2. บันทึกกลุ่มตัวอย่างจาก ผู้ใช้การแพทย์วิถีพุทธที่เป็นจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธ
ระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2558
(ประเภทข้อมูลที่ 10 แบบบันทึกกรณีศึกษาของจิตอาสาและนักศึกษาแพทย์วิถีพุทธ และข้อมูลที่ 12 แบบสอบถามประสบการณ์การใช้แพทย์วิถีพุทธ เทคนิค 9 ข้อ)
กรณีศึกษาที่ | 2.84 |
ชื่อ | นางสาวภูเพียรธรรม วิวัฒน์วิชา |
เพศ | หญิง |
อายุ | 46 ปี |
อาชีพ | จิตอาสาแพทย์วิถีพุทธ |
จังหวัด | มุกดาหาร |
โรค | โรคแพ้อากาศ |
อาการ | อาการไอเจ็บคออักเสบเรื้อรัง |
วันสัมภาษณ์ | 15 ธันวาคม 2557 |
รู้จักการแพทย์วิถีธรรม จากเพื่อน สนใจการดูแลรักษาสุขภาพแบบแนวธรรมชาติบำบัด พอมีเพื่อนเล่าให้ฟังว่าไปอบรมค่ายหมอเขียว มาทานแต่พืชผักสมุนไพรอยู่แบบธรรมชาติ ไม่มีอะไรเท่าไร ฟังดูน่าสนใจ อยากมาเรียนรู้และอบรมบ้างจึงขอข้อมูลเกี่ยวกับการอบรม เพื่อสมัครมาเรียนรู้
ประวัติสุขภาพ ก่อนรู้จักแนวทางดูแลสุขภาพด้วยหลักการแพทย์วิถีธรรม คือ ในช่วงของการทำงานที่มากกว่าสิบปีที่ผ่านมานั้น อาการไม่สบายที่เห็นได้เด่นชัด คือ จะแพ้อากาศเมื่อกระทบอากาศเย็น จะมีอาการไอในทุก ๆ เช้า ช่วงตื่นนอนมาเมื่อเจออากาศเย็น หรือถ้าเป็นหวัดจากช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว จะมีอาการไอเจ็บคออักเสบเรื้อรัง ครั้งที่รุนแรงที่สุด มีอยู่หนึ่งครั้งที่รู้สึกว่าหายใจขัด ลำบาก หายใจไม่เต็มปอด เหมือนมีอะไรจุก ๆ อยู่ที่จมูกที่คอ คุณหมอแผนปัจจุบันบอกว่าเป็นอาการแพ้แบบหอบ จึงรักษาทานยาอยู่ประมาณเกือบ 1 เดือน และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ อาการแพ้แบบหอบนี้ได้หายไป นอกจากนั้น เคยมีอาการบ้านหมุนกระทันหันอยู่ 1 ครั้ง น่าจะประมาณปี 2541 ไม่สามารถทรงตัวได้ จะต้องนอนหรือนั่งเท่านั้น โดยทั่วไปก็เข้าใจกันว่าน้ำในหูไม่เท่ากัน จึงทานยาและนอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน และสามารถลุกขึ้นยืนเดินได้ เลยกลับไปทำงานต่อ เพราะช่วงนั้นมีงานเร่งมาก มีอาการเครียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็ยังไม่หายเป็นปกติดี พอสะสางงานได้บ้าง 1-2 วัน ก็กลับมารักษาอาการที่ยังหนักอยู่ ต้องนั่งและนอนในบ้านอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ คุณหมอแผนปัจจุบันบอกว่า เป็นอาการปลายประสาทหูอักเสบ รักษาโดยการทานยาอยู่ประมาณ 1 เดือน ถึงหายเป็นปกติดี หลังจากนั้นก็ไม่เคยพบอาการรุนแรงแบบนี้อีกเลย
