การเตรียมวางร่างวางขันธ์
ดร.ใจเพชร กล้าจน ปรด.ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค (สาธารณสุขชุมชน)
ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือกวิถีธรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
กองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ประธานมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย
อธิการบดี (วิชชาธิการบดี) สถาบันวิชชาราม
ไม่ว่าคนจะป่วยหรือไม่ป่วยสุดท้ายก็ต้องตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีผู้ป่วยระยะสุดท้าย การวางขันธ์วางร่างด้วยความสงบก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ผู้วิจัยพบว่า การปฏิบัติ ๔ ขั้นตอน ต่อไปนี้ จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยวางขันธ์ด้วยความสงบและญาติก็คลายความทุกข์ได้
การเตรียมวางขันธ์วางร่าง(ส่งวิญญาณ) ๔ ขั้นตอน
๑) สังเกตอาการของการใกล้วางขันธ์วางร่าง
๒) ลดความทุกข์ทรมานทางกายให้มากที่สุด
๓) ประคองสติสู่การวางขันธ์วางร่าง
๔) ประคองสติญาติ
๑) สังเกตอาการของการใกล้วางขันธ์วางร่าง
ในคนทั่วไปเมื่อใกล้ถึงเวลาที่จะวางขันธ์(เสียชีวิต) มักจะมีอาการร้อน(หยาง)นำเด่น ในทางพุทธศาสนาหรือแพทย์แผนไทย จะบอกว่าเป็นอาการไฟธาตุใกล้แตกดับ แล้วตามด้วยเย็น(หยิน)นำเด่น คือ อาการร้อนที่สุดตีกลับเป็นเย็น
ตัวอย่างอาการร้อน(หยาง)นำเด่น ได้แก่ สัญญาณชีพ(การหายใจ ชีพจร ความดันโลหิต อุณหภูมิ) แรงผิดปกติและมักไม่สม่ำเสมอ เช่น หายใจหอบแรงเร็วผิดปกติจังหวะไม่สม่ำเสมอ ชีพจรแรงเร็วผิดปกติจังหวะไม่สม่ำเสมอ ความดันสูงโลหิตสูงผิดปกติ อุณหภูมิของร่างกายสูงผิดปกติ(บางครั้งอาจวัดด้วยปรอทไม่ผิดปกติ แต่ผู้ป่วยรู้สึกร้อนมากผิดปกติหรือเราสัมผัสดูจะรู้สึกร้อนผิดปกติ) มักมีอาการเพ้อ เบลอ หลงลืม กระสับกระส่าย ตาลอย ตาเหลือก แข็งเกร็งชักกระตุกตามร่างกายร่วมด้วย อาจเป็นเพียงบางอาการหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ หลังจากนั้นก็จะตีกลับเป็นอาการเย็น(หยิน)นำเด่น
ตัวอย่างอาการเย็น(หยิน)นำเด่น ได้แก่ สัญญาณชีพเบาผิดปกติจังหวะไม่สม่ำเสมอ เช่น หายใจช้าเบาผิดปกติ จังหวะไม่สม่ำเสมอ ชีพจรช้าเบาผิดปกติ จังหวะไม่สม่ำเสมอ ความดันโลหิตต่ำ ผิดปกติ อุณหภูมิของร่างกายเย็นผิดปกติ(บางครั้งอาจวัดด้วยปรอทไม่ผิดปกติ แต่ผู้ป่วยรู้สึกเย็นมากผิดปกติหรือเราสัมผัสดูจะรู้สึกเย็นผิดปกติ) มักมีอาการบวมเย็นเขียวคล้ำตามปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปากหรือตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เคลื่อนไหวตัวได้น้อย พูดน้อย ตาลอย เบลอ หลงลืม อาจเป็นเพียงบางอาการหรือหลายอาการร่วมกันก็ได้
ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขทั้งสองอาการได้ ผู้ป่วยก็จะวางขันธ์(เสียชีวิต) บางคนอาจวางขันธ์ด้วยอาการร้อนเด่น บางคนอาจวางขันธ์ด้วยอาการเย็นเด่น บางคนอาจวางขันธ์ด้วยอาการร้อนและเย็นแทรกพร้อมกัน
