ดาวน์โหลดใบสมัครพรรคสัมมาธิปไตย กดที่นี่  ดูรายละเอียดการสมัคร กดที่นี่

ประวัติและครอบครัว

ชื่อ – สกุล : ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)
Name :
Dr. Jaiphet Klajon
วัน เดือน ปีเกิด :
11 มิถุนายน 2515
ตำแหน่ง :
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม สำนักการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, นักวิชาการอิสระ, ประธานมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย,วิชชาธิการบดี สถาบันวิชชาราม, ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันวิชชาราม, และประธานเครือข่ายจิตอาสาแพทย์วิถีธรรมทั่วประเทศ
สถานที่ทำงาน :
มูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิชาการการแพทย์วิถีธรรม สวนป่านาบุญ 1 อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ 1-9 ประเทศไทย

หมอเขียว ผู้บูรณาการองค์ความรู้หลักการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการแพทย์วิถีธรรมนี้ เป็นการนำเอาจุดดีของการดูแลสุขภาพของแต่ละแผน ได้แก่ วิทยาศาสตร์การดูแลสุขภาพทั้ง 4 แผน คือ แผนปัจจุบัน แผนไทย แผนทางเลือกและแผนพื้นบ้าน รวมกับหลัก 8 อ. เพื่อสุขภาพที่ดีของสถาบันบุญนิยม มาจัดการองค์ความรู้ประยุกต์ผสมผสานบูรณาการด้วยหลักธรรมของพุทธศาสนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม

ชีวิตในวัยเด็ก

แต่เดิมชื่อสำเริง มีทรัพย์ ดูจะสำเริงสำราญเกินไป จึงเปลี่ยนเป็น ใจเพชร กล้าจน ใจเพชรนั้น…เป็นการทำความดีอย่างแข็งแกร่ง และกล้าที่จะจน โดยให้การรักษาผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นั่นคือ การกล้าที่จะจน แต่ร่ำรวยในความดี

บิดาชื่อ นายเลียง มีทรัพย์ (ชื่อเดิม นายหล่าย มีทรัพย์) อาชีพรับราชการครู มารดาชื่อ นางครั่ง มีทรัพย์ อาชีพชาวนา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน คือ นางนภาพร มีทรัพย์ นายใจเพชร กล้าจน นางสาววิจิตรา มีทรัพย์ และนายกิตติศักดิ์ มีทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันสมาชิกทุกคนในครอบครัวเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ทำงานฟรี ไม่รับค่าตอบแทน

เกิดอยู่ที่บ้านอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เกิดมาในครอบครัวที่พ่อเป็นครูเป็นคนขยัน เป็นคนใจกว้าง มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือคน พ่อจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของคนในหมู่บ้านตำบลและอำเภอดอนตาล เวลาชาวบ้านมีปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกัน ชาวบ้านก็มักจะมาขอให้พ่อตัดสินคดีเสมอ ซึ่งพ่อจะไกล่เกลี่ยตัดสินด้วยความใจเย็นเมตตา ด้วยความยุติธรรม นอกจากเป็นครูแล้ว พ่อยังเป็นหมอสมุนไพรด้วย พ่อรักษาช่วยชีวิตผู้อื่นให้เห็นอยู่เสมอ เคยเห็นคนถูกงูกัดซึ่งโรงพยาบาลรักษาไม่หาย บางคนอาการปางตาย แต่พอมาหาพ่อแล้ว ท่านสามารถรักษาให้หายได้ด้วยสมุนไพร จึงซึมซับการใช้สมุนไพรมาจากพ่อ ส่วนแม่เป็นเกษตรกรเป็นชาวนาแม่เป็นคนขยันทำการงานมาก มุมานะ ทำอะไรทำจริงจัง ทำทน ใครไม่ทำก็ช่าง ฉันทำเอง เป็นคนขยันมาก

ครอบครัวเรามีฐานะปานกลางก็ไม่รวยก็ไม่จน แต่ว่ามีคนลาวที่เขาหนีศึกสงครามมาเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว มีการรบกันที่ประเทศลาว พวกลาวที่แพ้การรบหนีการถูกฆ่าก็หนีศึกสงครามมาที่สวนป่านาบุญ 1 มาอยู่กันที่นั่น ก็มาอยู่เป็นร้อย ๆ คน ที่นามันก็แล้ง ๆ มันยังไม่ได้เป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ ตอนนั้นยังไม่ได้ทำไร่นาสวนผสมตามทฤษฎีในหลวง นามันก็แล้ง เราก็ต้องทั้งทำนาทั้งซื้อข้าวกินเพราะมันไม่พอต้องเลี้ยงคนที่หนีตายที่ได้มาอยู่ที่นั่น

ซึมซับการให้และแบ่งปันจากพ่อและแม่

ผมก็ได้เห็นสภาพชีวิตของความทุกข์ทรมานของคนที่เขาเสี่ยงชีวิตเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายหนีมาหนีร้อนมาพึ่งเย็น (หนีมาทางแม่น้ำโขง) บางคนก็อยู่เป็นปี 2 ปี 3 ปี ส่วนใหญ่ก็จะไปประเทศที่ 3 คือสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่

ชีวิตตอนนั้นก็ยังรู้สึกเลยว่าทำไมพ่อแม่หาเงินหาทองมาได้ พ่อก็เป็นครู แม่ก็ทำมาหากินไป เอ๊ะ ทำไมไม่เลี้ยงลูกให้อิ่มหนำสำราญ ผมก็มีความรู้สึก เอ เรานี่โชคดีหรือโชคร้ายนี่ บางวันไม่มีอะไรกินก็ข้าวเหนียวโรยเกลือของแม่นี่แหละ มันก็ได้กินเท่านี้แหละ เพราะคนเป็นร้อยนะ คนที่เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น ข้าวยากหมากแพง แต่อย่างน้อย ๆ ผมก็ได้ซึมซับน้ำใจพ่อแม่ได้ซึมซับการแบ่งปันตั้งแต่ตอนนั้น ที่แน่ ๆ ก็คือพ่อแม่จะจัดเวรให้เลย ให้ลูกคนนี้รดต้นไม้ต้นนี้ คนนี้รดต้นไม้ต้นนี้ วันนี้คนนี้ถูบ้าน แบ่งจัดสรรให้ห้องนี้เป็นของคนนี้ ห้องนี้คนนี้ดูแล ห้องนี้คนนั้นดูแล ต้นไม้ต้นนี้ให้คนนี้ดูแล ก็ไม่ได้ไปไหนอยู่แต่ทำงานนี่แหละไม่ได้ไปเที่ยวอะไร นานน้าน…ไปที เวลาไปเที่ยว ๆ มันก็ไม่มีแรงจะไปหรอก ไปก็ไปหลับไปดูหนังก็ไปหลับ หลับแม่ก็ปลุก ๆ ก็กลับ ก็เป็นอย่างนี้ชีวิต

รู้สึกอิจฉาคนอื่นที่มีเวลาเล่นเที่ยวมีเงินมีทองพ่อแม่หาเงินให้ แต่เราต้องทำนาต้องทำทุกอย่างที่มันยากลำบากสำหรับเด็ก ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นประโยชน์ที่ขัดเกลา…ทำให้เราแกร่ง…

ก็รู้สึกว่าอิจฉาคนอื่นเขาที่เขามีเวลาเล่นเที่ยวมีเงินมีทองพ่อแม่ก็หาเงินให้ ตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันเป็นประโยชน์ที่ขัดเกลาเราว่าในสิ่งเหล่านั้นทำให้เราแกร่ง ต้องทำนาต้องทำทุกอย่างที่มันยากลำบากสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งเด็กทั่ว ๆ ไปไม่โดนอย่างนั้น มีแต่พวกเราที่โดนอย่างนั้น ในใจลึก ๆ ก็คิดว่าโตขึ้นนะถ้าเรามีงานทำนะ เราจะหาเงินให้ได้เยอะ ๆ แล้วเอามาซื้อมาใช้มาเสพในทุกอย่างที่อยากได้อยากกินอะไรจะซื้อมากินให้มันสมใจเลย กินให้เข็ดเลย อะไรที่อร่อย ๆ จะหามากินให้หมดเลย อะไรที่ลูกคนอื่นเขาได้กินได้ใช้ได้เที่ยวเล่นตามประสาเด็ก ๆ ไปเที่ยวเราก็ไม่ค่อยได้ไปไม่ให้ไปหรอกแม่ไม่ให้ไป

