ดาวน์โหลดใบสมัครพรรคสัมมาธิปไตย กดที่นี่  ดูรายละเอียดการสมัคร กดที่นี่

การเตรียมวางขันธ์วางร่าง (ส่งวิญญาณ)

การว่างร่างวางขันธ์

การเตรียมวางขันธ์ (ส่งวิญญาณ) ให้สงบผาสุกเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างยิ่งผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ส่งวิญญาณผู้ป่วยให้วางขันธ์ ด้วยความสงบอยู่อย่างพอสมควร โดยอาศัยการศึกษาธรรมะและศึกษาจากครูบาอาจารย์ บูรณาการเข้ากับองค์ ความรู้ในการดูแลสุขภาพ

ซึ่งเดิมทีผู้เขียนไม่ได้คิดที่จะเขียนเรื่อง การวางขันธ์วางร่าง (ส่งวิญญาณ) เลย แต่ก็มีหลายท่านเรียกร้องให้ผู้เขียนบรรยายเรื่องนี้อยู่เสมอ พอบรรยายเสร็จก็บอกว่า เป็นประโยชน์ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ก็จำไม่ได้ จึงเสนอให้ผู้เขียนพิมพ์เป็นหนังสือบทความหรือเอกสาร ประกอบกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปทุมธานีทำโครงการ เพื่อที่จะมาศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลโดยมาฝึกฝนอบรม ระหว่างวันที่ 9-15 สิงหาคม 2552 ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร (หน่วยแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ โรงพยาบาลอำนาจเจริญและสถาบันบุญนิยม)

ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งนี้น่าจะพอเป็นประโยชน์บ้าง จึงได้เขียนเผยแพร่ หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะพอได้ประโยชน์บ้างตามสมควร

1. สังเกตอาการของการใกล้วางขันธ์วางร่าง

ในคนทั่วไปเมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะวางขันธ์ (เสียชีวิต) มักจะมีอาการร้อน (หยาง) นำเด่น ในทางพุทธศาสนาหรือแพทย์แผนไทยจะบอกว่าเป็นอาการไฟธาตุใกล้แตกดับแล้วตามด้วยเย็น (หยิน) นำเด่น คือ อาการร้อนที่สุดตีกลับเป็นเย็น

ตัวอย่างอาการร้อน (หยาง) นำเด่น ได้แก่ สัญญาณชีพ (การหายใจ) ชีพจร ความดันโลหิต อุณหภูมิ) แรงผิดปกติและมักไม่สม่ำเสมอ เช่น หายใจหอบแรงเร็วผิดปกติ จังหวะไม่สม่ำเสมอ ชีพจรแรงเร็วผิดปกติจังหวะไม่สม่ำเสมอความดันสูงโลหิตสูงผิดปกติอุณหภูมิของร่างกายสูงผิดปกติ (บางครั้งอาจวัดด้วยปรอทไม่ผิดปกติแต่ผู้ป่วยรู้สึกร้อนมาก ผิดปกติหรือเราสัมผัสดูจะรู้สึกร้อนผิดปกติ) มักมีอาการเพ้อ เบลอ หลง ลืม กระสับกระส่าย ตาลอย ตาเหลือก แข็งเกร็ง ชักกระตุกตามร่างกายร่วมด้วย อาจเป็นเพียงบางอาการหรือ หลายอาการร่วมกันก็ได้ หลังจากนั้น ก็จะตีกลับเป็นอาการเย็น (หยิน) นำเด่น

ตัวอย่างอาการเย็น (หยิน) นำเด่น ได้แก่สัญญาณชีพเบาผิดปกติจังหวะไม่สม่ำเสมอ เช่น หายใจช้าเบา ผิดปกติ จังหวะไม่สม่ำเสมอ ชีพจรช้า เบาผิดปกติจังหวะ ไม่สม่ำเสมอความดันโลหิตต่ำผิดปกติ อุณหภูมิของร่างกายเย็นผิดปกติ (บางครั้งอาจวัดด้วยปรอทไม่ผิดปกติ แต่ผู้ป่วยรู้สึกเย็นมาก ผิดปกติหรือเราสัมผัสดูจะรู้สึกเย็นผิดปกติ) มักมีอาการบวมเย็น เขียวคล้ำตามปลายมือ ปลายเท้า ริมผีปากหรือตามส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เคลื่อนไหวตัวได้น้อย พูดน้อย ตาลอย เบลอ หลงลืม อาจเป็นเพียงบางอาการ หรือหลายอาการร่วมด้วยกันก็ได้

ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขทั้งสองอาการได้ ผู้ป่วยก็จะวางขันธ์ (เสียชีวิต) บางคนอาจวางขันธ์ด้วยอาการร้อนเด่น บางคนอาจวางขันธ์ด้วยอาการเย็นเด่น บางคนอาจวางขันธ์ด้วยอาการร้อนและเย็นแทรกพร้อมกัน

กรณีผู้ปฎิบัติธรรมที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือผู้ที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี อาการก่อนวางขันธ์หรือเสียชีวิตจะต่างจากคนทั่วไป ก็คืออาการก่อนวางขันธ์ ทั้งร้อนและเย็นจะไม่เด่นความทุกข์ทรมานมีน้อย บางครั้งมีอาการผิดปกติเหมือนคนธรรมดา แต่เจ้าตัวจะรู้ตัวว่าใกล้เวลาวางขันธ์แล้วพลังชีวิตเริ่มลดลงแล้ว เรี่ยวแรงจะค่อย ๆ ลดลงร่างกายจะค่อย ๆ ลดการ ทำงานลง ลดการเคลื่อนไหวลง ค่อย ๆ นิ่งสงบ แล้ววางขันธ์ด้วยความสงบสบาย

2. ลดความทุกข์ทรมานทางกายให้มากที่สุด

ทำให้ผู้ป่วยเกิดสภาพที่รู้สึกสบาย หรือลดความรู้สึกทรมานทางกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการปรับสมดุลร้อนเย็น เช่น การกดนวดเบา ๆ ถ้าผู้ป่วยร่างกายร้อนเกินหรือรู้สึกร่างกายไม่สบายจากอาการร้อนเกินก็เอาผ้าชุบน้ำเย็นหรือสมุนไพรฤทธิ์เย็นมาเช็ด ถ้าร่างกายเย็นเกินหรือรู้สึกไม่สบาย จากอาการเย็นเกินก็เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือสมุนไพรฤทธิ์เย็น่านไฟหรือสมุนไพรฤทธิ์เย็นผสมฤทธิ์ร้อนหรือสมุนไพรร้อนอย่างเดียวตามแต่สภาพร่างกายและความรู้สึกสบายของผู้ป่วย รวมถึงการปรับสมดุลด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การปรับสมดุลแนวเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเทคนิค 9 ข้อ ตามหลักการแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ (บุญนิยม) ซึ่งท่านสามารถติดตามรายละเอียดได้ ในหนังสือ เทคนิคการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียง / ยอดยาดี สุขภาพดีวิถีพุทธ / ถอดรหัสสุขภาพ / ความลับฟ้า / มาเป็นหมอดูแลตัวเองกันเถอะ ซึ่งควรเลือกวิธีการที่ไม่รบกวนความสงบของผู้ป่วยมากจนเกินไปและสามารถลดความทุกข์ทรมานหรือผู้ป่วยรู้สึกสบายกายสบายใจที่สุด

กรณีที่แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าผู้ป่วยไม่มีโอกาสรอดชีวิตแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรเอาสิ่งระคายเคืองร่างกายออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นหลักกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความเห็นได้ก็เอาความสมัครใจของญาติ โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง เพราะอุปกรณ์ที่ช่วยชีวิตต่าง ๆ เช่น ท่อหรือสายต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไปในร่างกาย จะระคายเคืองให้รู้สึกไม่สบายทุกข์ทรมานทำให้วางขันธ์ด้วยความทุกข์ทรมาน ไม่สงบ

