2. บันทึกกลุ่มตัวอย่างจาก ผู้ใช้การแพทย์วิถีพุทธที่เป็นจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธ
ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2558
(ประเภทข้อมูลที่ 10 แบบบันทึกกรณีศึกษาของจิตอาสาและนักศึกษาแพทย์วิถีพุทธ และข้อมูลที่ 12 แบบสอบถามประสบการณ์การใช้แพทย์วิถีพุทธ เทคนิค 9 ข้อ)
กรณีศึกษาที่ | 2.51 |
ชื่อ | นางพรรณทิวา เกตุกลม (อี๊ด) |
เพศ | หญิง |
อายุ | 51 ปี |
จังหวัด | มุกดาหาร |
อาการ | ข้อต่อสะโพกเคลื่อนหลุดจากเบ้า (เนื่องจากประสบอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า) |
วันสัมภาษณ์ | 9 มีนาคม 2558 |
จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธพรรณทิวา เกตุกลม มาเรียนรู้เรื่องสุขภาพจนมาเป็นจิตอาสา ทำงานช่วยกลุ่มแพทย์วิถีธรรม จะได้รับคำสอนคำแนะนำที่ดี ๆ จากคุณหมอเขียวเสมอ อะไรที่ไม่ดีไม่งามไม่เหมาะสม คุณหมอก็จะอธิบาย จะชี้แจงให้กับพี่น้องหมู่กลุ่มฟัง ท่านจะเมตตาบรรยายธรรมะต่าง ๆ ให้พวกเราเข้าใจสัจจะความจริงแท้ แม้พวกเราจะทำอะไรไม่ถูกไม่งาม ท่านก็จะแนะนำตักเตือน จะไม่เคยเห็นท่านโกรธใครเลย ท่านจะมีความเบิกบานแจ่มใส ยิ้มอยู่ตลอดเวลา นอกจากช่วงที่งานยุ่งมาก ๆ หรือช่วงไม่สบายจากการโหลดงานเท่านั้น
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 เวลาประมาณ 21.45 น. ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า ร่วมกับ จิตอาสาอิทธิชัย จันทชาติและ จิตอาสาครองศิลป์ รักภักดี
อาการเริ่มแรกที่ได้รับอุบัติเหตุ มีแผลในริมฝีปากล่างเย็บ 5 เข็ม มีแผลถลอกที่หน้าผากด้านขวา มีอาการ ปวดที่สะโพกข้างขวา เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ทำการ X- ray พบว่าข้อต่อสะโพกเคลื่อนหลุดจากเบ้า ได้รับการผ่าตัดจัดข้อต่อกระดูกสะโพกให้เข้าที่ เพราะพิจารณาเรื่องผลของกรรม มันได้เวลาเขาไม่มีทางหลีกหนีพ้นได้ ก็อาศัยพิจารณากรรมซ้ำ ๆ
วันที่ 16-25 กุมภาพันธ์ 2558 ผ่าตัดสะโพก รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ดื่มน้ำมะพร้าวกินข้าวต้มกับผักลวกจิ้มเกลือและถั่วลิสงต้ม ไม่มีอาการปวดแผลเลย แต่วันที่ทานละมุด (ผลไม้ฤทธิ์ร้อน) ปรากฏว่าปวดแปล๊บไปที่แผลทันที
จากการเยี่ยมอาการของจิตอาสา พรรณทิวา เกตุกลม บ่ายนี้วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 สรุปอาการแผลที่คางแห้งสนิทดีเหมือนว่า “หายเร็ว” จากการประเมินของพยาบาลที่ทำแผลให้ เหลือแผลบริเวณหน้าผาก บริเวณหลังเท้าขวา ฉีดพ้นด้วยน้ำฉี่หมัก เน้นการบริหารข้อเท้าเพื่อให้ลมปราณเดินสะดวกให้ออกกำลังขาด้วยวิธีการเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อแบบ Isometric เช่น การกระดกข้อเท้าขึ้นแล้วเกร็งน่องและขาท่อนบนยังคงใช้วิธีการถ่วงน้ำหนัก เพื่อดึงสะโพกให้เข้าที่ (Skintraction) โดยการใช้แผ่นเหล็กน้ำหนัก 2 กิโลกรัม หรือ 4.4 ปอนด์ เป็นน้ำหนักดึงที่ช่วงเหนือข้อเท้า อาหารเน้นผักปั่นยังไม่ค่อยอยากเคี้ยว เพราะมีแผลเย็บในปาก
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 แพทย์อนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้ หลังจากออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร มีอาการเจ็บและตึงแผลที่ถูกผ่าตัดตรงสะโพกด้านขวา เท้าก็เจ็บและบวมอย่างเห็นได้ชัด พี่รวม (พ่อบ้าน) ได้ใช้กาบและใบพลับพลึงมานึ่ง เพื่อนำมาประคบตั้งแต่สะโพกลงมาถึงเท้า เพื่อบรรเทาอาการบวมและเจ็บที่เท้า