เป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรแล้วต้องทำให้มันสุด ๆ ต้องรู้ให้มันสุด ๆ

เป็นคนจริงจัง ทำอะไรมุ่งมั่นทุ่มเท เป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรแล้วต้องทำให้มันสุด ๆ ต้องรู้ให้มันสุด ๆ ถ้าเลิศก็ต้องเลิศสุด ๆ รู้ก็ต้องรู้ให้มันสุด ๆ มันเป็นอย่างนั้น มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร พอใจมันเป็นอย่างนั้นพอจะทำอะไรก็ทุ่มโถมทำ พากเพียรเรียนรู้จนได้ความกระจ่างชัดในเรื่องที่สนใจนั้น ๆ เล่นกีฬาเพื่อนก็ไม่เพียรเหมือนเรา เราก็เอาเป็นเอาตายแต่เพื่อนก็ไม่เอาเป็นเอาตาย พอเราทำท่าเอาเป็นเอาตายเพื่อนก็เลิกแต่เราก็ไม่ยอมเลิกเราก็ไปต่อของเรา เรียนก็สุด ๆ ทำอะไรก็สุด ๆ เพื่อที่จะรู้ว่าถึงที่สุดแล้วมันเป็นยังไง

เป็นคนที่เชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์ ครูว่าอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ตั้งแต่เด็กจะเกลียดความชั่วมาก เวลาดูโทรทัศน์ดูหนังเห็นตัวร้ายจะเกลียดมาก และตั้งใจไว้ว่าจะต้องไม่เป็นตัวร้าย จะไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายคนอื่น มีใจสงสารคนที่ถูกทำร้ายมาก เป็นเด็กที่ค่อนข้างเรียบร้อยจนเพื่อน ๆ เลือกให้เป็นประธานนักเรียนตอนอยู่ชั้นมัธยมต้น จากความมุ่งมั่นทุ่มเทตั้งใจทำอะไรแล้วต้องทำให้มันสุด ๆ จึงทำให้มีทักษะในหลายเรื่องที่ทุ่มเททำ ทั้งด้านด้านกีฬา กสิกรรมไร้สารพิษ ด้านร้องเพลง

โตขึ้นตั้งใจอยากเป็นทหารอากาศ แต่ชีวิตหักเหต้องมาทำงานด้านสุขภาพ

ตั้งแต่เด็ก ผมตั้งใจไว้ว่าจะไม่ทำงานด้านสุขภาพไม่ทำงานในโรงพยาบาลเพราะรู้สึกกลัวเชื้อโรคมาก อยากเป็นทหาร สอบได้ทหารอากาศแต่ไปรายงานตัวไปไม่ทันเลยไม่ได้เรียน และมาสอบติดทุนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร จึงได้ทำงานดูแลสุขภาพคน ซึ่งตั้งแต่ไปเรียนช่วงแรกก็ไม่ชอบใจนัก แต่ช่วงหลังก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นจึงตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และปฏิบัติราชการด้วยความตั้งใจ

ทำงานครั้งแรกด้วยการรับราชการที่โรงพยาบาลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

เมื่อจบการศึกษา ปี พ.ศ. 2535-2538 ได้รับราชการที่โรงพยาบาลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร อยู่ฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ รับผิดชอบงานสาธารณสุขมูลฐาน และดำเนินโครงการนวัตกรรมของโรงพยาบาล เช่น โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน โครงการแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร ยาเสพติด บุหรี่ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ในการช่วยเหลือประชาชนนั้นดำเนินการไปโดยไม่มีงบประมาณ หรือมีงบประมาณน้อย แต่เห็นว่ากิจกรรมการงานและโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการนั้นมีประโยชน์ต่อประชาชน จึงตั้งใจมุมานะดำเนินการ และได้บุกเบิกโครงการแพทย์แผนไทยขึ้นในโรงพยาบาลหว้านใหญ่หลายด้าน เริ่มจากเรื่องนวดและการใช้ยาสมุนไพร เพราะเห็นว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ จึงได้ดำเนินโครงการประสานแพทย์พื้นบ้าน ไปเป็นวิทยากรอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขของโรงพยาบาลหว้านใหญ่ โดยได้เรียนรู้ไปพร้อมกันทำให้ได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการดีเด่นของโรงพยาบาลในปี พ.ศ.2536

ซึมซับการการทำกสิกรรมจากแม่

ผมมีประสบการณ์การทำกสิกรรม มาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะผมเป็นลูกชาวนา พ่อเป็นครู แม่เป็นชาวไร่ชาวนาเป็นกสิกร เพราะฉะนั้นจึงมีประสบการณ์ปลูกพืชปลูกผักมาตั้งแต่เด็ก ๆ โตขึ้นมาไปเรียนหนังสือ เขาก็สอนใช้เคมี ก็มีประสบการณ์เรื่องใช้เคมี พอจบมาก็มาเรียนรู้กับแนวบุญนิยม ปราชญ์ชาวบ้าน ก็ได้เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษต่าง ๆ ได้ฝึกฝนทำมา ตอนทำงานอยู่อนามัยเป็นหมออนามัย ผมปลูกผักเต็มอนามัยเลย ทั้งกินทั้งแจกชาวบ้านบ้างทั้งขายบ้าง ปลูกจนเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผมทำเป็นตัวอย่างทั้งด้านสุขภาพและทั้งด้านเศรษฐกิจ ก็ทำให้คนได้เห็น จนได้รางวัลข้าราชการดีเด่นของโรงพยาบาล หนึ่งในกิจกรรมนั้นก็คือปลูกพืชไร้สารพิษ จึงมีประสบการณ์และพัฒนามาเรื่อย ๆ จน ทุกวันนี้ก็ได้สูตรง่าย ๆ ในการทำกสิกรรมไร้สารพิษ สูตรที่ง่ายที่สุดในการทำปุ๋ย คือปุ๋ยยูเรียสูตรหมอเขียว เป็นปุ๋ยที่ง่ายที่สุดจุลินทรีย์พลังศีลเพอร์มาลคาลเจอร์พลังศีล เป็นต้น

ได้ใช้องค์ความรู้อย่างเต็มความสามารถในการดูแลสุขภาพแต่แก้ปัญหาได้เพียงบางส่วน

ในช่วงเวลา 3 ปีแรกของการเริ่มรับราชการ ได้ใช้องค์ความรู้ด้านสุขภาพแผนปัจจุบันอย่างเต็มความสามารถในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน แต่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีปัญหาสุขภาพอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ยิ่งไปกว่านั้นปัญหากลับบานปลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปวดตามข้อ ปวดตามเนื้อตัว ปัญหาทางเดินอาหาร ภูมิแพ้ เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูงขึ้น ศักยภาพในการพึ่งตนในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพน้อยลง ทำให้เริ่มชัดเจนว่าการดูแลสุขภาพแผนปัจจุบันช่วยลดหรือแก้ปัญหาได้บางส่วนแต่อีกหลายส่วนยังไม่สามารถลดหรือแก้ปัญหาได้จึงได้เริ่มแสวงหาความรู้เพิ่มเติม

