทธ” ที่ได้บันทึกไว้จำนวน 1,542 กรณีศึกษา พบว่าผู้ใช้หลักการแพทย์วิถีพุทธ มีสุขภาวะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ด้วยองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปเป็นหลักปัจจัยองค์ประกอบการใช้หลักการแพทย์วิถีพุทธ หรือ องค์ประกอบการใช้เทคนิค 9 ข้อ ได้ดังนี้
- การปรับสมดุลร้อนเย็น ละบาป บำเพ็ญบุญกุศล การทำจิตใจให้ผ่องใส คบมิตรดีสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการปฏิบัติอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
- การรักษาโรคหรืออาการไม่สบาย เป็นการรักษาที่ต้นเหตุของโรคหรืออาการไม่สบาย (ละเหตุทุกข์ได้เป็นสุขในที่ทั้งปวง (ขุ.ธ.25/59) ละทุกข์ทั้งปวงได้เป็นความสุข (ขุ.ธ.25/33) หรือคือ การดับทุกข์ ให้ดับที่เหตุแห่งทุกข์ (ทุกข์หรือโรคก็จะดับ)
- ใช้สิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย ใกล้ตัว ปลอดภัย และใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น
- หมอที่ดีที่สุดในโลก คือ ตัวคุณเอง เมื่อนำไปปฏิบัติได้จริง สามารถหายได้จริง และไม่มีโทษหรือผลข้างเคียงและพิษภัย (Side effects)
- เห็นผลได้เร็ว ทำเอาเองได้ ในการรักษาโรคได้ทุกโรค (แม้จะไม่ใช่ทุกคน แต่คนส่วนใหญ่ก็มีสุขภาพดีขึ้น) คือ เห็นผลได้ทันที ในขณะที่ทำ หรือขณะที่รอส่งผล (หลังการกระทำแล้ว) โดยใช้เวลาที่น้อยทั้งในขณะที่ทำและขณะที่รอส่งผล
- ความศรัทธา ผู้ใช้มีศรัทธาต่อตนเองว่าตนสามารถปฏิบัติได้ ต่อผู้วิจัย (ผู้บูรณาการหลักการแพทย์วิถีพุทธ) และหมู่กลุ่มจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธ (มิตรสหายสังคมสิ่งแวดล้อมดี) และต่อหลักปฏิบัติ เทคนิค 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด) ความศรัทธานี้ที่จะช่วยทำให้หายโรคได้เร็ว
- มีเทคนิคการทำใจให้หายโรคเร็ว คือ อย่ากลัวโรค อย่ากลัวตาย อย่าเร่งผล และอย่ากังวล
- ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีแต่กรรมและวิบากเท่านั้น ที่ส่งผลตลอดเวลา จึงต้องเรียนรู้เรื่องกรรมและวิบากให้แจ่มแจ้ง
- การลดกิเลส (กามและอัตตา) ช่วยรักษาโรคได้ หรือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากพฤติกรรมที่เป็นโทษ มาสู่พฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ จะทำให้โรคหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ ลดลง ทุเลาได้
- โรคทุกโรคสามารถรักษาให้หายได้ด้วยเทคนิคการปรับสมดุลตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด) เนื่องจากเป็นการรักษาที่ต้นเหตุของโรคหรืออาการไม่สบาย (ดูจากตารางที่ 41 แสดงความเหมือนและแตกแต่างของสาเหตุของโรคและวิธีการรักษา)
- หมอเขียวได้ปฏิบัติให้เห็นว่าเป็น “ตัวอย่างของผู้ที่ปฏิบัติได้จริง” ในองค์ประกอบทุกข้อข้างต้น ที่ตรงกับสำนวนของหลักการแพทย์วิถีพุทธ คือ “พึ่งตน ทำตัวอย่าง และความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา”
ตารางที่ 41 แสดงความเหมือนและแตกต่างของสาเหตุของโรคและวิธีการรักษา
โรค/สาเหตุ | เหมือนกัน | แตกต่างกัน |
---|---|---|
เหมือนกัน | 1. ใช้วิธีการรักษาเหมือนกัน | 2. ใช้วิธีการรักษาแตกต่างกัน |
แตกต่างกัน | 3. ใช้วิธีการรักษาเหมือนกัน | 4. ใช้วิธีการรักษาแตกต่างกัน |
จากตารางข้างต้น สรุปได้ว่า
1. โรคเดียวกัน รักษาเหมือนกัน เนื่องจากสาเหตุเหมือนกัน
2. โรคเดียวกัน รักษาต่างกัน เนื่องจากสาเหตุต่างกัน
3. โรคต่างกัน รักษาเหมือนกัน เนื่องจากสาเหตุเหมือนกัน
4. โรคต่างกัน รักษาต่างกัน เนื่องจากสาเหตุต่างกัน