มักมีคำถามเสมอว่า ผู้ที่ถอดเครื่องช่วยหายใจจะบาปไหม จะถือว่าเป็นการฆ่าคนไหม ตามภูมิปัญญาของผู้เขียนที่ปฏิบัติธรรมมา 10 กว่าปี มีความเห็นว่า ถ้าแพทย์ผู้ดูแล ลงความเห็นว่า ผู้ป่วยไม่มีโอกาสรอดแล้วต้องตายแน่นอน แสดงว่าแม้ใส่เครื่องช่วยหายใจรวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือช่วยชีวิตอื่น ๆผู้ป่วยก็ต้องเสียชีวิตอยู่แล้ว แต่เสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานจากการระคายเคืองของอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าว แต่ถ้าถอดอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าวออก ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตเช่นเดียวกันแต่เสียชีวิตด้วยความไม่ทุกข์ทรมานจากอุปกรณ์เครื่อง มือดังกล่าวการถอดอุปกรณ์เครื่องมือในกรณีดังกล่าว จึงเป็นบุญกุศลทั้งต่อผู้ป่วยและต่อผู้ช่วยถอดอุปกรณ์เครื่องมือ และเราก็ไม่ได้ฆ่าผู้ป่วยเพราะสิ่งที่ฆ่าผู้ป่วยคือความเจ็บป่วยของเขาเอง และเราก็ได้พากเพียรพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็สุดความสามารถที่เราจะช่วยได้ เราจึงไม่บาป และควรลดหรืองดการใช้ยาเคมีระงับปวดหรือยาเคมีอื่น ๆ ลง ให้อยู่ในระดับผู้ป่วยมีพลังชีวิตสูงสุด คือสบาย เบากาย มีกำลังมากที่สุด หรือยังขันธ์ ยังอัตภาพโดยไม่ยากไม่ลำบาก ไม่ทุกข์ ทรมานจนเกินไป เพราะยาเคมีระงับปวด หรือยาเคมีอื่น ๆ จะกดประสาทให้เบลอทำให้ครองสติลำบากและยาเคมีดังกล่าวก็จะเข้าไปรบกวน และทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของอวัยยะต่าง ๆ ในร่างกายซ้ำเข้าไปอีก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดทุกข์ทรมามากขึ้นเป็นทวีคูณ หลายครั้งไม่ว่าฤทธิ์ของยาไม่ว่าจะเป็นยาระงับปวดหรือยาเคมีอื่น ๆ ทำลายอวัยวะจนเกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานมากกว่าที่ฤทธิ์ของยา จะกดประสาทไม่ให้้รับรู้ว่า เจ็บปวดทุกข์ทรมาน เช่น คนที่เสพยาเสพติด ยาเสพติดก็จะทำร้ายอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายให้ทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้นและต้องเสพมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณสุดท้ายก็ต้องเสียชีวิตด้วยความทุกข์ ทรมานจากพิษของยาเสพติดหรือผู้ป่วยบางคนที่ต้องกินหรือฉีดยาเสพติดระงับปวด ยาเสพติดไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นยาทำให้เกิดโรคเกิดการทำร้ายอวัยวะมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยก็จะได้ทรมานจากโรคเดิมและโรคใหม่อันเกิดจากยาเสพติดสุดท้ายความรุนแรงของโรคที่ทวียิ่งก็จะมากเกินกว่าฤทธิ์ของยาแก้ปวดจะระงับได้ ไม่ว่าจะเป็นยาระงับปวดชนิดต่าง ๆ หรือยาเสพติดระงับปวด ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงและไม่สงบ

ดังนั้น การเรียนรู้วิธีปรับสมดุลเพื่อลดความทุกข์ทรมานจึงเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว สำหรับอาหารและน้ำนั้น ผู้ป่วยที่จะวางขันธ์ร่างกายต้องการอาหารและน้ำในปริมาณที่น้อย หรือบางครั้งก็ไม่ต้องการเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นให้ดูที่สภาพและความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก

3. ประคองสติสู่การวางขันธ์วางร่าง

ผู้ที่จะประคองสติ ควรเป็นผู้ที่มีความเมตตา มีสติสมาธิตั้งมั่น ใจเย็น นิ่งสงบพอสมควรและเป็นผู้ที่ผู้ป่วยไว้วางใจควรใช้เวลาอย่างน้อย 5 -10 นาที ก่อนผู้ป่วยสิ้นใจ (จะพูดก่อนหน้านั้นก็ได้ เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มทุกข์ทรมานมากจนทนได้ยากลำบากและโอกาสหายน้อยมาก) ประเด็นที่ควรสื่อกับผู้ป่วยดังนี้