เริ่มศึกษาความรู้การดูแลสุขภาพตามแนวทางต่าง ๆ เช่น แนวบุญนิยม รวมถึงการทำกสิกรรมไร้สารพิษจากปราชญ์ชาวบ้าน และการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ได้เริ่มแสวงหาความรู้เพิ่มเติม โดยศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตและวิธีการดูแลสุขภาพแนวบุญนิยมจากการอ่านหนังสือ และได้ไปอบรมการแพทย์พื้นบ้าน และกสิกรรมผสมผสานไร้สารพิษ การดำรงชีวิตแนวเศรษฐกิจพอเพียงกับปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มพ่อผาย พ่อคำเดื่อง พ่อสุทธินันท์ ซึ่งการดำเนินการทั้งสองกิจกรรมดังกล่าว เป็นจุดสำคัญของการเรียนรู้สุขภาพแนวธรรมชาติบำบัดอย่างเป็นองค์รวม จากนั้นจึงได้ศึกษาการดูแลสุขภาพแนวทางเลือกต่าง ๆ หลากหลายศาสตร์เพิ่มเติม โดยช่วงเวลาดังกล่าวได้เริ่มลงมือปฏิบัติวิธีการดูแลสุขภาพแนวทางต่าง ๆ เช่น แนวบุญนิยม แนวปราชญ์ชาวบ้าน และแนวทางอื่น ๆ รวมถึงการทำกสิกรรมไร้สารพิษและการดำรงชีวิตแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง

จุดเริ่มต้นในการศึกษาธรรมะเพราะเครียดจากการยึดดี

มันจะมีความรู้สึกว่าถ้าชีวิตนี้ไม่ทำอะไรให้สุดในแต่ละเรื่อง ๆ มันจะคาอยู่ในใจมันจะมีบางอย่างที่คาใจ ด้วยเหตุนี้พอถึงวันทำงานเรายิ่งอึดอัดเพราะว่าเรายังไม่มีธรรมะ พอไปเจอเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ เยอะแยะไปหมดแล้วเราไม่สามารถที่จะไปฝ่าฟันแก้ปัญหาอันเลวร้ายทั้งหมดในโลกได้แต่เรามุ่งหมายจะให้สิ่งเลวร้ายทั้งหมดในโลกนั้นหมดไป เราเจออะไรมันก็ตันไปหมดเพราะเราไม่มีธรรมะไม่รู้สัจจะว่ามันทำได้ขีดนึงเท่านั้น มันไม่ใช่ว่าจะไปแก้ไขปัญหาสิ่งเลวร้ายทั้งหมดในโลกได้หมดมันทำได้แค่ขีดนึงในคน ๆ นึง ตอนนั้นมันไม่รู้หรอกจะเอาให้สุดทุกอย่างเลยแล้วเครียดมาก เครียดมากพอเครียดมาก ๆ ก็เริ่มศึกษาธรรมะเพราะทางอื่นมันตันไปหมดแล้วทำอะไรไปก็สุขแป๊บเดียวมันก็หมด ๆ เอ๊ะมันเป็นยังไง ๆ ก็เริ่มศึกษาธรรมะ

อยากรู้ว่าความสุขที่สุดในโลกที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นอย่างไร

พอศึกษาธรรมะอยากรู้อันนึงว่าความสุขมันมีกี่อย่างนะในโลก อยากรู้ อยากรู้ความสุขมันมีกี่อย่างในโลก มันมีอะไรบ้างที่ทำให้ชีวิตเป็นสุข ไอ้ที่เขาว่ามาหลายสิ่งหลายอย่างว่าเป็นสุขก็ได้เสพมาหมดแล้ว มันยังเหลือสุขอีกอันนึงที่เรายังไม่รู้จักคือสุขที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันดีที่สุดในโลกแล้วมันเป็นยังไง มันสุขที่สุดในโลกน่ะมันเป็นยังไงนี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ และเราก็อยากจะรู้ พออยากจะรู้คราวนี้เราก็เรียนสุด ๆ เลย เรียนจากพระองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านว่าปฏิบัติแบบไหนแล้วเป็นสุขก็ไปเรียน เรียนไปมันก็ได้สุขไประดับนึงแล้วมันก็ไม่สำเร็จคือกลับมาทุกข์อีก แม้แต่การคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปไม่ใช่ตัวเราของเราตายไปเอาอะไรไปไม่ได้มันก็โล่งขึ้นสวรรค์เสร็จแล้วพอปัญหากระแทก ๆ ก็ทุกข์เหมือนเดิม ทำไมมันมันทุกข์มันมีอาการของทุกข์ อยากให้ดีเกิดดีไม่เกิดมันก็ทุกข์ ทุกข์เรื่องนั้นทุกข์เรื่องนี้ ปัญหากระแทกมามาก ๆ ก็เอาไม่อยู่นะที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปไม่ใช่ตัวเราตายไปเอาอะไรไปไม่ได้มันเอาไม่อยู่ ทุกข์หนักเข้า ๆ เอาไม่อยู่

ขณะที่กำลังเครียดนั้น วันหนึ่งก็โชคดีวันที่บุญเต็มรอบ เครียดมาก ๆ หาทางออกไม่ได้ ในราวปี พ.ศ. 2540 พี่สัญชัย ตุลาบดี เป็นพี่ชายของพี่พัชรีย์ ทำงานอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ท่านก็เห็นผมเป็นสายจริงจังช่วยเหลือประชาชน ท่านก็บอกว่าไปไหม จะพาไปอบรมจริยธรรมและกสิกรรมไร้สารพิษที่ศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษผมไม่ได้สนใจคุณธรรมหรอกเพราะอ่าน ๆ อะไรไปก็ไม่เห็นพาเราพ้นทุกข์เลย ตอนนี้ขอเอากสิกรรมไร้สารพิษก่อน ได้ไปเจอหมู่กลุ่มชาวอโศกที่มีน้ำใจ มีศีล ลดละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ ราว 2,000 คน ไม่มีใครกินเหล้าเลย ไม่มีใครสูบบุหรี่เลย และก็ไม่มีใครแต่งตัวโก้ ๆ มาอวดกันเลยแต่งตัวมอซอกันหมด ไม่ว่าใครจะมีตำแหน่งอะไรแต่งตัวมอซอเหมือนกันหมดเลย เลยรู้สึกประทับใจมีการช่วยเหลือกันแบ่งปันกันในเรื่องนั้นเรื่องนี้ สอนวิชาให้กันก็ไม่เอาตังค์ สอนทำปุ๋ยชีวภาพ ทำกสิกรรมไร้สารพิษ มีการจัดการขยะให้เป็นประโยชน์ ทำสิ่งอุปโภคบริโภคจากสมุนไพร สอนวิชาทำเห็ดทำแชมพูทำอะไร ๆ ก็ไม่เอาตังค์สอนวิชาพึ่งตนเองในสิ่งจำเป็นของชีวิตด้านต่าง ๆ มีกองบุญส่วนกลางกินใช้ร่วมกัน (สาธารณโภคี) เอ๊ะ ไม่เคยพบไม่เคยเห็น เกิดมาในโลกไม่เคยพบไม่เคยเห็น งง แต่เราก็รู้เลยว่าใช่แล้วสิ่งนี้แหล่ะที่เราตามหามาทั้งชีวิตลักษณะแบบนี้

ได้ฟังพ่อครูสมณะโพธิรักษ์เทศน์ 2 กัณฑ์พลิกฟื้นชีวิตเลย เข้าใจธรรมะแล้วว่ามันต้องทำดีแล้วก็ต้อง“วางดี”

พ่อครูเทศน์ท่านเทศน์ 2 กัณฑ์ ตรงกับเรื่องที่ผมกำลังทุกข์หนักเลย คือเรื่องกรรมและเรื่องไม่กินเนื้อสัตว์

กัณฑ์แรก : ทำดีแล้วก็ต้องวางดี

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ท่านเทศน์เรื่องกรรม กรรมมัสสะโกมหิ เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน กัมมะทายาโท เราเป็นทายาทของกรรม กัมมะโยนิ เรามีกรรมเป็นกำเนิดกัมมะพันธุ เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กัมมะปฏิสะระโณ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นที่ให้ผล เป็นสิ่งที่ทำให้สะดุดกับสิ่งที่ต้องการหาคำตอบว่า สิ่งต่าง ๆ สิ่งดีสิ่งไม่ดีที่มันเกิดกับชีวิตคนที่ประดังประเดเข้ามา เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเพราะอะไร มาจากอะไร พ่อครูก็ฟันธงเปรี้ยงว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่ามาจากการกระทำทั้งหมด พอได้ฟังมันโล่ง โล่งไปหมดเลย อ๋อมันอยู่ที่การกระทำหรือ แต่ก่อนผมนึกว่ามันอยู่ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้าทางหรือเปล่า เราก็เคารพเจ้าที่เจ้าทางแล้วทำไมมันยังทุกข์เหมือนเก่า มีพระแขวนคอก็หลายองค์

