ดอกอัญชันมีฤทธิ์เย็น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกเลื้อยพัน ยาว 1-5 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 3-9 ใบ รูปรีแกมขอบขนานหรือรูปรีแกมไข่กลับ กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2-5 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีน้ำเงิน ม่วงหรือขาว ตรงกลางกลีบสีเหลืองหม่นขอบสีขาว ผลเป็นฝัก รูปดาบ โค้งเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย แตกเป็น 2 ฝา เมล็ดรูปไต จำนวน 6-10 เมล็ด
สรรพคุณ
- ดอกสีน้ำเงิน ใช้เป็นสีแต่งอาหาร ขนม
ใช้กลีบดอกสด ตำเติมน้ำเล็กน้อย กรองด้วยผ้าขาวบาง คั้นเอาน้ำออก จะได้น้ำสีน้ำเงิน (Anthocyanin) ใช้เป็น indicator แทน lithmus ถ้าเติมน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อย จะกลายเป็นสีม่วง ใช้แต่งสีอาหารตามต้องการ มักนิยมใช้แต่งสีน้ำเงินของขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ขนมขี้หนู - รากต้นอัญชันดอกสีขาว
ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย- ใช้ฝนเอาน้ำหยอดตา แก้ตาเจ็บ ตาฟาง บำรุงดวงตา หรือผสมทำยาสีฟัน แก้ปวดฟัน และใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาระบายท้อง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
- ใบและราก ฝนเอาน้ำหยอดตา แก้ตาแฉะ ตาฟาง
- ดอก ตำเป็นยาพอก หรือคั้นเอาน้ำทาแก้ฟกบวม แก้พิษแมลงกัดต่อย และใช้สระผมเป็นยาแก้ผมร่วง
- เมล็ด ใช้กินเป็นยาระบายท้อง
- นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์ในต่างประเทศ ตามตำราอายุรเวทศาสตร์ของอินเดีย อัญชันถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่พืชที่มีสรรพคุณบำรุงสมอง โดยได้มีการนำส่วนรากและเมล็ดของอัญชันมาใช้เป็นยาสำหรับบำรุงร่างกาย บำรุงสมอง และบำรุงความจำ รวมถึงใช้เป็นยาระบายและขับปัสสาวะ
- ในแถบอเมริกามีรายงานการใช้น้ำต้มจากส่วนรากเพียงอย่างเดียวหรือน้ำต้มจากรากและดอกร่วมกันเป็นยาบำรุงโลหิต ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ และขับพยาธิ
- สารสกัดชนิดต่าง ๆ ที่ได้จากส่วนลำต้นเหนือดิน ใบ ดอก และรากของอัญชันมีฤทธิ์กระตุ้นการเรียนรู้และความจำ ช่วยคลายความเครียดและวิตกกังวล มีฤทธิ์ช่วยในการนอนหลับ ลดน้ำตาลในเลือด แก้ไข้ แก้ปวด และต้านการอักเสบ
- สมัยโบราณจะนำดอกอัญชัญมากินเพื่อช่วยในเรื่องของการเพิ่มความจำ และมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นไปได้ที่ดอกอัญชันสามารถเพิ่มความจำได้ และยังเป็นยานอนหลับแบบอ่อนๆ ที่ได้ทำการทดลองในหนูอีกด้วย แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำมาทดลองในคน
ข้อควรระวัง
การใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคควรระมัดระวังการรับประทานร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน และ warfarin เป็นต้น เนื่องจากมีรายงานว่าสาร ternatin D1 ในดอกอัญชันมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ซึ่งอาจมีผลเสริมฤทธิ์กันจนเกิดอันตรายต่อร่างกาย
ดังนั้นผู้ที่ต้องใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำ หากต้องการบริโภคดอกอัญชันในรูปแบบเครื่องดื่มหรือชาชง ไม่ควรชงในขนาดความเข้มข้นมาก และไม่ควรดื่มแทนน้ำ ส่วนข้อควรระวังสำหรับการใช้ภายนอกร่างกายคือ ควรระมัดระวังในผู้ที่มีอาการแพ้ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ให้หมั่นสังเกตตนเอง
หากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอัญชันแล้วก่อให้เกิดอาการระคายเคืองควรหยุดใช้ทันทีสามารถติดตามอ่านข้อมูลงานวิจัยของอัญชันโดยละเอียดได้ในจุลสารข้อมูลสมุนไพรฉบับ 32 เดือนตุลาคม 2557 (นันทวัน บุณยะประภัศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 5. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด; 2543. 740 หน้า)
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. ได้ทำการสอบถามเภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่าดอกอัญชันนั้นจะมีความปลอดภัยสูง ถ้าหากกินในรูปแบบของอาหาร เช่น อาจจะนำดอกอัญชันมาทำเป็นยำ หรือนำเอาดอกอัญชัน 2-3 ดอก มาทำเป็นน้ำชงกับชา เป็นต้น
เภสัชกรระบุว่า โดยทั่วไปจะเห็นว่ามีการนำดอกอัญชันมาทำเป็นเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้ใช้ดอกอัญชันในปริมาณที่เยอะ จะใช้เพียง 2-3 ดอกเท่านั้น เพราะหากใช้ในปริมาณที่เยอะเกินจะทำให้น้ำมีสีเข้มเกินไป ดูไม่น่ากิน และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ฉะนั้นจากที่ได้มีการเตือนว่าอาจทำให้ไตทำงานหนักนั้นก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง หากกินในที่ปริมาณมากหรือกินแทนน้ำเปล่า เพราะของทุกอย่างที่กินเข้าไปภายในร่างกายจะต้องผ่านตับกับไต จึงมีความเสี่ยงถ้าหากกินเยอะมากจนเกินไป
สำหรับผู้ป่วยโลหิตจาง ที่มีการเตือนว่าดอกอัญชันมีฤทธิ์ในการละลายลิ่มเลือด ต้องทำความเข้าใจไว้ก่อนว่าดอกอัญชันนั้นไม่ได้ทำให้เลือดจางลง แต่จะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้นหากกินในปริมาณที่พอเหมาะ 2-3 ดอก กินไม่ต่อเนื่อง อาจจะเป็นกินสลับวันก็ได้ แต่ถ้าหากกินในปริมาณที่เยอะ 10-15 ดอก โดยหากกินอย่างต่อเนื่องทุกวันจะเป็นอันตรายได้ เพราะได้มีการวิจัยแล้วว่าถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดควบคู่อยู่ด้วยแล้วเกิดมีบาดแผลก็จะทำให้เลือดหยุดไหลได้ยาก
นอกจากนี้ ดอกอัญชันนั้นเวลาเด็ดจะมียางสีขาวอยู่ หากจะกินดอกอัญชันแบบสดหรือนำไปปรุงเป็นอาหาร ก็ควรล้างให้สะอาดก่อน เพราะอาจทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหารได้ และในตัวเมล็ดของดอกอัญชันจะมีฤทธิ์เบื่อเมาอยู่ หากกินเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ แต่โดยปกติแล้วก็ไม่ค่อยมีใครกินเมล็ดของดอกอัญชันกันอยู่แล้ว
แหล่งข้อมูล
- เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- เว็บไซต์ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Academy)