การปฏิบัติใจที่จะให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะทำให้ฟื้นก็ฟื้นได้ดี เมื่อเสื่อมก็เสื่อมได้ดี ก็คือ เมื่อทีมหมอ ญาติและตัวเขาเองได้พากเพียรพยายามดูแล แก้ไข ปัญหาสุขภาพอย่างดีที่สุดแล้ว ให้ทำใจว่า ถ้าร่างกายนี้จะฟื้นก็ให้ฟื้น ถ้าร่างกายนี้จะเสื่อมก็ให้เสื่อมการทำใจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายและจิตใจเพราะร่างกาย จะฟื้นก็ จะทำให้ฟื้นอย่างดี และถ้าร่างกายจะเสื่อมก็จะทำให้เสื่อมอย่างดี จะทำให้จิตใจสงบผาสุกที่สุดด้วย

การตั้งอยู่หรือการเสื่อมไปไม่ใช่เรื่องแปลกเป็นเรื่องปกติธรรมดาของ ทุก ๆ ชีวิต ทุกชีวิตไม่ว่าใครก็ต้องเผชิญการตั้งอยู่ ก็ต้องเผชิญการเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่มีผู้ใดที่หลีกพ้น การตั้งอยู่ไม่มีผู้ใดที่หลีกพ้นการเสื่อมไปป็นการดำเนินไปและเป็นหน้าที่ของทุกชีวิตที่ต้องตั้งอยู่เป็นการดำเนินไปและเป็นหน้าที่ของทุกชีวิตที่ต้องเสื่อมไปเป็นความปกติธรรมดาที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้หมุนวนเกิดดับอยู่ตลอดกาลนาน

ให้จิตตั้งอยู่ในกุศล ด้วยการหมั่นระลึกถึงคุณงามความดีที่เราเคยทำมาหรือคุณงามความดีของคนที่เราศรัทธา เช่น การพากเพียรดูแลครอบครัว การพากเพียรรับผิดชอบและพัฒนาการงาน การทำประโยชน์ให้กับญาติพี่น้อง บุคคลอื่น ๆ และสังคม เป็นต้น การตั้งจิตอยู่ในกุศลจะทำให้จิตสงบผาสุก ร่างกายก็พลอยสงบตามไปด้วย

ให้ปล่อยวางความวิตกกังวล ความห่วงใยความห่วงหาอาวรณ์ในเรื่องต่าง ๆ ทุกเรื่อง เช่น การห่วงครอบครัวและญาติ ในกรณีที่คนในครอบครัวหรือญาติโตพอที่จะดูแลตัวเอง ได้แล้วไม่ต้องห่วงใคร ถ้ามีบางคนที่ดูแลตัวเองไม่ได้ก็บอกกับผู้ป่วยว่าผู้นั้นผู้นี้จะช่วยดูแลถ้าไม่สามารถระบุบุคคลได้ก็บอกว่าจะมีผู้คอยช่วยดูแลแทนทรัพย์สมบัติบ้านช่องเรือนชาน กิจกรรมการงาน ก็เช่นเดียวกัน บอกกับผู้ป่วยว่ามีใครช่วยดูแลถ้าไม่สามารถระบุบุคคลได้ก็บอกว่าจะมีคนช่วยดูและไม่ต้องห่วงไม่ต้องวิตกกังวล

กรณีที่เรารู้และแน่ใจว่าผู้ป่วยได้บำเพ็ญคุณงามความดีมามาก ก็บอกกับผู้ป่วยว่า “ผู้ป่วยได้บำเพ็ญคุณงามความดีสั่งสมบุญกุศลมามากแล้วภพภูมิใหม่ย่อมเป็นภพภูมิที่ดีกว่า” แล้วค่อยพูดประโยชน์ต่อไป

กรณีที่ไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยได้บำเพ็ญคุณงามความดีหรือไม่ก็ให้เว้นคำพูดนี้แล้วพูดประโยชน์ต่อไปเลยดังนี้ “ถ้าร่างกายที่เรายืม อาศัยอยู่นี้ เสื่อมมากเกินไป แล้วทุกข์ทรมานมากเกินไปแล้ว ก็วางขันธ์วางร่างนี้ แล้วไปเอาภพใหม่ร่างใหม่ที่ดีกว่า ที่ไม่ทุกข์ไม่ทรมานเหมือนที่เป็นอยู่”