พอเข้าใจแล้วก็เลิกแขวนแล้วเพราะรู้แล้วว่าพระที่แท้จริงคือความดีที่จะคุ้มครองเรารู้แล้ว สิ่งที่พ่อครูฯ เทศน์ตอนนั้นทำให้พลิกฟื้นชีวิตเลย เรื่องของอัตตามานะเรื่องยึดดีคิดดีหลงดี เราไม่เคยคิดว่ายึดดีมันเป็นทุกข์ ดีก็ต้องทำดีก็ต้องเอา มันจะไปวางยังไง ดีแล้วจะไม่เอาดียังไง ดีก็ต้องเอา เอาแบบหัวชนฝา มันต้องลุยแบบหัวชนฝาตายเป็นตาย แต่พอพ่อครูฯ เทศน์ว่าดีแบบพระพุทธเจ้าไม่ใช่แบบนั้น ดีคือทำเต็มที่พอมันไปไม่ได้ก็ต้องวางต้องเลิกต้องปล่อย ต้องวางมีแรงใหม่อีกค่อยทำอีกมันไปไม่ได้แล้ว เหตุปัจจัยมันไปไม่ได้แล้วก็ต้องวาง เพิ่งจะเข้าใจธรรมะว่ามันต้องทำดีแล้วก็วางดี พอได้ยินเท่านั้น มันรู้สึกสุขสบายใจอย่างบอกไม่ถูก อธิบายไม่ถูกผมเดินยิ้มเหมือนเป็นคนติดกัญชาเลย

กัณฑ์ที่สอง : การกินเนื้อสัตว์กับชีวิตที่เคยหลงผิดมาตั้ง 24 ปี

ผมมีความสงสัยว่าเราไม่กินเนื้อสัตว์ก็ได้หรือชีวิต คือขัดแย้งอยู่ในใจว่าเราเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ แล้วทำไมคนยังกินสัตว์อยู่ กินอยู่มันก็ต้องฆ่าอยู่ มันไม่เห็นไปด้วยกันเลยไม่ฆ่าสัตว์กับกินสัตว์ ศีลข้อ 1 ไม่ให้ฆ่าสัตว์ ก็กินสัตว์ทั้งบ้านทั้งเมืองรวมทั้งผมด้วย ก็ไม่ให้ฆ่าสัตว์ เราไม่ได้ฆ่าไปให้คนอื่นฆ่าเราจะได้ไม่บาป มันขัดแย้งอยู่ในใจ ไม่ฆ่าแต่ก็กิน เป็นสิ่งที่สะดุดใจอย่างมาก ก็ไม่เข้าใจว่า การกินเนื้อสัตว์ มันโหดร้ายที่สุด มันเห็นแก่ตัวที่สุด ไม่ได้ใส่ใจเลยว่าเขาจะเดือดร้อนแค่ไหนกับความอำมหิตของเรา มันก็ทำให้ตัวเองเดือดร้อน คนอื่นเดือดร้อน เพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ดูความอำมหิตของกิเลสของตัวเองที่เคยเป็นเช่นนั้นมา

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมเลิกกินเนื้อสัตว์ คือได้อ่านกระดาษที่ห่อหนังสือจากชาวอโศกที่มีข้อความว่า “คุณบอกว่าคุณมีความเมตตากับผู้คนกับสัตว์เพื่อนร่วมโลก แต่ปากคุณยังเคี้ยวกลืนชีวิตของผู้อื่นอยู่ คุณมีเมตตาจริงหรือเปล่า” ทำให้รู้สึกสะดุดสะดุ้งจิตเราก็ว่าเราเป็นคนดีชอบช่วยเหลือสังคมแล้วนะ เราคิดว่าเราเป็นคนดีมีคุณธรรมมีเมตตา แต่ปากของเราก็เคี้ยวกลืนความทุกข์ทรมานของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา กลืนได้อย่างไร กับความทุกข์ทรมานของเขา แต่ก่อนก็ไม่เข้าใจ จนไปเห็นกระดาษชิ้นนั้น ที่เขียนข้อความไว้ เมื่อเรารู้สิ่งที่ถูกสิ่งที่ผิด และเข้าใจการปฏิบัติความเมตตาที่แท้จริงต่อสัตว์ พอชัดตรงนี้ ประกอบกับมีหมู่กลุ่มจึงได้ตั้งใจว่าเราจะไม่กินสัตว์อีกแล้ว เราจะไม่โหดร้ายอำมหิตเห็นแก่ตัวอีกแล้ว เราจะไม่ทำลายชีวิตนี้อีกแล้ว จะไม่มีชีวิตที่ต้องตายเพราะเราอีกแล้ว ผมตั้งจิตว่า 

จากวันนี้ไป จะไม่มีชีวิตใดเดือดร้อนเพราะเราอีกต่อไป

เราจะไม่ฆ่าสัตว์ เราจะไม่กินสัตว์ตายเป็นตาย

เราจะไม่ฆ่าสัตว์ เราจะไม่กินสัตว์ตายเป็นตาย

จะไม่ทำร้ายใคร

ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์จากเราเท่านั้น

ไม่ทำร้ายใคร คือ ไม่เลี้ยงกิเลสและถือโอกาสเลิกกินเนื้อสัตว์และกินมื้อเดียว (ราววันที่ 25 ธันวาคม 2539) เปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปฏิบัติธรรมตั้งศีลเลิกทานเนื้อสัตว์ด้วยการพิจารณาโทษประโยชน์

เดิมผมชอบทานทั้งเนื้อสัตว์และผักพอได้ฟังธรรมะจากพ่อครูสมณะโพธิรักษ์สมณะ สิกมาตุ ญาติธรรมชาวอโศก อันเป็นธรรมะแท้ ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็ชัดเจนว่าการทานสัตว์ทำให้เสียสุขภาพและเป็นบาปเป็นเหตุให้สัตว์ถูกขังถูกฆ่าจึงตั้งศีลเลิกทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดโดยเมื่อมีอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ก็พิจารณาถึงโทษภัยว่าทำให้เสียสุขภาพ เป็นวิบากร้ายนำเรื่องร้ายมาใส่ชีวิตทำให้สัตว์ถูกขัง ถูกฆ่า ทุกข์ทรมาน อำมหิต โหดร้ายไม่มีความเมตตาต่อสัตว์ เป็นการเบียดเบียนสัตว์อาหารที่ไม่เบียดเบียนเป็นบุญกุศล ก็มีคืออาหารมังสวิรัติทั้งดีต่อสุขภาพด้วยประหยัดด้วยเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคมด้วยเป็นประโยชน์ต่อทุกชีวิตทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

การพิจารณาดังกล่าวทำให้อาการอยากเสพเนื้อสัตว์ลดลงไปเป็นลำดับ ๆ ทำซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่มีอาการอยากเสพเมื่ออาการอยากเสพลดลงไปในแต่ละครั้งก็จะเกิดสภาพยินดีอิ่มเอิบเบิกบานแจ่มใสที่เราไม่ต้องทำชั่วทำบาปอีกต่อไป เป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้อื่นเป็นพลังใจพลังปัญญาให้ผู้อื่นอีกต่อไปเกิดความรู้สึกความตั้งใจในจิตว่า ”จากวันนี้ไป จะไม่มีชีวิตใดเดือดร้อนเพราะเราอีกต่อไป เราจะไม่ฆ่าสัตว์เราจะไม่กินสัตว์ ตายเป็นตายจะไม่ทำร้ายใครทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์จากเราเท่านั้น” เป็นความเด็ดขาดในการตัดสินใจไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นได้ทำงานอยู่ที่ โรงพยาบาลหว้านใหญ่ จำได้ว่าตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม 2539