กรณีผู้ปฏิบัติธรรมที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือผู้ที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี อาการก่อนวางขันธ์หรือเสียชีวิตจะต่างจากคนทั่วไป ก็คืออาการก่อนวางขันธ์ทั้งร้อนและเย็นจะไม่เด่น ความทุกข์ทรมานมีน้อย บางครั้งมีอาการปกติเหมือนคนธรรมดา แต่เจ้าตัวจะรู้ตัวว่าใกล้เวลา วางขันธ์แล้ว พลังชีวิตเริ่มลดลงแล้ว เรี่ยวแรงกำลังจะค่อยๆ ลดลง ร่างกายจะค่อยๆ ลดการทำงานลง ลดการเคลื่อนไหวลง ค่อยๆ นิ่งสงบ แล้ววางขันธ์ด้วยความสงบสบาย
๒) ลดความทุกข์ทรมานทางกายให้มากที่สุด
ทำให้ผู้ป่วยเกิดสภาพที่รู้สึกสบายหรือลดความทุกข์ทรมานทางกายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการปรับสมดุลร้อนเย็น เช่น การกดนวดเบาๆ ถ้าผู้ป่วยร่างกายร้อนเกินหรือรู้สึกไม่สบายจากอาการร้อนเกินก็เอาผ้าชุบน้ำเย็นหรือสมุนไพรฤทธิ์เย็นมาเช็ด ถ้าร่างกายเย็นเกินหรือรู้สึกไม่สบายจากอาการเย็นเกินก็เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือสมุนไพรฤทธิ์เย็นผ่านไฟหรือสมุนไพร ฤทธิ์เย็นผสมฤทธิ์ร้อนหรือสมุนไพรฤทธิ์ร้อนอย่างเดียว ตามแต่สภาพร่างกายและความรู้สึกสบายของผู้ป่วย
รวมถึงการปรับสมดุลด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การปรับสมดุลแนวเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเทคนิค 9 ข้อ ตามหลักการแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ ซึ่งควรเลือกวิธีการที่ ไม่รบกวนความสงบของผู้ป่วยมากจนเกินไปและสามารถลดความทุกข์ทรมานหรือผู้ป่วยรู้สึกสบายกายสบายใจที่สุด
กรณีที่แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าผู้ป่วยไม่มีโอกาสรอดชีวิตแล้ว ถ้าเป็นไปได้ ควรเอาสิ่งระคายเคืองร่างกายออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามความสมัครใจของผู้ป่วย เป็นหลัก กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความเห็นได้ ก็เอาความสมัครใจของญาติ โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง เพราะอุปกรณ์ที่ช่วยชีวิตต่างๆ เช่น ท่อหรือสายต่างๆ ที่ใส่เข้าไปในร่างกาย จะระคายเคืองให้รู้สึกไม่สบายทุกข์ทรมาน ทำให้วางขันธ์ด้วยความทุกข์ทรมาน ไม่สงบ
มักมีคำถามเสมอว่า ผู้ที่ถอดเครื่องช่วยหายใจจะบาปไหม จะถือว่าเป็นการฆ่าคนไหม ตามภูมิปัญญาของผู้เขียน ที่ปฏิบัติธรรมมา 10 กว่าปี มีความเห็นว่า ถ้าแพทย์ผู้ดูแลลงความเห็นว่า ผู้ป่วยไม่มีโอกาศรอดแล้ว ต้องตายแน่นอน แสดงว่าแม้ใส่เครื่องช่วยหายใจรวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือช่วยชีวิตอื่นๆ ผู้ป่วยก็ต้องเสียชีวิตอยู่แล้ว แต่เสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานจากการระคายเคืองของอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าว แต่ถ้าถอดอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าวออก ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตเช่นเดียวกัน แต่เสียชีวิตด้วยความไม่ทุกข์ทรมานจากอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าว การถอดอุปกรณ์เครื่องมือในกรณีดังกล่าวจึงเป็นบุญกุศลทั้งต่อผู้ป่วยและต่อผู้ที่ช่วยถอดอุปกรณ์เครื่องมือ และเราก็ไม่ได้ฆ่าผู้ป่วย เพราะสิ่งที่ฆ่าผู้ป่วยคือความเจ็บป่วยของเขาเอง และเราก็ได้พากเพียรพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็สุดความสามารถที่เราจะช่วยได้ เราจึงไม่บาป
