การดูแลสุขภาพ
การดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรม
ระบบการดูแลสุขภาพที่ดี ที่มีประสิทธิภาพสูงและสมบูรณ์แบบที่สุด ก็คือ ระบบที่สามารถผสมผสานการดูแลสุขภาพในทุก ๆ แผนเข้าด้วยกัน ด้วยการเอาจุดดี จุดเด่น จุดสำคัญของแต่ละแผนมารวมกัน โดยอาศัยคุณธรรมเป็นหลักนำ ซึ่งก็คือ ยึดความ เต็มใจ ความสมัครใจ ความเป็นประโยชน์ ความประหยัด ความปลอดภัย สภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น และการพึ่งตนเองได้ของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะถ้าใช้ระบบการดูแลสุขภาพที่เน้นแผนปัจจุบันอย่างเดียว อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งโดยเนื้อแท้ที่เป็นอยู่จริงแล้ว บุคลากรด้านสุขภาพจำนวนไม่น้อย ที่มักมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ มากกว่าต้นเหตุ มุ่งใช้เทคนิคและทรัพยากรที่ประชาชนผลิตเองไม่ได้ มากกว่าการใช้เทคนิคและทรัพยากรที่ประชาชนผลิตเองได้ มุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งเจ้าหน้าที่สุขภาพ มากกว่าการพึ่งตนเอง ทำให้ปัญหาสุขภาพของประชาชน ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ๆ เพราะต้นเหตุของปัญหาจะสะสมมากขึ้น ๆ และร่างกายของคนก็แก่ชรา ทรุดโทรมไปข้างหน้าอยู่แล้ว
ดังนั้น ไม่ว่าจะพัฒนาเทคนิควิธีการในการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุให้เก่งกาจสามารถมากแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายวิธีการที่พัฒนาขึ้นมานั้น ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะเป็นจุดอ่อนที่น่ากลัวที่สุด น่าอับอายขายหน้าที่สุด เสียเวลา เสียแรงงานและเสียทรัพยากรมากที่สุด พึ่งตนเองได้น้อยที่สุด ทุกข์ทรมานมากที่สุดและล้มเหลวที่สุดของระบบสุขภาพที่มัววนตีกรอบกักขังตนไว้กับวิทยาศาสตร์การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุอย่างเดียวอย่างเอาจริงเอาจัง แล้วหลงเข้าใจว่าเป็นความเก่งที่สุด ดีเลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด ไม่มีสิ่งอื่นมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า
สุดท้ายก็วนอยู่กับทางตันและตายไปพร้อมกับความหลงผิดนั้นทุกภพทุกชาติ อย่างน่าสงสาร น่าเห็นใจที่สุด จนกว่าจะพัฒนาจิตวิญญาณของตนให้สูง ให้ประเสริฐ ให้ใจกว้าง ให้กล้าหาญ ที่จะศึกษาพิสูจน์วิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพทางเลือก วิทยาศาสตร์สุขภาพแผนไทย วิทยาศาสตร์สุขภาพเชิงธรรมะและจิตวิญญาณ เป็นต้น
การนำเอาจุดดี จุดเด่น ของระบบสุขภาพทุก ๆ แผน ที่พิสูจน์ได้โดยหลักวิทยาศาสตร์ มาผสมผสานประยุกต์บูรณาการเข้ากับวิถีชีวิต ให้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองและประชาชน โดยเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังตัวชี้วัดตามพระไตรปิฎก เล่ม 12 ข้อ 265 ”กกจูปมสูตร” ซึ่งเป็นชี้วัดของการมีสุขภาพที่ดี 5 ข้อ ดังนี้
1. มีความเจ็บป่วยน้อย
2. มีความลำบากกายน้อย
3. มีความเบากาย
4. มีกำลัง
5. เป็นอยู่ผาสุก (มีความสุขทั้งด้านร่างกายและจิตใจ)
(วิธีการใดก็ตามที่ทำให้เกิดผล 5 ข้อนี้ ถือว่าใช้ได้) พร้อมทั้งประหยัดและพึ่งตนเองได้มากที่สุด นั้นคือสุดยอดของระบบสุขภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด
ตามหลักการแพทย์วิถีธรรม พบว่า ภาวะร้อนเย็นไม่สมดุลทำ ให้เกิดโรคทุกโรค เช่น มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน รวมทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อต่างๆ การปรับสมดุลร้อนเย็น จะส่งเสริมให้ สุขภาพแข็งแรงขึ้น ช่วยลดโรคทุกโรค
แก่นหลักของการดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรม คือ สานพลังกับหมู่มิตรดี ลดกิเลส เครื่องกังวล เครื่องเบียดเบียน ช่วยเหลือผู้อื่น และ เทคนิค 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด)
มนุษยชาติทั่วโลกประสบกับปัญหาสุขภาพ 3 ประการหลัก ได้แก่
- ปริมาณผู้ป่วย ชนิดและความรุนแรงของความเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
- ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น
- ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพด้วยตนเองน้อยลง การบริหารจัดการองค์ความรู้และการดำเนินการที่มีอยู่ในระบบปกติ ช่วยลดปัญหาได้เพียงบางส่วน ยังมีปัญหาอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ยิ่งไปกว่านั้นกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นๆ องค์ความรู้การแพทย์วิถีพุทธหรือการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรมได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างสุขภาวะช่วยลดหรือแก้ปัญหาดังกล่าว และวิเคราะห์สังเคราะห์องค์ความรู้โดยใช้แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการสร้างสุขภาวะตามหลักพุทธศาสนา การสร้างสุขภาวะตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพัฒนาสุขภาวะตามหลักวิทยาศาสตร์สุขภาพแผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการแพทย์พื้นบ้าน ทฤษฎีสสารและพลังงาน และทฤษฎีขั้วตรงกันข้ามเชิงสุขภาพ
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรค/อาการเจ็บป่วย ตามหลักแพทย์วิถีพุทธเกิดจาก 5 ประการใหญ่ ๆ ได้แก่
- ความร้อนเย็นไม่สมดุลด้านวัตถุ
- ทำบาป/อกุศลกรรม
- การไม่บำเพ็ญบุญกุศล
- ความกลัว/ความใจร้อน/ความกังวล/ความเศร้าหมอง
- การคบมิตรที่ไม่ดี การอยู่ในสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ดี
สาเหตุความเจ็บป่วย 9 ข้อย่อย
- อารมณ์เป็นพิษ เช่น ความเครียด ความเร่งรีบ/ เร่งรัด/ เร่งร้อน ความกลัว ความวิตกกังวล ความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ความไม่พอใจ ความมุ่งร้าย อาฆาต พยาบาท ความโลภ โกรธ หลง ยึดเกิน เอาแต่ใจตัวเอง เป็นต้น
- อาหารเป็นพิษและไม่สมดุล พิษจากอาหาร เช่น พิษจากอาหารมีสารพิษสารเคมี อาหารมีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์มากเกินไป อาหารปรุงรสจัดเกินไป สัดส่วนและชนิดของอาหารไม่สมดุล ไม่รู้เทคนิคการปรุงอาหาร พิษจากของเสียและความร้อนจากขบวนการย่อยและเผาผลาญอาหาร ไม่รู้เทคนิคในการรับประทานอาหารสุขภาพอย่างสมดุลและผาสุก และไม่รู้วิธีปฏิบัติในการลดละล้างความอยากในจิตต่ออาหารที่เป็นพิษอย่างถูกตรง
- พิษจากการไม่ออกกำลังกาย หรือการออกกำลังกายและอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง
- พิษจากมลพิษต่าง ๆ ในโลกเพิ่มมากขึ้น เช่น มิตรสหายที่ไม่ดี อุณหภูมิบรรยากาศโลกที่ร้อนขึ้น ควันพิษ และสารพิษต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
- พิษจากการสัมผัสเครื่องยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้ามากเกินความสมดุล
- ไม่พึ่งตน ด้วยวิธีที่ประหยัดเรียบง่าย ในการลดความรุนแรงของพิษหรือระบายพิษออกจากร่างกาย