ปฏิบัติธรรมทิ้งความรู้สึกอร่อย ให้เหลือแต่รู้ความจริงตามความเป็นจริงเท่านั้น

ตอนนั้นผมยังอยู่ที่อนามัยพ่อครูสมณะโพธิรักษ์เทศน์ว่าขอสักชาติได้ไหมถ้าได้แล้วคุณจะไม่เอาก็เป็นไร ตอนนั้นใจมันยังติดรสอร่อยจากอาหารมังสวิรัติอยู่ (ไม่ได้ได้กินเนื้อสัตว์แล้ว) ก็มาคิดว่าสุขแบบพุทธแท้ ๆ มันเป็นอย่างไร เกิดมาชาติหนึ่งเรายังไม่เคยเจออยากจะเจอบ้าง คือ อยากจะทำให้มันถึงที่สุด ทางโลกทำไป ๆ เราก็รู้อยู่ว่าเกิดดับ ๆ ในด้านธรรมะนี่สุขที่สุดมันเป็นอย่างไร ดีที่สุดมันเป็นอย่างไร ที่ว่าสุขเลิศยอดยั่งยืนมันเป็นอย่างไร ดีสุดที่พระพุทธเจ้าว่ามันเป็นอย่างไร แต่อย่างนึงที่รู้ก็คือว่าจะต้องไม่ดูด ไม่ผลักในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส โดยเฉพาะเปรี้ยวหวานมันเค็มขมเผ็ด จะต้องรู้ความจริงตามความเป็นจริงมันไม่ต้องมีอร่อยหรือไม่อร่อย รู้ความจริงตามความเป็นจริงนี่คือสิ่งที่รู้ ตอนนั้นผมก็ยังไม่อยากรู้รสความจริงตามความเป็นจริงหรอกยังอยากได้รสบวกอร่อย ๆ ตอนนั้นยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่อยากได้รสบวกอร่อยอยู่ จำได้ว่ากินหวานก็อร่อย กินมันก็อร่อย กินรสอะไรก็อร่อย ก็ยังไม่อยากทิ้งรสอร่อย ตอนนั้นก็สู้กับกิเลสมันยังไม่อยากทิ้ง

พอนึกถึงคำพ่อครูขอสักชาติได้ไหม ๆ ได้แล้วจะไม่เอาก็ไม่เป็นไร แล้วก็ย้ำ ๆ ไปอย่างนั้น แล้วก็เอ๊ะสุขที่สุดของพุทธมันเป็นยังไง แล้วถ้ารู้ความจริงตามความเป็นจริงแล้วมันจะเป็นยังไง แล้วมันจะเสียหายตรงไหน รู้ความจริงตามความเป็นจริงมันก็จะสงบนะ จะเป็นสุขนะ ตัดสินใจทดลองทำในจิตเลยว่า ตกลงเราจะทิ้งความอร่อย เราจะทิ้งความรู้สึกอร่อยตกลง อร่อย เราจะทิ้งความรู้สึกอร่อย เราจะเอาแต่ความจริงตามความเป็นจริง รสไหนก็เป็นรสนั้น ๆ เปรี้ยวก็ให้มันเป็นเปรี้ยว หวานก็ให้มันเป็นหวาน จะไม่เอารสอร่อยเอาแต่รสความจริงตามความเป็นจริงและประโยชน์พอคิดแค่นั้นนะมันโล่ง ๆ ไปหมดตกลงชีวิตเราจะเอาความจริง เท่านั้นแหล่ะ มันก็โล่งไปหมดเลย มันโล่งเพราะกิเลสตาย มันสุขยิ่งกว่าสุขมันโล่งไปหมด ไม่กลัวอะไรเลยไม่หวั่นไหวเลยรู้ความจริงตามความเป็นจริงสัมผัสอะไรก็รู้ความจริงตามความเป็นจริงมันจะไปทุกข์อะไร เหมือนที่พ่อท่านสอนว่าตัดสินใจปังพลังโล่ง มันก็โล่งไปหมด

ปฏิบัติธรรมเลิกแย่งลาภยศตำแหน่ง

มีครั้งหนึ่งกำลังวิ่งออกกำลังกาย ปากก็บอกว่าไม่อยากได้ซีได้ขั้นหรอกแต่ลึก ๆ ใจมันอยากได้ วิ่งอยู่ก็สู้อยู่ อยากได้สรรเสริญอยากเป็นที่ยอมรับ ติดโลกธรรมจะได้อวดเพื่อนว่าเรามีเงินเดือนมากกว่าเพื่อน ก็วิ่ง ๆๆๆ ไป เอ้…สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไร ก็เกิดก็ดับ อยากได้อีกก็ทุกข์อีก หามาได้ อีกสักพักก็ต้องไปแย่งใหม่อีกเหนื่อยอีกสุขอยู่เดี๋ยวก็ต้องไปแย่งมาอีกทุกข์ก็แย่งมาอีกก็ทะเลาะกันอีก คิดพิจารณาไปในขณะที่วิ่ง สุดท้ายมนุษย์ก็ไม่ได้อะไรไขว่คว้าไปได้สุขแว๊บนึงแล้วก็หมดไป คว้าไปแล้วมันก็ดาย ๆ เฉย ๆ ก็เห็นความสุขที่มันหมดไปแล้วมันก็แย่งกันต่อแล้วมันก็หมดไปแล้วก็แย่งกันต่อทะเลาะกันต่อเหยียบหัวกันอยู่อย่างนั้น ก็วิ่ง ๆๆ ไป สุดท้ายไม่เอาดีกว่า ไม่เอาแล้วไม่แย่งลาภยศอะไรกับใครแล้ว โล่งเลย โล่งเป็นลำดับ ๆ

ปฏิบัติธรรมพิจารณาความไม่เที่ยงของสุขลวง

ผมก็คิดว่าชีวิตเราที่เกิดมาจะเอาอะไรกันแน่พิจารณาการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปมันเกิดดับ ๆ แต่ละอย่าง ๆ มันหมุนวนเกิดดับ ๆ จะเอาอะไร ไล่ไปก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไล่ไป ๆ เรื่อย ๆ ก็เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่าง ๆ ไปจนถึงจิต ก็เห็นความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่เที่ยงไม่มีตัวตนแท้ คนก็ไขว่คว้าแย่งกันอยู่นั่นแหละ แย่งกันมันก็สุขแป๊บนึงสุดท้ายมันก็หมดไป แล้วก็ไปแย่งต่ออีก ความสุขก็หมดไปก็แย่งต่ออีกเป็นหมาหอบแดด มันเกิดดับ ๆ จะเอาอะไร สุดท้ายชีวิตก็เข้าใจชัด ๆ บอกไม่เอาแล้ว รู้แล้วล่ะ พอแล้ว ไม่แย่งอะไรกับใครแล้ว โอ้โห โล่ง เหมือนขึ้นสวรรค์ ตอนนั้นจำได้ราวตี 4 กลัวความรู้สึกนี้หายไป ๆๆ ต้องประคอง ๆ ไว้เลยนะอย่าหายไปไหนนะ ๆ

เข้าใจเลยยิ่งกว่าสวรรค์คาลัย ยิ่งกว่าอธิปไตยใด ๆ ในโลกหล้า ยิ่งกว่าเอกราชทั่วทั้งแผ่นดิน เข้าใจเลย ไม่ติดไม่ยึดมันสุขขนาดนี้หรือ กรึ่ม ๆ เลยนะตอนนั้นอยู่โรงพยาบาล (ฝ่ายส่งเสริม) กรึ่ม ตอนนั้นก็อ่านของหลวงพ่อชาที่ท่านพูดทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป อ่านไปอ่านมาแล้วก็พิจารณาตามไปด้วยมันบวกภูมิของผมด้วย โล่งไปหมดเลย จากนั้นก็ประคองไว้อย่าไปไหนนะ ๆ ไอ้ความรู้สึกโล่งนี่อย่าไปไหนนะ ๆ ทั้งวันก็ระลึกแต่ความไม่เที่ยงนี่แหละ ความไม่ติดยึดนี่แหละ ความไม่เที่ยงความไม่มีตัวตนไม่ใช่ตัวเราของเรา ทั้งวันระลึกถึงอันนี้มันโล่งดี สบาย มันก็มีของเก่ามา เราก็จะเห็นสักกายะหยาบ ๆ ที่เราไปแย่งหยาบ ๆ หลังจากนั้นเราไปเก็บรายละเอียดเพิ่มเข้าไปอีก

ผมเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็ว ทดลองฝึกปฏิบัติตามชาวอโศก ถือศีล 5 เป็นอย่างน้อย ละอบายมุข รองเท้าไม่ใส่ ใส่ชุดม่อฮ่อม ตัดผมสั้น รับประทานอาหารวันละหนึ่งมื้อ ผลคือ ทำงานได้ดีกว่าเดิม ทำงานได้มากขึ้น เพราะสุขภาพดีขึ้น ปัญญาแตกฉานเฉียบแหลมขึ้น และได้เวลาที่เคยสูญเสียกับสิ่งที่เป็นภัยหรือไร้สาระกลับคืนมา

เริ่มฝึกฝนตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นในการพึ่งตนด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ (ดับทุกข์ ต้องดับที่เหตุ) ด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย

พบว่าการแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยทั่วไปในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่พึ่งตนด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่าย จึงเริ่มฝึกฝนตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นในการพึ่งตนแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยสิ่งที่ประหยัดเรียบง่ายเป็นหลัก ใช้วิธีการอื่น ๆ เสริมเติมเต็มตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลตามสภาพ ณ เวลานั้น ๆ คือแนวคิดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ (ดับทุกข์ ต้องดับที่เหตุ) ก็รู้ว่าต้องทำอะไร

ได้นำองค์ความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ในการสร้างสุขภาวะที่ได้ศึกษามาบูรณาการอย่างเป็นองค์รวมเป็นการแพทย์วิถีพุทธ คือการแพทย์ที่นำเอาจุดดีของวิทยาศาสตร์การดูแลสุขภาพทั้ง 4 แผน คือ แผนปัจจุบัน แผนไทย แผนทางเลือกและแผนพื้นบ้าน รวมกับหลัก 8 อ. เพื่อสุขภาพที่ดีของสถาบันบุญนิยม มาจัดการองค์ความรู้ ประยุกต์ผสมผสานบูรณาการด้วยหลักธรรมของพุทธศาสนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เน้นการแก้ไขหรือลดปัญหาสุขภาพที่ต้นเหตุโดยใช้สิ่งที่ประหยัดที่สุด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดด้วยวิธีที่เรียบง่าย ได้ผลรวดเร็ว สามารถพึ่งพาตนเองได้ ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก (ด้านวัตถุส่วนใหญ่ใช้พืชที่อยู่ใกล้ตัว) ประยุกต์เข้ากับวิถีชีวิตได้ และมีความยั่งยืนโดยสามารถสร้างความเป็นพุทธะในตนไปพร้อม ๆ กับการเกื้อกูลมวลมนุษยชาติ ด้วยการสานพลังกับหมู่มิตรดี ในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี

แต่ก็มีอุปสรรคเนื่องจากโรงพยาบาลเป็นองค์กรใหญ่ทำอะไรได้ไม่มาก ในปี พ.ศ. 2540 จึงย้ายมาปฏิบัติราชการที่สถานีอนามัยบ้านนิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกจังหวัดมุกดาหาร ทำโครงการช่วยประชาชนตามองค์ความรู้ซึ่งได้เรียนรู้จากพระพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวอโศก ปราชญ์ชาวบ้าน และการดูแลสุขภาพศาสตร์ต่าง ๆ ตามที่ได้ศึกษามา ด้วยโครงการการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมตั้งแต่วิถีการดำรงชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมที่มีความเกื้อกูลกันลงแขกช่วยเหลือกัน รับประทานอาหารปลอดภัยจากสารเคมี การออกกำลังกาย และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ตนเองและประชาชนมีสุขภาพที่ดี เกิดผลทำให้มีคนสนใจมาดูงานมากขึ้นเป็นจุดเด่นขอสถานีอนามัยที่มีแพทย์แผนไทยแพทย์ทางเลือกและสะสมภูมิปัญญาในหลาย ๆ ด้านมากขึ้นโดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมีพื้นที่ของครอบครัว คือ สวนป่านาบุญ 4 บ้านแดนสวรรค์ ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ใช้เป็นที่สาธิตฝึกฝนเผยแพร่การทำกสิกรรมไร้สารพิษเศรษฐกิจพอเพียงให้กับสังคม พื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากสถานีอนามัยประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งทำให้สามารถเข้ามาดูแลและพัฒนาพื้นที่สวนป่านาบุญ 4 ได้สะดวกและเต็มที่

ชีวิตหนอชีวิต… พอตั้งหลักได้พอจะมีเงินมีทองก็ตั้งลำอย่างดีเลยว่าชาตินี้จะไปเสพสุขเสพสิ่งที่อยากจะเสพให้เต็มที่ให้หัวคะมำเลย แต่…ก็มาเจอธรรมะมาพบกับพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ก่อน

ชีวิตชาตินี้ไม่รู้เป็นอะไร พอจะตั้งหลักได้พอจะมีเงินมีทองจะได้ไปกินอะไร ๆ เหมือนคนอื่นเขาก็มาเจอธรรมะก่อน โอย ก็เพิ่งมารู้ว่ามากินข้าวกับเกลือนี่มันดีที่สุด ชีวิตหนอชีวิต พอได้มาพบกับธรรมะมาพบกับพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ มันก็ไม่ได้เสพอะไร จริง ๆ แล้วจะไปเสพก็ไปได้แต่มันก็ไปไม่ได้ เพราะมันก็รู้อยู่ว่าอะไรดีอะไรชั่ว พ่อครูฯ สอนไปซะแล้วว่าอะไรดีอะไรชั่ว มันก็ไม่ได้ไปเสพตามที่กิเลสต้องการ เพราะพ่อครูก็สอนแล้วว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อยู่ก็ไม่บรรลุ (ยังอยากอยู่) ไปเสพก็ไม่เป็นสุข ก็รู้ว่าบาปว่าเลวร้ายก็ทุกข์ มันยังฆ่ากิเลสยังไม่ตาย มันก็ทุกข์ เรียกว่าไปก็ทุกข์เพราะก็รู้ว่ามันไม่ดี อยู่ก็ทุกข์เพราะมันยังฆ่ากิเลสไม่ตาย โอ้โหชีวิตเราตั้งลำอย่างดีเลยว่าชาตินี้จะไปเสพสุขเสพสิ่งที่อยากจะเสพให้เต็มที่ให้หัวคะมำเลย แต่ก็มาเจอธรรมะนี่แหละ

พัฒนางานแพทย์วิถีธรรมมา 21 ปี

ได้พัฒนางานแพทย์วิถีธรรมมา 21 ปีตอนเรียนปริญญาเอก ได้ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ” จำนวน 3,000 กว่าหน้าผลงานวิจัยนี้ผู้ป่วย 90% อาการดีขึ้นโดยมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆพบว่า ค่าการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้ ดีขึ้นภายใน 5 วันได้แก่ ค่าเบาหวาน ความดัน ไขมัน ค่าการทำงานของตับ อัตราการกรองของไต ค่าสารเคมีในเลือด และน้ำหนักจากผลงานวิจัยและเก็บข้อมูลพบว่าการแพทย์วิถีธรรมทำให้โรคทุกโรคลดลงได้ แต่มีเพียง10% ที่ไม่หาย เนื่องจาก 1. ไม่ได้ทำ 2. ทำไม่ได้ 3. อาการหนักเกินไป 4. มีวิบากกรรมหนัก (ขัดขวาง)

มุ่งมั่นพัฒนาตนเองไปสู่สภาพ “ทำความผาสุกที่ตน สอนคนที่ศรัทธา”