และควรลดหรืองดการใช้ยาเคมีระงับปวดหรือยาเคมีอื่นๆ ลง ให้อยู่ในระดับที่ผู้ป่วยมีพลังชีวิตสูงสุด คือสบาย เบากาย มีกำลังมากที่สุด หรือยังขันธ์ยังอัตภาพโดยไม่ยากไม่ลำบาก ไม่ทุกข์ทรมานจนเกินไป เพราะยาเคมีระงับปวดหรือยาเคมีอื่นๆ จะกดประสาทให้เบลอทำให้ครองสติลำบาก และยาเคมีดังกล่าวก็จะเข้าไปรบกวนและทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซ้ำเข้าไปอีก ถ้าให้อย่างไม่พอดีอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดทุกข์ทรมานมากขึ้นเป็นทวีคูณ
หลายครั้งที่ฤทธิ์ของยาไม่ว่าจะเป็นยาระงับปวดหรือยาเคมีอื่นๆ ทำลายอวัยวะจนเกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานมากกว่าที่ฤทธิ์ของยาจะกดประสาทไม่ให้รับรู้ว่าเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เช่น คนที่เสพยาเสพติด ยาเสพติดก็จะทำร้ายอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้น และต้องเสพมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ สุดท้ายก็ต้องเสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานจากพิษของยาเสพติด หรือผู้ป่วยบางคนที่ต้องกินหรือฉีดยาเสพติดระงับปวด ยาเสพติดไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นยาทำให้เกิดโรคเกิดการทำร้ายอวัยวะมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยก็จะได้ความทุกข์ทรมานจากโรคเดิมและโรคใหม่อันเกิดจากยาเสพติด สุดท้ายความรุนแรงของโรคที่ทวียิ่งขึ้นก็จะมากเกินกว่าฤทธิ์ของยาแก้ปวดจะระงับได้ ไม่ว่าจะเป็นยาระงับปวดชนิดต่างๆ หรือยาเสพติดระงับปวด ถ้าให้อย่างไม่พอเหมาะพอดี ผู้ป่วยป่วยจะเสียชีวิตด้วยความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงและไม่สงบ
ถ้าจำเป็นต้องให้ยาแก้ปวดก็ควรให้อย่างพอเหมาะตามสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย โดยให้ทุกข์ทรมานน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน การให้ยาแก้ปวดมากเกินไปก็ไม่สงบ น้อยเกินไปก็ไม่สงบ
ดังนั้น การเรียนรู้วิธีปรับสมดุลเพื่อลดความทุกข์ทรมานจึงเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว อาจทำให้สามารถลดหรืองดยาดังกล่าวได้ โดยดูที่สภาพความไม่ทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเท่าที่เราจะทำได้เป็นหลัก
สำหรับอาหารและน้ำนั้น ผู้ป่วยที่จะวางขันธ์ส่วนใหญ่ร่างกายต้องการอาหารและน้ำในปริมาณที่น้อยหรือบางครั้งก็ไม่ต้องการเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นให้ดูที่สภาพและความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก
๓) ประคองสติสู่การวางขันธ์วางร่าง
ผู้ที่จะประคองสติ ควรเป็นผู้ที่มีความเมตตา มีสติสมาธิตั้งมั่น ใจเย็น นิ่งสงบพอสมควรและเป็นผู้ที่ผู้ป่วยไว้วางใจ
ควรใช้เวลาอย่างน้อย ๕-๑๐ นาที ก่อนผู้ป่วยสิ้นใจ (จะพูดก่อนหน้านั้นก็ได้ เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยเริ่มทุกข์ทรมานมากจนทนได้ยากลำบากและโอกาสหายน้อยมาก) ประเด็นที่ควรสื่อกับผู้ป่วย ดังนี้
* ปฏิบัติใจที่จะให้ได้ประโยชน์สูงสุด ต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะทำให้ฟื้นก็ฟื้นได้ดี แม้เสื่อมก็เสื่อมได้ดี ก็คือ เมื่อได้ทีมหมอ ญาติและตัวเขาเอง ได้พากเพียรพยายามดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างดีที่สุดแล้ว ให้ทำใจว่า ถ้าร่างกายนี้จะฟื้นก็ให้ฟื้น ถ้าร่างกายนี้จะเสื่อมก็ให้เสื่อม การทำใจดังกล่าว จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายและจิตใจ เพราะถ้าร่างกายจะฟื้นก็จะทำให้ฟื้นอย่างดี และถ้าร่างกายจะเสื่อมก็จะทำให้เสื่อมอย่างดี จะทำให้จิตใจสงบผาสุกที่สุดด้วย
* การตั้งอยู่หรือการเสื่อมไปไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกๆ ชีวิต ทุกชีวิตไม่ว่าใครๆ ก็ต้องเผชิญการตั้งอยู่ ก็ต้องเผชิญการเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่มีผู้ใดที่หลีกพ้นการตั้งอยู่ ไม่มีผู้ใดที่หลีกพ้นการเสื่อมไป เป็นการดำเนินไปและเป็นหน้าที่ของทุกชีวิตที่ต้องตั้งอยู่ เป็นการดำเนินไปและเป็นหน้าที่ของทุกชีวิตที่ต้องเสื่อมไป เป็นความปกติธรรมดาที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้หมุนวนเกิดดับอยู่ตลอดกาลนาน
* ให้จิตตั้งอยูในกุศล ด้วยการหมั่นระลึกถึงคุณงามความดีที่เราเคยทำมาหรือคุณงามความดีของคนที่เราศรัทธา เช่น การพากเพียรดูแลครอบครัว การพากเพียรรับผิดชอบและพัฒนาการงาน การทำประโยชน์ให้กับญาติพี่น้อง บุคคลอื่นๆ และสังคม เป็นต้น การตั้งจิตอยู่ในกุศลจะทำให้จิตใจสงบผาสุก ร่างกายก็จะพลอยสงบตามไปด้วย
* ให้ปล่อยวางความวิตกกังวล ความห่วงใย ความห่วงหาอาวรในเรื่องต่างๆ ทุกเรื่อง เช่น การห่วงครอบครัวและญาติ ในกรณีที่คนในครอบครัวหรือญาติโตพอที่จะดูแลตัวเองได้แล้ว ก็บอกกับผู้ป่วยว่าแต่ละคนสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ไม่ต้องห่วงใคร ถ้ามีบางคนที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ก็บอกกับผู้ป่วยว่าผู้นั้นผู้นี้จะช่วยดูแล ถ้าไม่สามารถระบุบุคคลได้ก็บอกว่า จะมีผู้คอยช่วยดูแลแทน ทรัพย์สมบัติบ้านช่องเรือนชานกิจกรรมการงาน ก็เช่นเดียวกัน บอกกับผู้ป่วยว่าจะมีใครช่วยดูแล ถ้าไม่สามารถระบุบุคคลได้ ก็บอกว่าจะมีคนช่วยดูแล ไม่ต้องห่วงไม่ต้องวิตกกังวล
* กรณีที่เรารู้และแน่ใจว่าผู้ป่วยได้บำเพ็ญคุณงามความดีมามาก ก็บอกกับผู้ป่วยว่า “ผู้ป่วยได้บำเพ็ญคุณงามความดีสั่งสมบุญกุศลมามากแล้ว ภายภาคหน้า/ภพภูมิใหม่ย่อมเป็นภพภูมิที่ดีกว่า” แล้วค่อยพูดประโยคต่อไป กรณีที่ไม่แน่ใจว่าผู้ป่วยได้บำเพ็ญคุณงามความดีหรือไม่ก็ให้เว้นคำพูดนี้ แล้วพูดประโยคต่อไปเลย ดังนี้ “ถ้าร่างกายที่เรายืมอาศัยอยู่นี้ เสื่อมมากเกินไปแล้ว ทุกข์ทรมานมากเกินไปแล้ว ก็วางขันธ์วางร่างนี้ซะ แล้วไปเอาภพใหม่ร่างใหม่ที่ดีกว่า ที่ไม่ทุกข์ ไม่ทรมานเหมือนที่เป็นอยู่”