- การเพียรการพักที่ไม่พอดี
- บาปอกุศลและความกังวล จะทำให้ความเสื่อมรุนแรงยิ่งขึ้นมีโรคมากและอายุสั้น บุญกุศลและความไร้กังวล จะทำให้แข็งแรงอายุยืน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้” (ขุ.ขุ.25/30), “ผู้ผิดศีลย่อมตกนรก(เดือดเนื้อร้อนใจ)” (องฺ.สตฺตก.23/130), “การไม่ทำบาป นำสุขมาให้ (ขุ.ขุ.25/59), “ความสั่งสมบุญ นำสุขมาให้” (ขุ.ขุ.25/30), “เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้, เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้” (ม.มู.12/64), “ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงผู้หมดกังวล”(สํ.ส.15/122)
- การบูรณาการองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ ส่วนใหญ่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ คือ ไม่สามารถลดปัญหาสุขภาพด้วยการแก้การแก้ที่ต้นเหตุ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สูง และ คนพึ่งตนเองในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพตนเองได้น้อยลง
กลุ่มอาการเจ็บป่วย
ตามหลักแพทย์วิถีธรรม 5 กลุ่มอาการ
กลุ่มอาการของภาวะร่างกายร้อนเกิน
อาการของภาวะร้อนเกิน (ยุคนี้ 80% มักจะร้อนเกิน ) อาการหลัก (อาการที่ถูกต้อง) เมื่อกระทบอากาศร้อน อาหารหรือสมุนไพรหรือสิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนแล้วรู้สึกไม่สบาย เมื่อกระทบอากาศเย็น อาหารหรือสมุนไพรหรือสิ่งที่มีฤทธิ์เย็นแล้วรู้สึกสบาย อาการเด่น (อาการที่มักเป็นในลำดับแรกแต่อาจเป็นสภาพอื่นได้) ปากคอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำแล้วรู้สึกสดชื่น
ปวด บวม แดง ร้อน ตึง แข็ง มึน ชา แผลพุพอง ผื่น คัน ปัสสาวะเข้มปริมาณน้อย อุจจาระแข็ง กำลังตก อ่อนเพลีย หนักตัว ชีพจรเต้นแรง เส้นเลือดขยายตัว
แก้ไขด้วยการใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็น
กลุ่มอาการของภาวะเย็นเกิน
อาการของภาวะเย็นเกิน (ยุคนี้ 5% มักจะเย็นเกิน) อาการหลัก (อาการที่ถูกต้อง) เมื่อกระทบอากาศเย็น อาหารหรือสมุนไพรหรือสิ่งที่มีฤทธิ์เย็นแล้วรู้สึกไม่สบาย เมื่อกระทบอากาศร้อน อาหารหรือสมุนไพรหรือสิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนแล้วรู้สึกสบาย อาการเด่น (อาการที่มักเป็นในลำดับแรกแต่อาจเป็นสภาพอื่นได้) ปากชุ่ม ไม่กระหายน้ำ รสของน้ำจืดผิดปกติ ปวด เหี่ยว ซีด เย็น ตึง แข็ง มึน ชา ท้องอืด หัวตื้อ มือเย็น เท้าเย็น หนาวสั่น ปัสสาวะใสปริมาณมาก อุจจาระเหลว กำลังตก อ่อนเพลีย หนักตัว ชีพจรเต้นเบา เส้นเลือดหดตัว
แก้ไขด้วยการใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อน
กลุ่มอาการภาวะร้อนเกินและเย็นเกินเกิดขึ้นพร้อมกัน (ร้อนเย็นพันกัน)
15% ของคนยุคนี้มักจะมีทั้งภาวะร้อนเกินและเย็นเกินเกิดขึ้นนพร้อมกัน อาการหลัก (อาการที่ถูกต้อง) กระทบสิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนอย่างเดียวก็รู้สึกไม่สบาย กระทบสิ่งที่มีฤทธิ์เย็นอย่างเดียวก็รู้สึก ไม่สบาย แต่เมื่อกระทบทั้งสิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนและสิ่งที่มีฤทธิ์เย็นผสมกันแล้วรู้สึกสบาย เช่น อยู่ในร่มหรือที่อากาศเย็นแล้วรู้สึกหนาว อยากตากแดดหรืออยากอยู่ในที่อากาศร้อน พอตากแดดหรืออยู่ในที่อากาศร้อน แล้วรู้สึกสบาย สักพักรู้สึกร้อนไม่สบายตัว อยากเข้าร่มหรืออยากอยู่ในที่อากาศเย็น พอเข้าร่มหรืออยู่ในที่อากาศเย็นก็สบายดี สักพักเกิดอาการหนาวไม่สบาย อยากตากแดดหรืออยากอยู่ในที่อากาศร้อน สลับไปมาแบบนี้เรื่อย ๆ