ผมมีอุดมการณ์มุ่งมั่นพัฒนาตนเองไปสู่สภาพ“ทำความผาสุกที่ตนสอนคนที่ศรัทธา”เป็นการทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่น (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย วาจา หรือ ใจ) หรือเป็นความต้องการ “ให้” แก่ผู้อื่น ชนิดสุจริตใจอย่างบริสุทธิ์แท้จริงสมบูรณ์ที่สุดเป็นความต้องการสร้างคุณงามความดีเพื่อผู้อื่นเป็นหลักไม่มีความต้องการเพื่อตนเองจะได้ตนเองจะมีตนเองจะเป็น ไม่ต้องการแม้แต่ตนเองจะเสพกามหรืออัตตาในสิ่งที่ทำนั้นเพื่อตนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมเป็นการ“ทำงาน” เพื่องานเท่านั้น ทำให้โลกอนุเคราะห์เกื้อกูลมนุษยชาติในโลก (โลกานุกัมปายะ) ทำเพื่อความเป็นประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ (พหุชนหิตายะ) ทำเพื่อเป็นความผาสุกของมวลมนุษยชาติ (พหุชนสุขายะ) ทำอย่างสุดความสามารถเท่าที่จะพึงทำได้

ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา แท้จริงแล้ว คือปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง” “เราเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ส่วนการเดินทางเป็นเรื่องของท่าน” “ถ้าเราทำดีจะเหนี่ยวนำให้คนอื่นทำดี ถ้าเราทำชั่วจะเหนี่ยวนำให้คนอื่นทำชั่ว” และพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า คนที่ศรัทธาจะเปิดใจรับฟังและพากเพียรปฏิบัติตาม ส่วนถ้าไม่ศรัทธาจะตรงกันข้าม คือหาเหตุผลค้านแย้งได้ทุกเรื่อง ดังนั้น จึงควรทำตัวอย่างที่ดีหรือความผาสุกที่ตน แล้วช่วยคนที่ศรัทธา แล้วเปิดเผยข้อมูลดี ๆ ออกไปในทุกช่องทางที่เหมาะควร ใครจะใช้ตอนไหนก็แล้วแต่เขา จะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อตนเองและผู้อื่น

พ.ศ. 2536   ประกาศนียบัตรพยาบาลและผดุงครรภ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท

พ.ศ. 2538   ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์สุขภาพสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ. 2540   ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์สุขภาพบริหารสาธารณสุข มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ. 2542   สำเร็จการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนไทย แนวคิดและทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เวชกรรมแผนไทย เภสัชพฤกษศาสตร์ ธรรมานามัยและสังคมวิทยาการแพทย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พ.ศ. 2543   อบรมด้านการแพทย์ทางเลือกจากประเทศมาเลเซียและจีนไต้หวัน

พ.ศ. 2553   ปริญญาโทสาขาพัฒนาบูรณาการศาสตร์ (เศรษฐกิจพอเพียง) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาลจังหวัดมุกดาหาร”

พ.ศ. 2555   ปริญญาเอก วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาสาธารณสุขชุมชนมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

พ.ศ. 2559   ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค (สาธารณสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ทำการศึกษาวิจัยดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ”

ประสบการณ์การทำงาน

พ.ศ. 2548 – กรกฎาคม 2560 โรงพยาบาลอำนาจเจริญ พ.ศ. 2548   สำนักงานสาธารณสุขอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. 2546 – 2548 สำนักงานที่ปรึกษาด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2540 – 2545 สถานีอนามัยบ้านนิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึก จังหวัดมุกดาหาร พ.ศ. 2535 – 2540 โรงพยาบาลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร  

การทำงานปัจจุบัน

  • ข้าราบการบำนาญ
  • นักวิชาการอิสระ
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม สำนักการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
  • ผู้เชี่ยวชาญแพทย์วิถีธรรมและครูฝึกแพทย์แผนไทยศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
  • ประธานมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย
  • วิชชาธิการบดี สถาบันวิชชาราม
  • ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันวิชชาราม อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
  • ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ผู้ประกอบการสังคม สาขาความถนัดการแพทย์วิถีธรรม สถาบันอาศรมศิลป์
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด สำนักงาน กศน. จังหวัดมุกดาหาร
  • ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม
  • ปราชญ์ชาวบ้าน อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร

กิจกรรมช่วยเหลือสังคม

  1. จัดค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงพระไตรปิฎกตามรอยบาทพระศาสดา
  2. เผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้สุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรม ออนไลน์บน www.morkeaw.net และ facebook หมอเขียวแฟนคลับ สวนป่านาบุญ 1 – 5 และเฟซกลุ่มการแพทย์วิถีธรรมและหมอเขียว ฯลฯ
  3. จัดค่ายอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชา
  4. กิจกรรมโรงบุญแจกอาหารมังสวิรัติแก่ประชาชนและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อถวายสักการะเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนารถ

ผลงานเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์และวิดีทัศน์

  1. หนังสือย่านางสมุนไพรมหัศจรรย์
  2. หนังสือถอดรหัสสุขภาพ เล่ม 1 สมดุลร้อนเย็น
  3. หนังสือถอดรหัสสุขภาพ เล่ม 2 ความลับฟ้า
  4. หนังสือถอดรหัสสุขภาพ เล่ม 3 มาเป็นหมอดูแลตัวเองกันเถอะ
  5. หนังสือยอดยาดี สุขภาพดีวิถีพุทธ
  6. หนังสือเทคนิคการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ
  7. หนังสืออาหารล้างพิษปรับสมดุล
  8. หนังสือความผาสุกที่แท้จริง
  9. หนังสือวางขันธ์วางร่าง (ส่งวิญญาณ)
  10. หนังสือเทคนิคการทำใจให้หายโรคเร็ว
  11. หนังสือคนพอเพียง
  12. หนังสือสู้ทุกทุกข์ภัยด้วยใจที่เป็นสุข
  13. หนังสือมหัศจรรย์ น้ำปัสสาวะบำบัด ยาดีที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้
  14. หนังสือการพอก ทา หยอด ประคบ อบ อาบ เช็ดด้วยสมุนไพร
  15. หนังสือไขรหัสลับสุดขอบฟ้า 1 การผ่าตัดกิเลส เหตุแห่งโรคทุกข์ทั้งปวง
  16. หนังสือไขรหัสลับสุดขอบฟ้า 2 ผ่าตัดโรคภัยโดยใช้สมดุลร้อนเย็น
  17. หนังสือไขรหัสลับสุดขอบฟ้า 3 เป็นโสดดีหรือมีคู่
  18. หนังสือ “มติหมู่พาเจริญ”
  19. หนังสือ “การกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์กับพุทธ”
  20. หนังสือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท งานวิจัยเรื่อง “ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสวนป่านาบุญอำเภอดอนตาลจังหวัดมุกดาหาร”
  21. หนังสือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก งานวิจัยเรื่อง “จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ” เล่ม 1 – 3 (รวม 4 เล่ม)
  22. วารสารแพทย์วิถีธรรม ฉบับที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 – ฉบับที่ 8 เดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ศรีนครินทร์เวชสาร ม.ขอนแก่น
  23. วารสารการประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 25 ประจำปี 2552 “ การแพทย์หัวใจประชาชนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ
  24. บทความ “ยอดยาดี สุขภาพดี วิถีพุทธ” นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 18 ฉบับ 913 วันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2552 สัมภาษณ์พิเศษ หมอเขียว ใจพระ การแพทย์วิถีพุทธ “เราก็เลี้ยงชีพด้วยความเสียสละ”  ใจเพชร  กล้าจน  แพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ
  25. คน ค้น ฅน อวอร์ด ครั้งที่ 1 แด่ความดีงามของมวลมนุษยชาติ “หมอเขียว ศูนย์บาทรักษาทุกโรค”
  26. โครงการระพีเสวนา เรื่อง “หลอมรวมการเรียนรู้เพื่อความเป็นไทย สุขภาพทางเลือกเพื่อดุลยภาพ แห่งชีวิต” แนวเศรษฐกิจพอเพียง
  27. หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายวัน และ บางกอกโพสต์ออนไลน์ 09/02/2010 บทความ “MORE THAN MEDICINE
  28. ค ฅน Magazine ปีที่ 5 ฉบับที่ 10 (58) สิงหาคม 2553 “หมอเขียว ผู้ฝ่าทางตันสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีพุทธ”
  29. หนังสือ“การแพทย์ทางเลือกนวัตกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง”สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “เทคนิค 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด) ของการดูแลสุขภาพ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักการแพทย์วิถีธรรม”
  30. จัดทำเอกสารคู่มือกสิกรรมไร้สารพิษเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
  31. รายงานผลการดำเนินการและความก้าวหน้า ปี 2556-2557โครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และ มูลนิธิ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิ อพ.สธ.)
  32. รายงานผลการดำเนินการและความก้าวหน้า ปี 2557-2558 โครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และ มูลนิธิ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิ อพ.สธ.)
  33. รายงานผลการดำเนินการและความก้าวหน้า ปี 2558-2559 โครงการรวมใจภักดิ์ปลูกมเหสักข์-สักสยามินทร์ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และ มูลนิธิ อนุรักษ์พันธุกรรมพืช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มูลนิธิ อพ.สธ.)
  34. วีดีทัศน์ออกแบบท่ากายบริหาร-โยคะ-กดจุดลมปราณเพื่อสุขภาพ
  35. วีดีทัศน์บรรยายเทคนิคการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักการแพทย์วิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
  36. วีดีทัศน์และเอ็มพีสามการบรรยายค่ายสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน
  37. วีดีทัศน์ ครั้งที่ 1 – 12 และเอ็มพีสาม ครั้งที่ 1 – 17 การบรรยายค่ายพระไตรปิฎก ตามหลักการแพทย์วิถีธรรม ของศูนย์เรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน
  38. วิดีทัศน์ กัวซาแบบแพทย์วิถีธรรม ยาเม็ดที่ 2, 1 ในยา 9 เม็ด เทคนิค 9 ข้อ รายการสุขภาพดีกับแพทย์วิถีธรรม สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
  39. วิดีทัศน์ ตอบแหลกก่อนแหกค่าย 1 – 4 ถามตอบปัญหาสุขภาพที่ยังสงสัย? ค่ายสุขภาพสวนป่านาบุญ