ช่วงปี 2547-2548 มีอาการปวดตึงแข็งบริเวณบ่าไหล่ สบัก คอ เอวและแผ่นหลังอาการของหมอนรองกระดูกสันหลังบางข้อเริ่มเสื่อม เนื่องจากการทำงานที่ต้องนั่งโต๊ะและสัมผัสเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานาน ๆ วันละกว่า 10 ชั่วโมง เกือบทุก ๆ วัน ในแต่ละสัปดาห์ ความรีบร้อนและความกดดันจากกำหนดตารางเวลาการทำงาน ทำให้มีการสั่งสมความเครียดและอาการไม่สบายกายและใจด้วยโดยไม่รู้ตัว ต้องไปหาหมอทำกายภาพบำบัด มีนวดแผนไทยและดึงเส้นบ้าง เมื่อปวดตึงแข็งหนักมากก็ใช้วิธีการฝังเข็มช่วยแต่ก็พบว่าดีขึ้นแค่ชั่วคราว ถ้าพฤติกรรมการทำงานของเรายังไม่เปลี่ยน
ในต้นปี 2553 ที่มาเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรมนั้น ขณะนั้นมีแผลตุ่มผื่นคันขึ้นรอบเอว ซึ่งเป็นตุ่มที่เคยเกิดจากตุ่มแผลที่ถูกแมลงกัดต่อยในป่าแห่งหนึ่งเมื่อปลายปี 2551 (เป็นคนแพ้พวกแมลงต่าง ๆ ได้ง่าย) ซึ่งได้มีการรักษาให้หายแล้ว แต่ปรากฏว่าอาการตุ่มคันได้กลับมาเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งประมาณกลางปี 2552 ซึ่งมาเข้าใจทีหลัง ว่าเป็นเพราะเมื่อร่างกายเราไม่สมดุล มีภาวะร้อนเกิน พอมีแผลที่จะพอเปิดได้ตรงไหนเขาก็เลยรีบฝากพิษขับออกตรงนั้นด้วย อย่างที่อาจารย์หมอเขียว กล่าวไว้ว่า เมื่อเวลาร่างกายขับพิษได้ ถ้ามีตรงจุดไหนที่สามารถเป็นจุดระบายพิษได้ดันพิษออกได้ พิษเขาจะรีบมาฝากออกตรงนั้นมาก ๆ ฝากกันออกเลย จึงทำให้ตรงตุ่มแผลเดิมคันเอามาก ๆ เกาจนอักเสบนูนบวมแดงมาก ๆ ไม่ใช้วิธีการรักษาแบบแผนปัจจุบัน แต่เพราะไม่ชอบไม่อยากทานยาทายาแผนปัจจุบัน แล้วก็คันมาก แต่รักษาอย่างไรก็ไม่หาย เป็นมาหลายเดือนแล้ว อยากหายไม่อยากคัน ไม่อยากเกาอีก เมื่อหาเวลาว่างได้ลงตัวก็เลยรีบโทรมาสมัครเข้าค่ายค่ะ รอที่จะมาเข้าค่ายตามวันและเวลาที่กำหนดค่ะ
เมื่อได้มาเข้าค่ายและปฏิบัติตัวด้วยเทคนิคยา 9 เม็ด โดยทำทุกข้อเท่าที่ทำได้ในค่าย (ทำดีท็อกซ์ทุกวันก่อนนอน พอกทารอบเอว แขนขา ประมาณ 2-3 ครั้ง แช่มือแช่เท้า 2-3 ครั้ง เดินเร็วกดจุดโยคะการบริหารทุกวัน ดื่มน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นสด และทานอาหารที่จัดไว้ให้ โดยเน้นไปทานอาหารที่จัดไว้ให้สำหรับผู้ป่วยหนักเลย คือ จะไม่มีส่วนผสมของพืชผักฤทธิ์ร้อน) ปรากฏว่าหลัง 7 วัน ตุ่มแผลคันก็ดีขึ้นมาก แห้งยุบหายได้สนิทไม่ต้องทายาอะไร จากนั้น ได้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องด้วยการรับประทานอาหารสูตรถอนพิษร้อนต่อเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อพิสูจน์ว่า อาหารสูตรแนวธรรมชาติ สามารถใช้รักษาโรคได้ทุกโรค ซึ่งเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ได้ปฏิบัติตามหลักการปรับสมดุลยา 9 เม็ด มาจนถึงปัจจุบันนี้ และได้มาเสียสละแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ร่วมกับอาจารย์หมอเขียวและพี่น้องจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธทุกท่าน เพราะรู้ว่าสิ่งที่อาจารย์หมอเขียวพูดบรรยายให้ฟังตลอดในค่ายสุขภาพ 7 วันนั้น ท่านไม่ได้เน้นพูดหรือสอนเรื่องสุขภาพเป็นแก่นหลัก แต่สิ่งที่ต้องการสื่ออย่างเป็นแก่นเลย คือ แก่นธรรม ท่านกำลังสอนธรรมะต่างหากซึ่ง ณ วันนี้ เข้าใจชัดขึ้นมากว่า ท่านสอนวิธีการปฏิบัติธรรมผ่านเทคนิคการดูแลสุขภาพกายใจ สอนให้แก้ที่ต้นเหตุของโรคหรือต้นเหตุของทุกข์ ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นอะไรก็ไปแก้ตามอาการ หรือรักษาโรคที่ปลายเหตุ จริง ๆ แล้วทุกอย่าง ต้องแก้ที่สาเหตุ หรือก็คือการดับทุกข์ ต้องดับที่เหตุ เมื่อเหตุแห่งทุกข์ดับ ทุกข์ (จากความเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจหรือจากเหตุใด ๆ ก็ตาม) ก็จะดับ และก็จะเกิดปัญญาที่เป็นความผาสุกที่แท้จริง
ดังนั้น การมาเป็นจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธก็ด้วยเป้าหมายที่ต้องการความพ้นทุกข์ ความผาสุก แก่นสุขที่แท้จริงของชีวิต และเป็นความตั้งใจของตนเองที่ต้องการทำงานเกี่ยวกับด้านการศึกษาที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งอาจารย์หมอเขียว สามารถพาไปสู่เป้าหมายนั้นได้จริงประกอบกับในช่วงนั้น คุณหมอเขียวได้ประกาศเชิญชวนว่าถ้าท่านมีทีมงานจิตอาสา ท่านจะพาทีมงานช่วยเหลือเกื้อกูลชาวโลกที่นับวันมีแต่เพิ่มจำนวนผู้เดือดร้อน ผู้ทุกข์ และความทุกข์ ความเดือดร้อนก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้นทกุวัน ซึ่งการที่เราจะช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้มาก ๆ ก็คือ การเริ่มทำที่ตัวเรา โดยการมาฝึกฝนกระบวนการลดละเลิกกิเลส ในสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับตัวเอง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ลดละเลิกความหลงมัวเมา พร้อมทั้งความโลภโกรธหลงในตัวเราที่มีมาก และติดยึดมาก ๆ ให้เบาบางลงในหมู่กลุ่มของมิตรดีสหายดีสังคมสิ่งแวดล้อมดี และเมื่อเราทำได้แล้วจริง เราก็จะสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันเกื้อกูลในสิ่งที่เราลดละเลิกได้จริง ที่จะเป็นพลังแรง เป็นพลังเสียสละ แบ่งปันให้กับผู้อื่นได้จริง