แสดงว่าชีวิตต้องการทั้งพลังร้อนและเย็นมาสังเคราะห์ในเวลาเดียวกัน แสดงว่าเป็นอาการ ภาวะร้อนเกินและเย็นเกินเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือกินอาหารหรือสมุนไพรฤทธิ์ร้อนอย่างเดียวก็รู้สึกไม่สบาย กินอาหารหรือสมุนไพรฤทธิ์เย็นอย่างเดียวก็รู้สึกไม่สบาย แต่กินอาหารหรือสมุนไพรทั้งฤทธิ์ร้อนและเย็น ผสมกันแล้วรู้สึกสบาย แสดงว่าชีวิตต้องการสารและพลังงานทั้งร้อนและเย็นมาสังเคราะห์ในเวลาเดียวกัน แสดงว่าเป็นอาการภาวะร้อนเกินและเย็นเกินเกิดขึ้นพร้อมกัน
อาการเด่น (อาการที่มักเป็นในลำดับแรก แต่อาจเป็นสภาพอื่นได้) ไข้สูง (เป็นร้อน) แต่หนาวสั่น (เป็นเย็น) ปวดศีรษะ (เป็นร้อน) ร่วมกับท้องอืด (เป็นเย็น) ตัวร้อน (เป็นร้อน) ร่วมกับมือเท้าเย็น (เป็นเย็น) เป็นต้น
แก้ไขด้วยการใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนและเย็นผสมกัน
กลุ่มอาการร้อนหรือร้อนเย็นพันกันตีกลับเป็นอาการเย็น (เย็นหลอก)
เมื่อใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนแก้ อาการจะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม แต่พอใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็นกลับรู้สึกสบาย ก็ให้ใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็น เพราะต้นเหตุเกิดจากร้อน ถ้าใช้ร้อนเย็นผสมกันแล้วรู้สึกสบาย ก็ให้ใช้ร้อนเย็นผสมกัน แสดงว่าต้นเหตุเกิดจากร้อนเย็นพันกัน
ตัวอย่างเช่น อาการท้องอืด โดยทั่วไปเป็นภาวะเย็นเกิน เกิดจากเมื่อเย็นมากเกินจนทำให้ เส้นเลือดในกระเพาะอาหารลำไส้หดตัวเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวกและเนื้อเยื่อไม่ทำงาน ทำให้ย่อยไม่ได้ เกิดอาการท้องอืดขึ้น เมื่อใส่สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อน เส้นเลือดขยายตัว เลือดลมก็จะไหลเวียนสะดวกและเนื้อเยื่อ กลับมาทำงานย่อยได้ อาการท้องอืดก็จะหายไป
แต่ถ้าเป็นท้องอืดที่เกิดจากร้อนมีกลไกคือ โดยปกติเมื่อมีภาวะร้อนเส้นเลือดจะขยายตัว แต่เมื่อร้อนถึงขีดหนึ่ง สัญญาของชีวิตจะสั่งให้ระบบประสาทอัตโนมัติสั่งให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวบีบเอาพาร้อนเกินออก กล้ามเนื้อจึงกดทับเส้นเลือดเส้นประสาท ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ได้
รวมทั้งเมื่อร้อนมาก เนื้อเยื่อก็ไม่ทำงาน ทำให้ย่อยไม่ได้ จึงเกิดอาการท้องอืดขึ้น เป็นสภาพร้อนที่สุดตีกลับเป็นเย็น ถ้าแก้ด้วยการใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนแก้ กล้ามเนื้อก็จะยิ่งเกร็งตัวบีบพิษร้อนออกแรงกว่าเดิมและเนื้อเยื่อก็จะยิ่งไม่ทำงาน อาการท้องอืดก็จะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม
แต่พอใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็น กลับรู้สึกสบาย ก็ให้ใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็น เพราะต้นเหตุเกิดจากร้อน กลไกก็คือ เย็นที่ใส่เข้าไปจะดับพิษร้อนที่กำลังทำร้ายชีวิตอยู่ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และเนื้อเยื่อกลับมาทำงาน เพราะไม่มีพิษร้อนทำร้ายชีวิตแล้ว จึงย่อยได้ อาการท้องอืดก็จะหายไป
สำหรับท้องอืดที่เกิดจากร้อนเย็นพันกัน กลไกเกิดจากกล้ามเนื้อเกร็งตัวบีบเอาพิษร้อนเย็นพันกันออก กล้ามเนื้อจึงกดทับเส้นเลือดเส้นประสาท ทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ได้ รวมทั้งเมื่อร้อนเย็นที่มากเกินพันกัน เนื้อเยื่อก็ไม่ทำงาน ทำให้ย่อยไม่ได้ จึงเกิดอาการท้องอืดขึ้น เป็นสภาพร้อนเย็นพันกันที่สุด ตีกลับเป็นเย็น
เมื่อใช้ร้อนเย็นผสมกันแล้วรู้สึกสบาย ก็ให้ใช้ร้อนเย็นผสมกัน แสดงว่าต้นเหตุเกิดจากร้อนเย็นพันกัน กลไกก็คือ เมื่อใส่ร้อนเย็นผสมกัน จุดที่ร้อนสัญญาของชีวิตจะดูดเย็นไปแก้ จุดที่เย็นสัญญาของชีวิตจะดูดร้อนไปแก้
เมื่อเกิดสภาพสมดุลร้อนเย็น กล้ามเนื้อจะคลายตัว เพราะไม่ต้องบีบพิษของร้อนเย็นพันกันออก เลือดลมก็จะไหลเวียนสะดวก ประกอบกับเนื้อเยื่อกลับมาทำงานตามปกติ เพราะไม่มีพิษร้อนเย็นพันกันทำร้ายชีวิตแล้ว จึงย่อยได้ อาการท้องอืดก็จะหายไป
สาเหตุร้อนหรือร้อนเย็นพันกันสามารถตีกลับเป็นอาการเย็นอื่น ๆ ได้ทุกอาการ จึงเรียกว่า เย็นหลอก
กลุ่มอาการเย็นหรือร้อนเย็นพันกันตีกลับเป็นอาการร้อน (ร้อนหลอก)
เมื่อใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็นแก้ อาการจะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม แต่พอใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนกลับรู้สึก สบาย ก็ให้ใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อน เพราะต้นเหตุเกิดจากเย็น ถ้าใช้ร้อนเย็นผสมกันแล้วรู้สึกสบาย ก็ให้ใช้ร้อน เย็นผสมกัน แสดงว่าต้นเหตุเกิดจากร้อนเย็นพันกัน
เช่น ตัวอย่างที่ 1 ตากแดดแล้วเป็นไข้นั้น เป็นร้อนที่เกิดจากร้อน กินสิ่งที่มีฤทธิ์เย็น ดับหรือถอนพิษร้อนด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็จะหายไข้
ส่วนการไปตากฝนแล้วเป็นไข้ เกิดจากเมื่อเย็นถึงขีดหนึ่ง ชีวิตจะอยู่ไม่ได้ สัญญาของชีวิตจะสั่งให้ร่างกายผลิตความร้อนมาทำลายเย็นที่มากเกิน แต่เมื่อผลิตพลังร้อนมากเกินไปก็จะเป็นไข้ เป็นสภาพเย็นที่สุดตีกลับเป็นร้อน เมื่อใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็นแก้ อาการจะยิ่งแย่ไปกว่าเดิม เพราะต้นเหตุเดิมก็คือฝน ซึ่งเย็นอยู่แล้ว ชีวิตยิ่งผลิตความร้อนมากยิ่งขึ้นเพื่อมาทำลายเย็นที่มากขึ้น อาการไข้ก็ยิ่งสูงขึ้น แต่พอใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อน กลับรู้สึกสบายไข้ลดลง เพราะร้อนที่ใส่เข้าไป ไปทำลายเย็นเกินที่เป็นต้นเหตุ ชีวิตจึงไม่ต้องผลิตความร้อนมาทำลายเย็นเกิน ไข้จึงไม่เพิ่ม ส่วนความร้อนที่ได้ผลิตขึ้นมาแล้ว ก็จะถูกสัญญาของชีวิต ขับออก ทางปัสสาวะ อุจจาระ ผิวหนัง เหงื่อไคล ลมหายใจ หู ตา จมูก ปาก ไข้ก็จะลดลงหายไป ก็ให้ใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อน เพราะต้นเหตุเกิดจากเย็น
เป็นสภาพเดียวกันกับเมื่ออากาศหนาว เราไม่อยากอาบน้ำเย็นธรรมดา ยิ่งไม่อาบน้ำเย็น ธรรมดาก็ยิ่งหนาว เพราะชีวิตใช้ความร้อนที่มีอยู่ทำลายความเย็น จนความร้อนที่ใช้ไปนั้นหมดแล้ว เราจึงยิ่งรู้สึกหนาว แต่เมื่อฝืนไปอาบน้ำเย็นธรรมดา กลับรู้สึกรู้สึกอุ่น เพราะเมื่อเย็นถึงขีดหนึ่ง ชีวิตอยู่ไม่ได้ สัญญาของชีวิตจะสั่งให้ร่างกายผลิตความร้อนมาทำลายเย็นที่มากเกิน เราจึงรู้สึกอุ่นขึ้น แต่ถ้าชีวิตผลิตความร้อนมากไปก็จะไข้ขึ้น
สำหรับไข้ที่เกิดจากร้อนเย็นพันกัน รู้สึกไม่สบายจากทั้งแดดและฝน แล้วเป็นไข้ร้อน ๆ หนาว ๆ หรือเป็นไข้ด้วยสาเหตุใดก็ตาม แล้วรู้สึกร้อน ๆหนาว ๆ พอใช้ร้อนเย็นผสมกันแล้วรู้สึกสบาย ก็ให้ ใช้ร้อนเย็นผสมกัน แสดงว่าต้นเหตุเกิดจากสภาพร้อนเย็นพันกัน จุดที่ร้อนสัญญาของชีวิตจะดูดเย็นไปแก้ จุดที่เย็นสัญญาของชีวิตจะดูดร้อนไปแก้ เมื่อสมดุลร้อนเย็นอาการไข้ก็จะหายไป