ผลงานเผยแพร่สื่อโทรทัศน์

1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช. สารคดีธรรมชาติบำบัดพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี

2. สถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาแห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ สารคดี สุขภาพดี วิถีไทย เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

3. รายการสุขภาพดีด้วย 8 อ. “สุขภาพพึ่งตนแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์เพื่อมวลมนุษยชาติ (FMTV) ทุกวันพฤหัสและวันศุกร์ เวลา 6.00 – 7.00 น.

4. คนต้นเรื่อง รายการ คนค้นฅน “หมอเขียวศูนย์บาทรักษาทุกโรค” เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท 9มิถุนายน 2553

5. รายการ เรื่องจริงผ่านจอ เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5

6. รายการ ครูสร้างคน คนสร้างโลก ของคุรุสภา ตอน “หมอเขียว” เยียวยาครอบครัวครู โดย สกสค. เผยแพร่ทาง อสมท.

7. สารคดี ทางนำชีวิต ตอน “ธรรมะดับโรค” เผยแพร่ทาง ไทยพีบีเอส


ผลงานวิจัย

1. ใจเพชร กล้าจน. 2559. จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธเพื่อมวลมนุษยชาติ เล่ม 1. สำนักพิมพ์พิมพ์ดี. 646 หน้า.

2. ใจเพชร กล้าจน. 2558. ผลของโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์วิถีธรรมเพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต่อพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพและภาวะสุขภาพของผู้ต้องขังหญิง เรือนจำจังหวัดภูเก็ต. 64 หน้า.

3. ใจเพชร กล้าจน. 2554. ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ ของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร สำนักพิมพ์พิมพ์ดี 488 หน้า.


บทความทางวิชาการ / บทความในหนังสือ

1. ใจเพชร กล้าจน. 2558. “การแพทย์วิถีพุทธกับสุขภาวะของมวลมนุษยชาติ”. วารสารวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ กาฬสินธุ์. ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (ประจำเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2558). หน้า 298-305

2. ใจเพชร กล้าจนและคนอื่น ๆ. 2558. “จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธกับสุขภาวะของมวลมนุษยชาติ”. วารสารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์. ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2558. หน้า 145-157.

3. ใจเพชร กล้าจน. 2558. “จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธกับสุขภาวะของมวลมนุษยชาติ”. วารสารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2558. หน้า 348–362.

4. ใจเพชร กล้าจน. “การแพทย์วิถีธรรมเพื่อมวลมนุษยชาติ”. ใน Program and Articles. International Conference of Public Health Program On Health Care Wisdom for Mankind. (ICPHP2014). หน้า 31-45. Surin :Surindra Rajabhat University. 2557.

5. ใจเพชร กล้าจน. 2554. “ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักการแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ.” วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก. 4(1) : 25-37. มกราคม – เมษายน 2554.

6. JaiphetKlajon. “Dhamma Medicine for Mankind”. The 6th International Conference “Asean in The Next Decade” Proceedings. Surindra Rajabhat University, Thailand, 19 January, 2014. (Oral Presenation and Article Journal p.129-147).

7. JaiphetKlajon. “The Buddhist Medicine and Health for Humankind”. The 1st International Symposium on Traditional and Alternative Medicine. An Integration of Traditional Healing and Western Medicine. Faculty of Thai Traditional and Alternative Medicine, UbonRatchathani Rajabhat University, Thailand, 15-16 December, 2014. (Oral Presentation)

8. สิรญาธาสถาน, พรนภา หอมสินธุ์, รุ่งรัตน์ ศรีสุริยเวศน์ และใจเพชร กล้าจน. (2558). ผลของโปรแกรมการกำกับตนเองที่ประยุกต์การแพทย์วิถีพุทธต่อพฤตกรรมดูแลตนเองและระดับความดันโลหิตในผู้ที่เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง. วารสารสาธารณสุขมหาวิทยาลัยบูรพา. 10(1), 117-128.

9. หมอเขียว (ใจเพชร กล้าจน). (2559). การใช้การแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม เพื่อการพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ใน เทวัญ ธานีรัตน์, ชัชดนัย มุสิกไชย, ใจเพชร กล้าจน และสุเมธ พรหมรักษา. แนวทางการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโลหะหนัก. 21-60. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. บทความในวารสารใจเพชร กล้าจน. (2555). “การใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น สูตรหมอเขียว” ใน หมอเขียว. หน้า 32-33. มุกดาหาร : ศูนย์สุขภาพสวนป่านาบุญ (จัดพิมพ์)


รางวัล และประกาศเกียรติคุณที่เคยได้รับ

  • 2536 ข้าราชการโรงพยาบาลดีเด่น
  • 2543 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ วันที่ 5 ธันวาคม 2543 เป็นปีที่ 55 ในรัชกาลที่ 9
  • 2543 รางวัลข้าราชการสาธารณสุขดีเด่น จังหวัดมุกดาหาร
  • 2543 รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น จังหวัดมุกดาหาร
  • 2545 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์วันที่ 5 ธันวาคม 2545 เป็นปีที่ 57ในรัชกาลที่ 9
  • 2553 รางวัลต้นแบบคนดีแทนคุณแผ่นดิน พ.ศ. 2553 เครือข่ายเดอะเนชั่น
  • 2553 รางวัลคนค้นคนอวอร์ด ครั้งที่ 2 สาขาคนต้นเรื่องแห่งปี 2553
  • 2555 รางวัลผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ครั้งที่ 5 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีและวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี พ.ศ. 2555 สาขาแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555
  • 2555 เกียรติบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรม เพื่อการพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  • 2556 ได้รับเชิญจากมูลนิธิอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นองค์ปาฐก แสดงปาฐกถาในงานประชุมสักนานาชาติ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556
  • 2558 รางวัลประกาศกิตติคุณ “ครูดีไม่มีอบายมุข” ด้านพุทธสาธารณสุข สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  • 2558 รางวัลประกาศเกียรติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน”ผู้ประสบความสำเร็จด้านการประชาสัมพันธ์ประเภทบุคคลสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย