ประโยชน์สูง ประหยัดสุด ประหยัดน้ำ ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา
นาเล็ก ตัวอย่างการทำกสิกรรมไร้สารพิษ ชีวิตผาสุก เริ่มตั้งแต่การทำกสิกรรมไร้สารพิษ เป็นการทำนาแบบมีศีลไม่เบียดเบียนตนเอง คนอื่น สัตว์อื่น การทำนาเล็ก เป็นการประมาณความพอดี ให้พอดีแรงเรา ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้เป็นประโยชน์สูง ประหยัดสุด ตามกำลัง ไม่ต้องโลภ พึ่งตัวเองได้มาก อัตตาหิ อัตโนนาโถ นาเล็กสามารถเป็นไร่นาสวนผสมได้ บนคันนาสามารถปลูกพืชผัก ปลูกข้าวได้ ปลูกผักสวนครัวก็ได้ ปลูกต้นแค มะละกอ กล้วย เป็นต้น ในน้ำก็ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักพาย ผักกูดสายบัว แซมไปได้ สรุปแล้วพืชผักสวนครัว เราสามารถปลูกได้ทุกอย่างเลย มาที่เดียวได้ครบหมด และเราก็มีกำลังใจ มาที่เดียวมีอาหารได้กินครบ และไม่ลำบากเกินไป ดูแลได้ทั่วถึง
จุดเด่นของนาเล็ก
- ประหยัดน้ำ ไม่ต้องรดน้ำ เพราะเราขังน้ำไว้ในแปลง
- ประหยัดปุ๋ย ใส่อินทรียวัตถุสดหรือแห้ง
- บริหารจัดการง่าย ไม่ต้องไถ
- ควบคุมน้ำ ปุ๋ย วัชพืชได้ดี
- เก็บน้ำไว้ได้ยาวนาน อินทรียวัตถุเป็นตัวดูดซับและอุ้มน้ำที่สำคัญ
- เป็นไร่นาสวนผสม ปลูกได้ทั้งพืชน้ำ (ปลูกในแปลง) พืชบก (ปลูกตรงคันนา) มีความยั่งยืน
- ทำแปลงเล็ก ทำให้มีกำลังใจในการทำ
- เราไม่ได้เสียพื้นที่ทำนา เราปลูกข้าว พืช ผักสวนครัวบนคันนา เราได้พืชผักเพิ่มขึ้น ในแปลงปลูกพืชน้ำที่กินได้ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด สายบัว ผักกูด
- พืชพันธุ์ธัญญาหาร ปลูกในที่เดียวกัน ปลูกพืชหลากหลาย
- ใส่น้ำลงไปให้พอเหมาะ น้ำจะซึมเข้าแปลงผัก เราก็ไม่ต้องรดน้ำพืชที่ปลูกบนคันนา
- เวลามีเพื่อนพืช (วัชพืช) ขึ้นมาก็ถอนแล้วโยนลงน้ำในนาแปลงเล็ก น้ำท่วมเพื่อนพืชก็จะตายเป็นปุ๋ย สามารถเอาปุ๋ยในแปลงมาใส่บนคันนาได้
- เป็นที่เก็บน้ำขนาดย่อม ฝนตกมาก็เก็บน้ำได้เมื่อขุดแปลงให้ลึกขึ้น ใส่อินทรียวัตถุลงไปมาก ๆ เป็นตัวซับน้ำ เป็นอะคีเฟอร์ (Aquifer คือ ชั้นดินอุ้มน้ำ ชั้นดินที่น้ำสามารถซึมผ่านน้ำได้อย่างอิสระ ) เป็นการชาร์จน้ำ (เติมน้ำลงไปในดิน) ไว้ แทนที่จะปล่อยน้ำทิ้งไปให้ไหลผ่านไปเฉย ๆ
- ดินจะชุ่มชื้นตลอด เป็นการสร้างตาน้ำ นี่คือธนาคารน้ำใต้ดินขนาดย่อม แก้ปัญหาได้ทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง
วิธีทำนาเล็ก
ตีแปลงพื้นที่นาขนาด 1-4 เมตร เช่น 1×1, 2×2, 3×3, 4×4 หรือ 1×2, 1×3, 1×4 หรือปรับขนาดแล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ ขุดแปลงให้ลึกประมาณ1/2 -1 ฟุต ทำคันนาคั่น 1-3 เมตร บางช่วงทำคันนา 4 เมตร เพื่อสะดวกในการขนอินทรียวัตถุ ผลผลิต หรือนำรถเข้าออกในการทำงานต่าง ๆ และเป็นโคกในการปลูกพืช ผักผลไม้ ที่ไม่ต้องการน้ำมาก โดยการพัฒนาดินให้ดีด้วยการนำอินทรียวัตถุ เช่น กิ่งไม้ ใบไม้สดและแห้ง หรือเศษอาหาร มากองหนาประมาณ 1 ฟุต แล้วเอาดินกลบหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร ก่อนปลูก ในแปลงนา สามารถยกแปลงเพื่อปลูกผักบนแปลงและปลูกข้าวตามร่องแปลงผักได้ การทำคันกั้นระหว่างแปลงผัก ใช้หลักการเรื่องน้ำดี มาจัดการน้ำ เพื่อให้น้ำไหลไปทั่วนาแปลงเล็ก
วิธีจัดการน้ำ คือ
- ปล่อยน้ำเข้าไปในร่องระหว่างแปลงที่เราทำไว้ จุดก่อนกระแสน้ำแรง เอาดินคั่นไว้ เอาพลาสติก หรือกระสอบ ปูทับดินที่คั่นไว้
- ตัดขนาดของกระสอบหรือถุงพลาสติกให้พอเหมาะพาดเป็นรูปตัว U หรือตัว V แล้วเอาดินที่เปียกๆ มาแปะๆ ทั้งด้านข้างและหัวท้ายกดลงไปให้ดินยึดพลาสติกหรือกระสอบคลุมดิน
- ความสูงของคันกั้นน้ำให้ต่ำกว่าส่วนสูงของแปลงประมาณ 10 เซนติเมตร สามารถปรับความสูงของคันกั้นน้ำ ตามสภาพดินและความต้องการน้ำของพืช อาจขังน้ำไว้ตลอดหรือขังน้ำเป็นช่วงๆ เช่น 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง เป็นต้น โดยสามารถปรับการขังน้ำได้ตามสภาพดินและความต้องการของพืช ทำให้สะดวกในการให้น้ำพืช
ท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จครับ
โดย ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)
19 มิถุนายน 2564
ณ พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่