ตัวอย่างที่ 2 ผู้ป่วยมาพบผู้เขียนด้วยอาการบวมคัน เมื่อซักประวัติแล้วเป็นภาวะร้อนเกิน กลไกเกิดจากเมื่อร้อนมากเกินสัญญาของชีวิตดูดน้ำมาดับร้อนที่มากเกินจึงบวม และสร้างฮีสตามีนขึ้นมาจึงรู้สึกคันเพื่อให้เกา ซึ่งเป็นการเสียดสีให้เกิดความร้อน สัญญาของชีวิตจะได้สั่งให้เส้นเลือดขยายตัว
สัญญาของชีวิตจะได้ดันเอาสารและพลังงานที่เป็นพิษออกไปทางผิวหนังได้ ผู้เขียนแนะนำให้ใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็น ประมาณหนึ่งสัปดาห์ อาการบวมคันก็หายไป เพราะไม่มีพิษร้อนเกินทำร้ายชีวิตแล้ว สัญญาของชีวิตไม่ต้องใช้น้ำดับร้อนเกินแล้ว จึงดันน้ำออกไป อาการบวมก็หายไป ไม่ต้องผลิตฮีสตามีนมาระบายพิษร้อนเกินแล้ว สัญญาของชีวิตก็ดันฮีสตามีนกลับไป จึงไม่คัน
พอผู้ป่วยใช้สิ่งที่มีฤทธิ์เย็นนานเข้าจนเย็นเกิน ก็ยังทำเย็นต่อไปเรื่อย ๆ ประมาณสองเดือน ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ากลับมาบวมอีก ยิ่งใช้เย็นยิ่งบวม แต่พอใช้ร้อนกลับยุบบวม กลไกการบวมคร้ังหลังนี้เกิดจากเมื่อเย็นเกินมาก ๆ สัญญาของชีวิตสั่งให้ร่างกายผลิตความร้อนมาทำลายความเย็น แต่ผลิตความร้อนมากเกินไป จะเป็นอันตรายต่อชีวิต
สัญญาของชีวิตจึงดูดน้ำมาดับร้อน ทำให้บวมขึ้นมาอีกคร้ัง ยิ่งใช้เย็นก็ยิ่งบวม เพราะสัญญาของชีวิตยิ่งสั่งให้ร่างกายผลิตความร้อนมาทำลายความเย็นที่มากขึ้น ยิ่งเกิดความร้อนมากเกินยิ่งขึ้น สัญญาของชีวิตจึงยิ่งดูดน้ำมาดับร้อนมากขึ้น ทำให้บวมมากขึ้น
เป็นสภาพเย็นที่สุดตีกลับเป็นร้อน แต่พอใช้สิ่งที่มีฤทธิ์ร้อนกลับยุบบวม เพราะร้อนไปดับเย็นที่เป็นต้นเหตุ สัญญาของชีวิตไม่ต้องสั่งให้ ร่างกายผลิตร้อนมาทำลายเย็นเกิน ร้อนที่ได้ผลิตขึ้นมาแล้ว และน้ำที่ดูดมาดับร้อน ก็จะถูกสัญญาของชีวิต ขับออกทางปัสสาวะ อุจจาระ ผิวหนัง เหงื่อไคล ลมหายใจ หู ตา จมูก ปาก บวมก็จะลดลงหายไป
ผู้เขียนพบอาการบวมจากร้อนเย็นพันกัน ก็กลไกจากร้อนเกินก็ทำให้บวมได้ จากเย็นเกินก็ตีกลับเป็นร้อนทำให้บวมได้ เมื่อใช้ร้อนเย็นผสมกันแก้แล้วรู้สึกสบาย ก็ยุบบวมได้ ก็ให้ใช้ร้อนเย็นผสมกัน แสดงว่าต้นเหตุเกิดจากร้อนเย็นพันกัน
สาเหตุเย็นหรือร้อนเย็นพันกันสามารถตีกลับเป็นอาการร้อนอื่น ๆ ได้ทุกอาการ จึงเรียกว่า ร้อนหลอก
ข้อมูลที่มา : หนังสือถอดรหัสสุขภาพ เล่ม 2 ความลับฟ้า
แก่นหลักของการดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์วิถีธรรม
เทคนิค 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด)
กลไกการเกิดการหายของโรค คือ วิบากร้ายจะสังเคราะห์กับภาวะร้อนเย็นไม่สมดุล ทำ ให้เกิดโรคต่าง ๆ ส่วนวิบากดีจะสังเคราะห์กับภาวะสมดุลร้อนเย็น ทำให้โรคต่าง ๆ ลดลงและร่างกายแข็งแรงขึ้น ดังนั้นการรักษาตามหลักการแพทย์วิถีธรรม จึงใช้วิธีแก้ที่ต้นเหตุด้วยการปรับสมดุลร้อนเย็นกายใจ โดยใช้ เทคนิค 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด) ได้แก่
- ยาเม็ดเสริม : การรับประทานสมุนไพรปรับสมดุลร้อนเย็น
- ยาเม็ดเสริม : การกัวซาหรือขูดซาหรือขูดพิษหรือขูดลม (การขูดระบายพิษทางผิวหนัง)
- ยาเม็ดเสริม : การสวนล้างพิษออกจากลำไส้ใหญ่ด้วยสมุนไพรที่ถูกสมดุล ร้อนเย็น (ดีท็อกซ์)
- ยาเม็ดเสริม : การแช่มือแช่เท้าหรือส่วนที่ไม่สบายในน้ำสมุนไพรตามภาวะร้อนเย็นของร่างกาย
- ยาเม็ดเสริม : การพอก ทา หยอด ประคบ อบ อาบ เช็ด ด้วยสมุนไพร ตามภาวะร้อนเย็นของร่างกาย
- ยาเม็ดหลัก : การออกกำลังกาย กดจุดลมปราณ โยคะ กายบริหาร ที่ถูกต้อง
