ดอกแคป่ามีฤทธิ์ร้อนดับร้อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง 10-20 เมตร ผลัดใบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อนอมเทา อาจมีจุดดำประ ผิวเรียบ หรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายคี่ ออกตรงข้าม 3-5 คู่ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายแหลม โคนใบเบี้ยว กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร ยาว 6-16 เซนติเมตร ขอบใบหยักแบบซี่ฟันตื้นๆ ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นประปรายบนก้านใบ ก้านใบย่อยยาว 7-10 มิลลิเมตร ดอกเป็นดอกช่อแบบช่อกระจะสั้น ดอกใหญ่ รูปแตร สีขาว ออกตามปลายกิ่ง ยาว 2-3 ซม. ก้านดอกยาว 1.8-4 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 2-10 ดอก บานทีละดอก กลิ่นหอม บานตอนกลางคืน รุ่งเช้าร่วง กลีบเลี้ยงหนาและเหนียว ปลายเรียวเล็กโค้งยาว 3-4 เซนติเมตร จะหุ้มดอกตูมมิด เชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งปลายแหลม เมื่อดอกบานจึงมีรอยแตกทางด้านล่าง มีลักษณะเป็นกาบหุ้มกลีบดอก ติดกันเป็นท่อ ปลายขยายออกเป็นรูประฆัง และแยกออกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน ยาว 16-18 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกยาว 13-14 เซนติเมตร ส่วนโคนแคบคล้ายหลอด สีเขียวอ่อน ส่วนบนบานออกคล้ายกรวยสีขาวแกมชมพู แฉกกลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 3-4 เซนติเมตร ขอบกลีบย่น เป็นคลื่น ดอกสีขาว ดอกตูมสีเขียวอ่อน ๆ โคนกลีบมีสีน้ำตาลปน เกสรเพศผู้ 4 อัน ติดอยู่ที่ด้านในของท่อกลีบดอก ปลายแยกมีขนาดสั้น 2 อัน ยาว 2 อัน และมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1 อัน รูปร่างเป็นเส้นเรียวเล็กรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร สีเทาดำ จานฐานดอกรูปเบาะ เป็นพูตื้นๆ เกสรเพศเมีย 1 อัน ผลเป็นฝัก ช่อละ 3-4 ฝัก แบน รูปขอบขนาน โค้ง บิดเป็นเกลียว ยาว 40-60 เซนติเมตร พบตามป่า ทุ่ง ไร่ นา ป่าเบญจพรรณออกดอกช่วงเดือน มีนาคมถึงมิถุนายน กลีบดอกบานใช้ต้มจิ้มน้ำพริก หรือแกงส้ม
ชื่ออื่น ๆ : แคป่า แคขาว แคเค็ตถวา (เชียงใหม่) แคทราย (นครราชสีมา) แคแน แคฝอย (ภาคเหนือ) แคภูฮ่อ (ลำปาง) แคยอดดำ (สุราษฎร์ธานี) แคยาว แคอาว (ปราจีนบุรี)
สรรพคุณของดอกแคป่า
- ตำรายาไทย ใช้
- ราก มีรสหวานเย็น แก้เสมหะและลม บำรุงโลหิต
- เปลือกต้น มีรสหวานเย็น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้กับสตรีหลังคลอด
- ใบ มีรสเย็น ใช้ตำพอกแผล หรือต้มน้ำบ้วนปาก
- ดอก ใช้ขับเสมหะ โลหิต และลม ขับผายลม
- เมล็ด รสหวานเย็น แก้อาการปวดประสาท แก้โรคชัก