* เราสามารถพูดสื่อสาระดังกล่าว หรือภาษาใกล้เคียงที่สื่อไปในทำนองสาระดังกล่าว โดยสื่อวนเวียนกลับไปกลับมาหลายรอบก็ได้ โดยดูที่ปฏิกิริยาตอบรับของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรับได้และพยายามปฏิบัติตาม เราก็จะสังเกตเห็นความสงบผาสุกของผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยรับไม่ได้หรือรับได้แต่รู้สึกพอแล้วก็จะแสดงปฏิกิริยาต้านหรือสื่ออาการบางอย่างบอกเรา เช่น ผู้ป่วยยกมือให้เราหยุดหรือมีสีหน้าท่าทีไม่พอใจ รำคาญใจ ก็ให้เราหยุดสื่อสาระดังกล่าว ด้วยจิตเมตตา ไม่ถือสา ในขีดความสามารถที่จะรับสาระของผู้ป่วย แล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของเหตุปัจจัย
* ถ้าเราพูดสาระในการวางขันธ์วนหลายรอบพอสมควรแล้ว ผู้ป่วยก็ยังไม่วางขันธ์อยู่ ก็ให้เราพักการพูดสาระนั้น โดยอาจไม่กลับมาพูดอีก แต่ผู้ป่วยก็จะเอาสาระนั้นไปใช้เวลาต้องวางขันธ์จริงๆ หรือถ้าองค์ประกอบเหตุปัจจัยสมควรจะกลับมาพูดอีก เมื่อประเมินว่าผู้ป่วยใกล้จะวางขันธ์เราก็สามารถกลับมาพูดซ้ำอีกได้
* ในขณะที่ใกล้วินาทีสุดท้ายที่ผู้ป่วยจะวางขันธ์ เราจะสังเกตเห็นการหายใจเฮือกใกล้สุดท้ายหรือเฮือกสุดท้าย เป็นการหายใจที่ค่อยๆ นิ่งค่อยๆ สงบ ซึ่งผู้ป่วยต้องรวบรวมกำลังกายกำลังใจเพื่อจะวางร่างวางขันธ์ เราอาจให้กำลังใจผู้ป่วย ด้วยการบอกผู้ป่วยว่า ทำมาได้ดีแล้ว ใกล้จะสำเร็จแล้ว ให้พยายามอีกนิดหนึ่ง อีกอึดใจหนึ่งก็จะสำเร็จแล้ว อย่าเร่งว่าต้องเสื่อมไป อย่าฝืนว่าต้องตั้งอยู่ ปล่อยให้เป็นอย่างที่มันเป็น มันจะตั้งอยู่ก็ให้มันตั้งอยู่ มันจะเสื่อมไปก็ให้มันเสื่อมไป พูดซ้ำวนกลับไปกลับมาเรื่อยๆ จนผู้ป่วยสามารถรวบรวมกำลังกายกำลังใจแล้ววางขันธ์ได้ด้วยความสงบ
* เมื่อผู้ป่วยวางขันธ์แล้ว ผู้ป่วยจะหยุดการเคลื่อนไหว สมองไม่ทำงานไม่มีการตอบโต้ใดๆ หัวใจหยุดเต้น ไม่สามารถวัดชีพจรที่ข้างคอ หรือต้นขาด้านในได้ ถ้าตาของผู้เสียชีวิตยังไม่ปิด ก็ให้ปิดตาลงกดค้างไว้สักพักเพื่อให้อยู่ตัว จัดส่วนประกอบของใบหน้าและร่างกายให้เข้าที่เข้าทางดูดีตามสมควร แล้วให้ญาตินำศพไปดำเนินการตามจารีตประเพณีต่อไป
๔) ประคองสติญาติ
การชื่นชมความสำเร็จในการวางขันธ์อย่างสงบของผู้เสียชีวิต และผู้เสียชีวิตก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความเสื่อมหรือโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้ากายขันธ์ของผู้ป่วยให้ญาติฟังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ญาติมีกำลังใจ สุขใจ ภูมิใจและคลายความเศร้าโศกเสียใจลงได้
ครูบาอาจารย์ของผู้วิจัย เวลาไปแสดงธรรมที่งานศพ มักจะเล่าเรื่องราวในชาดกครั้งสมัยพุทธกาลเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาสาระดังนี้ เมื่อครั้งพุทธกาล มีหญิงนางหนึ่งที่บุตรเสียชีวิต นางได้เศร้าโศกเสียใจมากจนแทบจะเป็นบ้า จึงได้ไปพบพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามถึงยาที่จะช่วย ชุบชีวิตบุตรของนาง
พระพุทธเจ้าตรัสให้ไปหาเมล็ดผักกาดในบ้านที่คนอยู่ในบ้านไม่มีญาติตายมาชุบชีวิต นางจึงเที่ยวไปสอบถามแต่ละบ้าน ปรากฎว่า ไม่ว่าจะไปถามบ้านหลังไหนต่อหลังไหน คนที่อยู่ในบ้านก็ล้วนแต่มีญาติคนนั้นคนนี้เสียชีวิตทั้งนั้น เช่น บ้านแต่ละหลัง ก็บอกว่า พ่อตายบ้าง แม่ตายบ้าง สามีตายบ้าง ภรรยาตายบ้าง บุตรตายบ้าง หลานตายบ้าง เหลนตายบ้าง ญาติคนนั้นคนนี้ตายบ้าง เป็นต้น