- ยาเม็ดหลัก : การรับประทานอาหารปรับสมดุล ตามภาวะร้อนเย็นของร่างกาย
- ยาเม็ดเลิศ : ใช้ธรรมะ ละบาป บำเพ็ญบุญกุศล ทำจิตใจให้ผ่องใส คบมิตรดี สหายดี สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี และ
- ยาเม็ดเลิศ : รู้เพียร รู้พักให้พอดี
เทคนิค 9 ข้อ (ยา 9 เม็ด) ดังกล่าว เป็นการระบายพิษร้อนเย็นไม่สมดุลออกไป ใส่สิ่งที่สมดุลร้อนเย็นเข้าไป เพื่อให้เซลล์ทุกเซลล์ถูกซ่อมสร้างให้แข็งแรงตามหลักสมดุลร้อนเย็น ทำให้เซลล์ทุกเซลล์ทำงานตามปรกติและเกิดการขจัดโรคหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ ตามกลไกธรรมชาติของชีวิตที่มีอยู่แล้ว คือ เมื่อระบายพิษร้อนเย็นไม่สมดุลออก ก็จะไม่มีพิษตกค้างในร่างกาย
โดยพลังชีวิตจะสั่งให้เม็ดเลือดขาวซึ่งแข็งแรงเพราะได้รับสารและพลังงานที่สมดุลร้อนเย็น ไปโอบและหลั่งเอนไซม์มาย่อยสลายเนื้องอก หรือมะเร็ง หรือเชื้อโรค หรือสารพิษ หรือตัวก่อโรคต่าง ๆ ด้วยกระบวนการฟาโกไซโตซีส จากนั้นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงก็จะเกิดกลไกรีเฟล็กซ์ เกร็งตัวขับโรคและเหตุก่อโรคมะเร็งและโรคต่าง ๆ ที่สลายโดยเม็ดเลือดขาวออกจากร่างกายตามช่องทางระบายพิษต่าง ๆ เช่น ทางหู ตา จมูก ปาก ผิวหนัง ปัสสาวะ อุจจาระหรืออวัยวะระบายพิษตามปรกติของร่างกาย ก็จะทำให้โรคมะเร็งหรือโรคต่าง ๆ ลดลงหรือหายไป ร่างกายก็จะแข็งแรงขึ้น
แต่ถ้ากลไกโดยธรรมชาติยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ก็ใช้ควบคู่กับวิธีการอื่น ๆ ตามการแพทย์แผนต่าง ๆ เช่น อาจใช้ควบคู่กับการผ่าตัด การรับประทานยาแผนปัจจุบันบางชนิด การดัดปรับกระดูกโครงสร้างกล้ามเนื้อเส้นเอ็น การฝังเข็ม หรือวิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะควรในบางครั้ง บางบุคคลเท่านั้น
ซึ่งควรสังเกตว่าเหมาะควรกับตนเองหรือผู้อื่นได้จากหลังใช้วิธีนั้นแล้วทำให้เกิดสภาพสบาย เบากาย มีกำลัง และเป็นอยู่ผาสุก โดยมีตัวชี้วัดที่ทำให้ชีวิตปลอดภัยได้จากเมื่อโรคภัยไข้เจ็บลดลงแล้วสามารถค่อย ๆ ลดหรืองดการรักษาที่ไม่จำเป็นหรือที่มีผลแทรกซ้อนลงไป
การแพทย์วิถีธรรมจึงมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ เมื่อได้ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยแล้วจะให้อิสระกับผู้ป่วยในการเลือกใช้วิธีการรักษาด้วยตัวของผู้ป่วยเอง
การปรับสมดุลร้อนเย็นตามหลักการแพทย์วิถีธรรมหรือการดูแลสุขภาพแผนใด ๆ จะมีฤทธิ์มากถ้าสานพลังกับหมู่มิตรดี ลดกิเลส (บุญ) ช่วยเหลือผู้อื่น (กุศล) ปรับอาหาร กายบริหารให้สมดุลจะทำให้ยาเม็ดอื่น ๆ หรือวิธีการอื่น ๆ ที่ใช้แล้วถูกกัน แม้ใช้เพียงนิดเดียวหรือวิธีเดียวหรือไม่กี่วิธี (ใช้น้อยวิธี) ก็มีฤทธิ์มากขึ้นและมีความยั่งยืน แต่ถ้าไม่สานพลังกับหมู่มิตรดี ไม่ลดกิเลส ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ปรับอาหาร ไม่กายบริหารให้สมดุล
ไม่ว่าจะใช้ยาเม็ดไหน ๆ หรือวิธีการใด ๆ แผนใด ๆ จะไม่มีฤทธิ์คือไม่ได้ผล หรือมีฤทธิ์น้อย หรือได้ผลชั่วคราว จากนั้นก็จะได้ผลน้อยลง จะเสื่อมฤทธิ์ไปเรื่อย ๆ จนไม่ได้ผล หรือมีโรคหรืออาการแทรกซ้อนในที่สุด