ประสบการณ์ในการเผยแพร่ความรู้ช่วยเหลือผู้อื่น ก็โดยการอธิบายให้ผู้ที่ขอความช่วยเหลือ สามารถเข้าใจที่จะพึ่งตนได้ หาวิธีการช่วยเหลือตัวเองได้ ด้วยการเลือกทำในสิ่งใด ๆ ก็ได้ในยา 9 เม็ด ที่ถูกกับตัวเองข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อร่วมกันก็ได้ อธิบายให้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดทุกข์หรือโรคภัยไข้เจ็บของเขา แล้วให้เขาปฏิบัติการปรับสมดุล โดยเทคนิคที่เน้นแนะนำให้เขาได้ใช้มากที่สุด คือ การรับประทานอาหารปรับสมดุล เพราะการทานอาหารให้เป็นยา จะช่วยสามารถรักษาโรคได้ทุกโรค ถ้าปรับสมดุลได้ถูกต้องจริง ๆ ซึ่งปัญหาอุปสรรคในการเผยแพร่ความรู้แพทย์วิถีธรรม นั้นน่าจะเป็นในเรื่องของด้านเวลา ว่าจะเป็นเวลาใดที่เหมาะสมของแต่ละคน ที่จะมารับเอาองค์ความรู้แพทย์วิถีธรรม และการได้นำไปปฏิบัติได้อย่างมั่นคง และต่อเนื่องจริง ๆ ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เป็นครั้งคราว อาจไม่ได้นำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และจะนำไปใช้เมื่อเกิดทุกข์ขึ้นมากแล้ว เมื่อเห็นว่าทางอื่นจะไม่ช่วยชีวิตตนแล้ว ก็ถึงจะค่อยมาเอาวิธีตามแพทย์วิถีธรรม ซึ่งถ้าได้นำไปใช้ได้ทันเวลาก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่ถ้านำไปใช้ช้า ก็จะยังเป็นประโยชน์อยู่ แต่จะได้ประโยชน์ไม่มากเท่ากับถ้าได้มาเอาแต่เร็วกว่านี้ เพราะยิ่งใครมาเอาเร็วเท่าไรและให้เวลากับแพทย์วิถีธรรมมากเท่าใด เขาก็จะยิ่งได้ประโยชน์มากเท่านั้น ๆ ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่การแพทย์วิถีธรรม คือ ความศรัทธาในองค์ความรู้และการนำไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงจริงของทั้งจิตอาสาผู้ให้คำแนะนำและผู้รับคำแนะนำ
รูปแบบหรือแนวทางในการพัฒนาจิตอาสาแพทย์วิถีพุทธคือ การอยู่ในหมู่มิตรดีสหายดีสังคมสิ่งแวดล้อมดี โดยช่วยเหลือกิจกรรมการงานของหมู่กลุ่ม และใช้มติตามหมู่กลุ่มเป็นหลัก ซึ่งหมู่กลุ่มนั้นจะต้องมีแม่เหล็กทางจิตวิญญาณแห่งคนตรง กล้าหาญ กล้าจน กล้าเสียสละ และทำแต่ประโยชน์เพื่อส่วนรวมที่ทำได้แล้วจริง ๆ
การปฏิบัติตามหลักการแพทย์วิถีพุทธ ปกติทุกวันนี้จะเน้นปฏิบัติเรื่องอาหารเป็นหลัก ทานมื้อเดียวรสไม่จัด เน้นรสจืดเป็นหลัก ถ้ามีเวลาในตอนเช้าจะเน้นออกกำลังกาย โดยการเดินเร็ว การได้เดินเร็ว จะทำให้เบาเนื้อเบาตัว ผ่อนคลาย อาการหนักเนื้อหนักตัวและเมื่อย ๆ ที่บริเวณหลัง เอว ตะโพก และขาทุเลาได้ ทั้งอาหารและการเดินเร็ว กดจุด โยคะกายบริหาร เป็นการเพิ่มพลังกายได้เร็ววิธีหนึ่ง ประกอบกับการเพียรใช้ธรรมะต่าง ๆ ในการเพิ่มสติสัมปชัญญะ สร้างพลังจิต พลังปัญญาให้กับตนเอง เพื่อใช้ละบาปอกุศลกรรม และบำเพ็ญบุญกุศล พร้อมกับการทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นธรรมะหลักที่จะต้องเพียรพยายามในการทำให้ได้อย่างถูกต้องถูกตรงจริง ๆ แล้วก็ด้วยการทำอย่างรู้เพียรรู้พัก