เพื่อการสร้างจิตวิญญาณให้ผาสุกที่สุดในโลก
เป็นคัมภีร์ชีวิตที่จะทำให้ชีวิตพ้นทุกข์
ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)
- เรื่องการเข้าใจผิดของเรากับผู้อื่น
เราต้องระลึกรู้ว่า
มันคือวิบากกรรมเขา วิบากกรรมเรา
แก้ไขได้ด้วยการทำดีไม่มีถือสาไปเรื่อย ๆ
แล้ววันใดวันหนึ่งข้างหน้า ในชาตินี้ หรือชาติหน้า หรือชาติอื่นๆ สืบไป
ความเข้าใจผิดนั้นก็จะหมดไปเอง
- เราต้องรู้ว่า
แต่ละคนมีฐานจิตแตกต่างกัน
เราจึงควรประมาณการกระทำให้เหมาะสมกับฐานจิตของเราและฐานจิตของผู้อื่น
“คิดดี พูดดี ทำดีไว้ก่อน” ดีที่สุด
- การกระทำเดียวกัน
มีเหตุผลในการกระทำกว่าล้านเหตุผล
ต้องระวัง “อคติ หรือ ความเข้าใจผิด จากการคาดเดาที่ผิดของเรา”
- สิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมา
ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่เคยทำมา
- ถ้าเรายังไม่เข้าใจคนอื่น
แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจตนเอง
- เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายกับเรา
ไม่มีอะไรบังเอิญ ทุกอย่างยุติธรรมเสมอ
เพราะเราเคยทำเช่นนั้นมามากกว่านั้น
เมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เราก็จะโชคดีขึ้น
- เรามีหน้าที่ทำแต่ละสิ่งแต่ละอย่างให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด
เท่าที่จะพึงทำได้ ให้โลกและเราได้อาศัย
ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะดับไปเท่านั้น
- เราทำดีด้วยการช่วยไม่ให้คนอื่นทำผิดได้ “ก็ช่วย”
แล้ว “วาง” ให้เป็นไปตามวิบากดีของเขา
“ช่วยไม่ได้” ก็ “วาง” ให้เป็นไปตามวิบากร้ายของเขา
เมื่อเขาเห็นทุกข์จนเกินทน จึงจะเห็นธรรม
แล้วจะปฏิบัติธรรมสู่ความพ้นทุกข์
- สิ่งที่มองไม่เห็น
ที่ทำหน้าที่สร้างสิ่งที่มองเห็น และสิ่งที่เป็นอยู่ทุกอย่างในชีวิตของคน
คือ พลังวิบากดีร้ายที่เกิดจากการกระทำทางกาย หรือวาจา หรือใจของผู้นั้น
ในอดีตชาติและชาตินี้ สังเคราะห์กันอย่างละหนึ่งส่วน
- เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายกับเรา
โลกนี้ไม่มีใครผิดต่อเรา เราเท่านั้นที่ผิดต่อเรา
คนอื่นที่ทำไม่ดีนั้น เขาผิดต่อตัวเขาเองเท่านั้น
และเขาก็ต้องได้รับวิบากร้ายนั้นเอง
เขาจึงไม่ได้ผิดต่อเรา แต่เขานั้นผิดต่อตัวเขาเอง
ถ้าเรายังเห็นว่าคนที่ทำไม่ดีกับเราเป็นคนผิดต่อเรา
แสดงว่า เรานั่นแหละผิด
อย่าโทษใครในโลกใบนี้
ผู้ใดที่โทษผู้อื่นว่าผิดต่อตัวเราจะไม่มีทางบรรลุธรรม
นี่คือคนที่ไม่ยอมรับความจริง
เพราะไม่เข้าใจเรื่อง “กรรม” อย่างแจ่มแจ้งว่า
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุกคนได้รับล้วนเกิดจากการกระทำของตนเองเท่านั้น
เมื่อรับผลดีร้ายจากการกระทำแล้ว ผลนั้นก็จบดับไป
และสุดท้ายเมื่อปรินิพพาน ทุกคนก็ต้องสูญจากทั้งดีและร้ายไป
ไม่มีอะไรเป็นสมบัติของใคร เพราะสุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องดับไป
จึงไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องทุกข์กับอะไร”