วัตถุมีฤทธิ์แค่ 30% ส่วนใจมีฤทธิ์ 70% + เกิน 100% (ยาเม็ดที่ 8-9) ใจที่ไร้ทุกข์และดีงาม จึงเป็นสิ่งที่มีฤทธิ์มากที่สุดที่ทำให้หายหรือทุเลาจากโรค ใจที่เป็นทุกข์ เป็นกิเลส ทำให้เสียพลังไป กลัว กังวล ระแวง หวั่นไหว อยากให้หายตามที่อยาก กลัวจะไม่หายตามที่อยาก ทำให้ไม่หายโรค หรือโรคทุเลาได้น้อย ทุกอย่างไม่เที่ยง ณ เวลานั้น วิธีใดถูกกัน คือ ใช้แล้วสบาย ก็ควรใช้ในปริมาณที่สบาย ไม่มากไป ไม่น้อยไป ถ้าใช้วิธีใดแล้วไม่สบายก็ควรหยุด ควรพร้อมปรับเปลี่ยนหาวิธีที่สบาย (อุปปัฏฐากสูตร อนายุสสสูตร จูฬกัมมวิภังคสูตร กกจูปมสูตร อาพาธสูตร)
จะเป็นแผนแพทย์วิถีธรรมหรือแผนอื่นก็ได้ ถ้าถูกกัน คือใช้แล้วสบาย คนลดกิเลส (เข้าถึงธรรม) จะทำให้วิธีการต่าง ๆ ที่ถูกกัน มีฤทธิ์มากขึ้น คนไม่ลดกิเลส (ไม่ได้เข้าถึงธรรม) จะลดฤทธิ์ของวิธีต่างๆ และพลิกกลับเป็นโทษในที่สุด ก็จะไม่ศรัทธา ถือสา เพ่งโทษ อย่าไปเสียเวลากับคนที่ไม่ศรัทธา เพราะคนไม่ศรัทธาจะหาเรื่องค้านแย้งได้ทุกเรื่อง แพทย์วิถีธรรมจึงไม่กดดัน ไม่บังคับ ไม่หว่านล้อม ไม่โน้มน้าวแพทย์วิถีธรรม จะให้ปัญญาว่า อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ แล้วให้แต่ละชีวิตเลือกเอาตามวิจารณญาณของตน ให้เป็นไปตามธรรม คือ ศรัทธา ปัญญา และวิบากดีร้ายของแต่ละชีวิต
ตรงตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นมูล เราเป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ส่วนการเดินทางเป็นเรื่องของท่าน ตรงตามที่ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ กล่าวว่า “ดอกไม้จะบานก็ให้เขาบานของเขาเอง”
ตรงตามที่ อาจารย์ ดร.ใจเพชร กล้าจน กล่าวว่า “ทำความผาสุกที่ตน ช่วยคนที่ศรัทธา จึงจะถูกต้องตามธรรม เอาตามความสมัครใจของแต่ละชีวิต” เพราะ
- แต่ละคนมีวิบากเข้าแทรกได้ตลอดเวลา ให้แต่ละคนตัดสินชีวิตของแต่ละชีวิต อย่าไปแบกรับชีวิตคนอื่น หากเขาไม่ได้รับสิ่งที่หวังไว้ เขาจะโทษเราได้
- คนไม่เต็มใจ ไม่ศรัทธา จะหาเรื่องแย้งได้ทุกเรื่อง
อย่างไรก็ตาม เวลาวิบากเข้า แม้ลดกิเลส แม้ทำความดี จะใช้วิธีการใด ๆ ก็ไม่ดีขึ้นก็มี จนกว่าวิบากชุดนั้นจะเบาบางลง ต้องอดทน รอคอย ให้อภัย ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ
ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนไข้มี 3 กลุ่ม
- รักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มมีเวรมีกรรมออกฤทธิ์แรงมาก ไปหาหมอไหน รักษาหรือไม่รักษาแบบไหนก็ไม่หาย จึงไม่มีการแพทย์แผนใดที่จะทำให้คนไข้หายหมดทุกคน
- รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มหมดเวรหมดกรรม ไม่ว่าจะไม่ไปหาหมอไหน ไม่รักษาแบบไหน หรือไปเจอหมอไหน รักษาแบบไหน ก็หาย เพราะหมดเวรหมดกรรม วิบากหมดแล้ว
- รักษาจึงหาย ไม่รักษาไม่หาย กลุ่มนี้ไปหาหมอหรือรักษาด้วยวิธีที่ถูกกันจึงหาย ไม่ไปหาหมอหรือไม่รักษาด้วยวิธีที่ถูกกันก็ไม่หาย (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 461)
การจัดอบรมค่ายสุขภาพตามหลักแพทย์วิถีธรรมและค่ายพระไตรปิฎกทั่วประเทศของมูลนิธิแพทย์วิถีธรรม
ในวันแรก ๆ ให้เน้นไปที่ยาเม็ดที่ 8, 9 เป็นเม็ดเลิศ โดยใช้บททบทวนธรรมเพื่อสร้างจิตวิญญาณให้ผาสุกที่สุดในโลก เพื่อให้ผู้เข้าค่ายได้รับยาเม็ดเลิศคือธรรมะ เป็นยาที่มีฤทธิ์เร็วและแรงที่สุดในการรักษาโรคทุกโรค ให้ข้อมูลและพาปฏิบัติ ยาเม็ดที่ 7 (อาหาร) และ 6 (กายบริหาร) เป็นเม็ดหลัก ส่วนเม็ดอื่นๆ เป็นเม็ดเสริม ทยอยสอนไปเรื่อย ๆ ในวันถัด ๆ ไป
ติดตามเรา
หมอเขียวทีวี
สื่อสารเพื่อการพึ่งตน และช่วยคนให้พ้นทุกข์
ค่ายสุขภาพ
ค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมตามศูนย์ต่าง ๆ และ ค่ายออนไลน์
สื่อต่าง ๆ
ติดตามเราตามช่องต่าง ๆ เช่น ทางเฟซบุ๊กหรือไลน์