เราสามารถพูดสื่อสาระดังกล่าว หรือภาษาใกล้เคียงที่สื่อไปในทำนองสาระดังกล่าว โดยสื่อวนเวียนกลับไปกลับมาหลายรอบก็ได้ โดยดูที่ปฏิกิริยาตอบรับของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรับได้และพยายามปฏิบัติตาม เราก็จะสังเกตเห็นความสงบผาสุกของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรับไม่ได้หรือรับได้แต่รู้สึกพอแล้วก็จะแสดงปฏิกิริยาต้าน หรือสื่ออาการบางอย่าง บอกเรา เช่น ผู้ป่วยยกมือให้เราหยุดหรือมีสีหน้าท่าทีไม่พอใจ รำคาญใจ ก็ให้เราหยุดสื่อสาระดังกล่าว ด้วยจิตเมตตา ไม่ถือสา ในขีดความสามารถที่จะรับสาระของผู้ป่วย แล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของเหตุปัจจัย

ถ้าเราพูดสาระในการวางขันธ์วนหลายรอบพอสมควรแล้ว ผู้ป่วยก็ยังไม่วางขันธ์อยู่ก็ให้เราพักการพูดสาระนั้น โดยอาจไม่กลับมาพูดอีก แต่ผู้ป่วยก็จะเอาสาระนั้นไปใช้เวลา ต้องวางขันธ์จริง ๆ หรือถ้าองค์ประกอบเหตุปัจจัยสมควรจะกลับมาพูดอีก เมื่อประเมินว่าผู้ป่วยใกล้จะวางขันธ์เราก็อาจจะมาพูดซ้ำอีกได้

ในขณะที่ใกล้วินาที่สุดท้ายที่ผู้ป่วยจะวางขันธ์เราจะสังเกตเห็นการหายใจเฮือกใกล้สุดท้ายหรือเฮือกสุดท้ายเป็นการหายใจที่ค่อย ๆ นิ่ง ค่อย ๆ สงบ ซึ่งผู้ป่วยต้องรวบรวม กำลังกายกำลังใจเพื่อจะวางร่างวางขันธ์ เราอาจให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการบอกผู้ป่วยว่าทำมาได้ดีแล้วใกล้จะสำเร็จแล้ว ให้พยายามอีกนิดนึ่ง อีกอึดใจหนึ่งก็จะสำเร็จแล้วพูดซ้ำวนกลับไป กลับมาเรื่อย ๆ จนผู้ป่วยสามารถรวบรวมกำลังกายกำลังใจแล้ววางขันธ์ด้วยความสงบ

เมื่อผู้ป่วยวางขันธ์แล้ว ผู้ป่วยจะหยุดการเคลื่อนไหว สมองไม่ทำงาน ไม่มีการตอบโต้ใด ๆ หัวใจหยุดเต้น ไม่สามารถวัดชีพจรที่ข้างคอหรือต้นขาด้านในได้ ถ้าตาของผู้เสีย ชีวิตยังไม่ปิด ก็ให้ปิดตาลงกดค้างไว้สักพักเพื่อให้อยู่ตัวจัดส่วนประกอบของใบหน้าและร่างกายให้เข้าที่เข้าทางดูดีตามสมควร แล้วให้ญาตินำศพไปดำเนินการตามจารีตประเพณีต่อไป

4. ประคองสติญาติ

การชื่นชมความสำเร็จในการวางขันธ์อย่างสงบของผู้เสียชีวิต และผู้เสียชีวิตก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความเสื่อมหรือโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้ากายขันธ์ของผู้ป่วยให้ญาติฟังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ญาติมีกำลังใจ สุขใจ ภูมิใจ และคลายความเศร้าโศกเสียใจลงได้บ้าง

ครูบาอาจารย์ของผู้เขียนเวลาไปแสดงธรรมที่งานศพ มักจะเล่าเรื่องราวในชาดกครั้งสมัยพุทธกาลเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาสาระดังนี้ เมื่อครั้งพุทธกาลมีหญิงนางหนึ่ง ที่พ่อแม่สามีและทุกคนของนางได้เสียชีวิตในเวลาลาไล่เลี่ยกัน นางได้เศร้าโศกเสียใจมากจนแทบจะเป็นบ้า จึงได้ไปพบพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามถึงยาที่จะช่วยชุบชีวิตของพ่อแม่สามีและลูกของนาง พระพุทธเจ้าตรัส ให้ไปหาเมล็ดผักกาดในบ้านที่คนอยู่ในบ้านไม่มีญาติตายมาชุบชีวิต นางจึงเที่ยวไปสอบถามแต่ละบ้าน ปรากฏว่า ไม่ว่าจะไปถามบ้านหลังไหนต่อหลังไหน คนที่อยู่ในบ้านก็ล้วนแต่มีญาติคนนั้นคนนี้เสียชีวิตทั้งนั้น เช่น บ้านแต่ละหลัง ก็บอกว่า พ่อตายบ้าง แม่ตายบ้าง สามีตายบ้าง ภรรยาตายบ้าง บุตรบ้าง หลานตายบ้างเหลนตายบ้างญาติคนนั้นคนนี้ตายบ้าง เป็นต้น

นางก็เลยเข้าใจความจริงว่า ชีวิตที่เกิดมาทุกชีวิตก็ต้องมีญาติพี่น้องตายพรากจากกันไปเป็นธรรมดาเหมือน ๆ กันหมด ไม่ช้าก็เร็วไม่มีชีวิตใดหลีกหนีพ้นไปได้ไม่ใช่เราคนเดียวที่มีสภาพเช่นนั้น ทุกคนล้วนมีสภาพเช่นเดียวกันหมด นางจึงคลายความเศร้าโศกเสียใจลงแล้วไปฟังธรรมพระพุทธเจ้าจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

ผู้เขียนเองเมื่อมีเหตุปัจจัยพอเหมาะ ก็มักเราเรื่องราวเหล่านี้ให้ญาติผู้เสียชีวิตฟังเสมอว่า ถ้าผู้เสียชีวิตรู้ว่าเราเสียใจ เป็นทุกข์ ผู้เสียชีวิตก็คงไม่สบายใจวิตกกังวลห่วงหาอาวรณ์จิตใจไม่สงบไปสู่สุขติไม่ได้แต่ถ้าเขารู้ว่าเราสงบไม่เอาเรี่ยวแรงกำลังไปเศร้าโศกเสียใจแต่เอาเรี่ยวแรงกำลังมาดำเนินกิจกรรมการงานให้เรียบร้อยอย่างพอเหมาะพอดี ผู้เสียชีวิตก็จะไปสู่สุคติอย่างไม่ห่วงหาอาลัย

เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป ความเศร้าโศกเสียใจความห่วงหาอาลัยก็จะจางคลายไป แม้จะมีอาการดังกล่าววนกลับมาบ้างเป็นบางคราว เป็นธรรมดาที่พลังงานความรู้สึกดังกล่าว ยังไม่หมดไป ยังฝังค้างอยู่ในจิตวิญญาณเรา เราสามารถล้างพลังงานความรู้สึกทุกข์รู้สึกไม่สบายดังกล่าวได้ด้วยการหมั่นพิจารณาไตร่ตรอง ยอมรับความเป็นจริงว่าทุกชีวิตก็เป็นธรรมดาอย่างนั้น มันเป็นเพียงวัตถุสสารและพลังงานที่หมุนวนเกิดดับอยู่ในโลกเป็นธรรมดาตราบชั่วกาลนาน ไม่ใช่สุขใช่ทุกข์ในใจเรา การที่เราสร้างอารมณ์ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจห่วงหาอาลัย ก็เป็นการสร้างความทุกข์ ความไม่สบายให้กับจิตใจและร่างกายเปล่า ๆ ไม่มีประโยชน์อะไร และเราหรือใคร ๆ ก็ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความจริงได้ แต่ถ้าเรายอมรับความจริง ก็จะทำให้จิตใจเราสงบสบาย ร่างกายก็พลอยสบายไปด้วย

เมื่อเราหมั่นพิจารณาไตร่ตรองความจริงดังกล่าวก็จะทำให้อารมณ์รู้สึกทุกข์ใจไม่สบายใจดังกล่าว ค่อย ๆ จางคลายไป แม้มีอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าววนกลับมาอีกกี่ครั้งก็ตามก็ให้เราพิจารณาไตร่ตรองความจริง ยอมรับความจริง ความเศร้าโศกเสียใจ ความห่วงหาอาลัยอาวรณ์ ก็จะลดน้อยลง ๆ และหมดไปในที่สุด

ท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้ คงจะพอเป็นประโยชน์กับพี่น้องผองเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมเกิดร่วมแก่ร่วมเจ็บร่วมตายบ้าง

จริงใจไมตรี

ใจเพชร กล้าจน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

No Results Found

The page you requested could not be found. Try refining your search, or use the navigation above to locate the post.