นางก็เลยเข้าใจความจริงว่า ชีวิตที่เกิดมาทุกชีวิต ก็ต้องมีญาติพี่น้องตายพรากจากกันไปเป็นธรรมดาเหมือนๆ กันหมด ไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีชีวิตใดหลีกหนีพ้นไปได้ ไม่ใช่เราคนเดียวที่มีสภาพเช่นนั้น ทุกคนล้วนมีสภาพเช่นเดียวกันหมด นางจึงคลายความเศร้าโศกเสียใจลง แล้วไปฟังธรรมพระพุทธเจ้า จนบรรลุเป็นพระอรหันต์
ผู้วิจัยเองเมื่อมีเหตุปัจจัยพอเหมาะ ก็มักเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ญาติผู้เสียชีวิตฟังอยู่เสมอ เพื่อให้ญาติผู้เสียชีวิตได้รู้และฉุกคิดความจริงของชีวิต เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลายความเศร้าโศกเสียใจลงไปได้บ้าง
และผู้วิจัยมักเล่าให้ญาติผู้เสียชีวิตฟังเสมอว่า ถ้าผู้เสียชีวิตรู้ว่าเราเสียใจ เป็นทุกข์ ผู้เสียชีวิตก็คงไม่สบายใจ วิตกกังวล ห่วงหาอาลัยอาวร จิตใจไม่สุขสงบ ไปสู่สุคติไม่ได้ แต่ถ้าเขารู้ว่าเราสงบ ไม่เอาเรี่ยวแรงกำลังไปเศร้าโศกเสียใจ แต่เอาเรี่ยวแรงกำลังมาดำเนินกิจกรรมการงานให้เรียบร้อยอย่างพอเหมาะพอดี ผู้เสียชีวิตก็จะไปสู่สุคติอย่างไม่ห่วงหาอาลัย
เมื่อวันเวลาล่วงเลยไป ความเศร้าโศกเสียใจ ความห่วงหาอาลัย ก็จะจางคลายไป แม้จะมีอาการดังกล่าววนกลับมาบ้างเป็นบางคราว ก็เป็นธรรมดาที่พลังงานความรู้สึกดังกล่าว ยังไม่หมดไป ยังฝังค้างอยู่ในจิตวิญญาณเรา เราสามารถล้างพลังงานความรู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สบายดังกล่าวได้ ด้วยการหมั่นพิจารณาไตร่ตรองยอมรับความเป็นจริงว่าทุกชีวิตก็เป็นธรรมดาอย่างนั้น มันเป็นเพียงวัตถุสสารและพลังงานที่หมุนวนเกิดดับอยู่ในโลกเป็นธรรมดาตราบชั่วกาลนาน ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ในใจเรา การที่เราสร้างอารมณ์ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ ห่วงหาอาลัย ก็เป็นการสร้างความทุกข์ ความไม่สบายให้กับจิตใจและร่างกายเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไร และเราหรือใครๆ ก็ ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความจริงได้ แต่ถ้าเรายอมรับความจริงก็จะทำให้จิตใจเราสงบสบาย ร่างกายก็พลอยสบายไปด้วย
เมื่อเราหมั่นพิจารณาไตร่ตรองความจริงดังกล่าว ก็จะทำให้อารมณ์ความรู้สึกทุกข์ใจ ไม่สบายใจดังกล่าวค่อยๆ จางคลายไป แม้มีอารมณ์ความรู้สึกดังกล่าววนกลับมาอีกกี่ครั้งก็ตาม ก็ให้เราพิจารณาไตร่ตรองความจริง ยอมรับความจริง ความเศร้าโสกเสียใจ ความห่วงหาอาลัยอาวรณ์ ก็จะลดน้อยลงๆ และหมดไปในที่สุด
เจริญธรรม สำนึกดี มีใจไร้ทุกข์
ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) และคณะจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม
ที่มา : ใจเพชร กล้าจน. (2553). ความเจ็บป่วยกับการดูแลสุขภาพแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักแพทย์ทางเลือกวิถีพุทธของศูนย์เรียนรู้สุขภาพพึ่งตนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง สวนป่านาบุญ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (หน้า ๔๔๓ – ๔๔๙)