- การได้พบกับเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเรา ไม่ได้ดั่งใจเรา
เป็นสุดยอดแห่งเครื่องมืออันล้ำค่า ที่ทำให้ได้ฝึกล้างกิเลส
คือ ความหลงชิงชังรังเกียจ หลงยึดมั่นถือมั่นในใจเรา
และ ทำให้ได้ล้างวิบากร้ายของเรา
- ถ้าใครมีปัญหาหรือความเจ็บป่วยในชีวิต
ให้ทำความดี 4 อย่างนี้
ด้วยความยินดี จริงใจ
จะช่วยให้ปัญหาหรือความเจ็บป่วย ลดลงได้เร็ว
- สำนึกผิด หรือยอมรับผิด
- ขอรับโทษ เต็มใจรับโทษ หรือขออโหสิกรรม
- ตั้งจิตหยุดสิ่งที่ไม่ดีอันนั้น
- ตั้งจิตทำความดีให้มาก ๆ
คือ ลดกิเลสให้มาก ๆ
เกื้อกูลผองชนและหมู่สัตว์ให้มาก ๆ
- การพิจารณาเพื่อปราบมาร
คือ ความกลัว เวลาเจ็บป่วย
หรือ พบเรื่องร้าย
จะทำให้ดับทุกข์ใจ ทุกข์กาย และเรื่องร้าย ได้ดีที่สุด คือทำใจว่า
รับเต็ม ๆ หมดเต็ม ๆ
เจ็บ…ก็ให้มันเจ็บ
ปวด…ก็ให้มันปวด
ทรมาน…ก็ให้มันทรมาน
ตาย…ก็ให้มันตาย
เป็นไงเป็นกัน
รับเท่าไหร่หมดเท่านั้น
เพราะสุดท้ายทุกอย่างก็ดับไป
ไม่มีอะไรเป็นของใคร
จะทุกข์ใจไปทำไม ไม่มีอะไรต้องทุกข์ใจ
“เบิกบาน แจ่มใส ดีกว่า”
- เทคนิคทำใจให้หายโรคเร็ว คือ
อย่าโกรธ อย่ากลัวเป็น
อย่ากลัวตาย อย่ากลัวโรค
อย่าเร่งผล อย่ากังวล
- วิธีการ 5 ข้อ
ในการแก้ปัญหาทุกปัญหาในโลก คือ
1) คบและเคารพมิตรดี
2) มีอริยศีล
3) ทำสมดุลร้อนเย็น
4) พึ่งตน
5) แบ่งปันด้วยใจที่บริสุทธิ์
- ตัวชี้วัดว่า
วิธีนั้นถูกกันกับผู้นั้น ทำให้สุขภาพดี
คือ สบาย เบากาย มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก
ตัวชี้วัดว่า
วิธีนั้นไม่ถูกกันกับผู้นั้น ทำให้เสียสุขภาพ
คือ ไม่สบาย ไม่เบากาย ไม่มีกำลัง
ไม่ผาสุก หรือทุกข์ทรมาน
- ตัวชี้วัดว่า
อาหารที่สมดุลร้อนเย็น เป็นประโยชน์
จะทำให้มีโรคน้อย มีทุกข์น้อย คือ
เบาท้อง สบาย เบากาย มีกำลัง อิ่มนาน
ตัวชี้วัดว่า
อาหารที่ไม่สมดุลร้อนเย็น เป็นโทษ
จะทำให้มีโรคมาก มีทุกข์มาก คือ
หนักท้อง ไม่สบาย ไม่เบากาย
ไม่มีกำลัง หิวเร็ว
- หลักการทำดีอย่างมีสุข 6 ข้อ
1) รู้ว่าอะไรดีที่สุด
2) ปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด
3) ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
แล้วลงมือทำให้ดีที่สุด
4) ยินดีเมื่อได้ทำให้ดีที่สุดแล้ว
5) ไม่ติดไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ดีที่สุด
6) นั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุด
- ทำดีให้มาก ๆ
เพื่อจะให้ดีชิงออกฤทธิ์แทนร้าย
ที่เราเคยพลาดทำมาในชาตินี้หรือชาติก่อน ๆ
จะได้มีดีไว้ใช้ในปัจจุบันและอนาคต
ในชาตินี้และชาติอื่น ๆ สืบไป
- ยึดอาศัย “ดี”
ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง” “นั้นดี”
แต่ยึดมั่นถือมั่นว่า
ต้องเกิด “ดี” ดั่งใจหมาย
ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัย ณ เวลานั้น
“ไม่สามารถทำให้ดีนั้นเกิดขึ้นได้จริง”
“นั้นไม่ดี”
- จงทำดีเต็มที่
เหนื่อยเต็มที่ สุขเต็มที่
ไม่มีอะไรคาใจ
ไม่เอาอะไร
คือสุดยอดแห่ง
“ความอิ่มเอิบเบิกบานแจ่มใส”
สาธุ….