สาเหตุเกิดจากการนอนท่าเดียวเป็นเวลานานตั้งแต่ตอนอยู่โรงพยาบาล จะเหยียดขาตรง ๆ ก็ไม่ได้ เพราะจะตึงตั้งแต่สะโพก ถึงเข่า ในตอนเย็นก็จะแช่มือแช่เท้าที่ต้มด้วยสมุนไพรฤทธิ์เย็น ผสมกับสมุนไพรฤทธิ์ร้อน เช่น ใบเตย ใบเปล้า ใบมะขาม ข่า ตะไคร้ หลังจากแช่แล้วในวันรุ่งขึ้นอาการเจ็บที่เท้าก็หายไปอาการบวมก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด วันต่อมาได้เพิ่มสมุนไพรฤทธิ์ร้อนขึ้นอีกโดยทุบหอมแดงใส่ ในหม้อต้มน้ำด้วยแล้วนำมาแช่ อาการก็ดีขึ้นอีกเป็นลำดับ มีการกดจุดลมปราณที่แขนและขาพร้อมด้วยการออกกำลังกายของขา โดยการนั่งแล้วใช้ขาซ้ายช่วยแกว่งขาขวาและกระดิกนิ้วเท้าบ่อย ๆ คุณหมอที่โรงพยาบาลให้คำแนะนำในการฝึกเดินโดยใช้ Walker ช่วยเพื่อว่ายังไม่ให้เท้าขวาถูกพื้น เพราะเกรงว่าแรงถ่วงของร่างกายจะทำให้กระดุกเคลื่อนได้ ส่วนแผลที่ถูกผ่าตัดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 คุณหมอโรงพยาบาลดอนตาลได้ทำการตัดไหมที่ผ่าตัดบริเวณสะโพกแล้ว หลังตัดไหมแล้วปรากฏว่ามีหนองซึมออกตรงรอยเข็มเย็บแผลเล็กน้อย หมอก็ได้ล้างแผลให้ และนัดล้างแผลอีกทุกวันจนถึงวันที่ 5 มีนาคม หนองที่มีอยู่ก็หายไป และแผลก็แห้งสนิทดี หลังจากตัดไหมแล้ว อาการตึงที่แผลก็หายแต่มีอาการคันที่แผลแทน ได้ใช้น้ำปัสสาวะทาและลูบเบา ๆ บริเวณรอบ ๆ แผลเป็นการทำกัวซาไปในตัว แผลดีไม่มีอาการปวด กำลังฝึกเดิน สภาพร่างกายดีขึ้นเรื่อย ๆ สภาพจิตใจเบิกบานแจ่มใสไม่ทุกข์ไม่กังวล ทานอาหารได้มากขึ้นระบบการย่อยดีขับถ่ายปกติดี
ส่วนที่ยังมีอาการเจ็บ คือ บริเวณหน้าอก ถ้าไอหรือจามก็จะรู้สึกเจ็บ แต่คุณหมอก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร ในการขับถ่ายแรก ๆ ที่กลับจากโรงพยาบาล เวลาจะเข้าห้องน้ำเพื่อจะขับถ่ายเองหรือจะทำการสวนล้างลำไส้ใหญ่ พี่อี๊ดจะนั่งรถเข็นไปห้องน้ำ แต่ตอนหลังก็จะขับถ่ายในที่พัก เพราะเกรงว่าจะกระเทือนถึงแผล เรื่องอาหารในตอนเช้าจะปั่นน้ำผักผลไม้ให้ก่อนแล้วค่อยกินอาหารเมื่อรู้สึกหิวหรือได้เวลากินอาหาร ซึ่งพี่อี๊ดขอให้เพิ่มฤทธิ์ร้อนผสมด้วยเพราะกินแล้วรู้สึกได้พลังมากขึ้น วันหนึ่งมีเมนูข้าวคลุกกะปิแต่รสไม่จัด ปรากฏว่าพี่อี๊ดกินจนหมดจานและบอกว่ารู้สึกสบายตัวและมีพลังขึ้นวันต่อมาจึงมีเมนูน้ำพริกกะปิเจตามมาอีกพร้อมกับผักลวก ผักสด พี่อี๊ดก็กินหมดอีก พร้อมบอกว่าถั่วพูกินกับน้ำพริกเข้ากันดี ก็ตั้งข้อสังเกตว่าพี่อี๊ดคงจะกินอาหารฤทธิ์เย็นมามากแล้วถึงเวลาที่ร่างกายคงต้องการอาหารฤทธิ์ร้อนบ้าง
เทคนิค 9 ข้อ ของแพทย์วิถีธรรม ที่พี่อี๊ดได้ใช้มาตลอดคือ ข้อ 8 การใช้ธรรมะทำใจให้สบายผ่อนคลายความเครียด พี่อี๊ดเล่าให้ฟังว่าการที่ได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้ไม่รู้สึกทุกข์หรือกังวลอะไร มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ที่ต้องติดอยู่ในรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุจนไปอยู่ในโรงพยาบาลแล้วกลับมาที่ดอนตาล ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในสภาพเดิมที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้ เคยทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ ต้องมาอยู่ในสภาพที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก แต่ใจก็ไม่รู้สึกทุกข์ไม่รู้สึกกังวล ไม่เหมือนครั้งที่เป็นเริมที่ใบหน้า และครั้งที่มีอาการคันตามตัว ครั้งนั้นจะทุกข์มากมีความกังวลมาก ต่างจากครั้งนี้ ที่ไม่มีความทุกข์ใจเลย แม้ร่างกายจะมีความเจ็บแต่ใจก็ยังสบายไม่ได้เจ็บไปกับกาย