ฟักเขียวมีฤทธิ์เย็น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ฟักเขียวเป็นพืชอายุสั้น มีลำต้นสีเขียวมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วลำต้น แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ใบมีลักษณะเป็นหยักคล้ายฝ่ามือขอบใบแยกออกเป็น 5–7 แฉก ปลายแฉกแหลมใบหยาบเรียงสลับกันตามข้อต้น ใบกว้างประมาณ 5–15 เซนติเมตร มีขนปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกเดี่ยว (Solitary Flower) สีเหลือง ดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นหลอดยาว 5–10 เซนติเมตร ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ส่วนดอกเพศเมียก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ ปลายดอกแยกออกเป็น 3 แฉก มีรังไข่อยู่ภายในดอก ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวกว้างประมาณ 20–30 เซนติเมตร ยาว 30–60 เซนติเมตร เปลือกแข็งสีเขียวเนื้อในสีขาว เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ มีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมากสีขาวออกเหลือง
ฟักเขียวสามารถบริโภคได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ โดยผลอ่อนรสชาติจะเข้มกว่าผลแก่ มีน้ำมาก ใบอ่อนและตาดอก นำไปนึ่งหรือใส่ในแกงจืดเพิ่มรสชาติ ส่วนเมล็ดอุดมไปด้วยน้ำมันและโปรตีนโดยทำให้สุกสามารถกินได้ แต่มีข้อควรระวังสำหรับคนที่มีปัญหาทางด้านการขับถ่าย และมีอาการแน่นหน้าอก ไม่ควรรับประทาน
สรรพคุณทางยา
- ใบ – แก้ฟกช้ำ แก้พิษผึ้งต่อย ช่วยรักษาบาดแผล แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้บวมอักเสบมีหนอง
- ผล – ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ธาตุพิการ แก้โลหิตเป็นพิษ บวมน้ำ หลอดลมอักเสบ
- เมล็ด – ลดไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไตอักเสบ บำรุงผิว ละลายเสมหะ
- ราก – แก้ไข้ แก้กระหายน้ำ ถอนพิษ
- เถาสด – รสขมเย็น ใช้รักษาริดสีดวงทวาร มีไข้สูง
- เปลือก – บำบัดอาการบวมน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แผลบวมอักเสบมีหนอง
สรรพคุณยาไทย
- ไส้ฟัก บีบคั้นเอาแต่น้ำ รับประทานแก้อาเจียนเป็นโลหิต
- ราก แก้พิษไข้ร้อนกระหายน้ำ และ ถอนพิษทั้งปวง
- ลูก (ผล) รสเย็น ขับปัสสาวะ แก้ธาตุพิการ แก้ไอเป็นเลือด น้ำคั้นจากลูกแก้อาเจียน แก้โลหิตเป็นพิษ ขับปัสสาวะ ลดไข้ ถอนพิษ
- เปลือกลูก รสเฝื่อนเย็น แก้ช้ำใน แก้ปวดเอว ใช้กรณีบวมน้ำ ปัสสาวะไม่สะดวก ลดความร้อน ในฤดูร้อน ปัสสาวะไม่ยาว (เช่นเดียวกับในรายงานวิจัยจีนกล่าวว่า หากรับประทานเปลือกผลภายใน 2 ชั่วโมง จะเห็นผลด้านการขับปัสสาวะ เมล็ด ลดความร้อน ขับเสลด)
- ใบ รสเย็น ตำพอกแก้ฟกช้ำ แก้บาดแผลเล็กน้อย แก้บวม แก้พิษผึ้งต่อย
- เมล็ด รสมัน ขับพยาธิ ลดไข้ แก้อักเสบ บวม แก้ริดสีดวงทวาร แก้ลำไส้เล็กอักเสบ แก้ทางเดินปัสสาวะ แก้ไตอักเสบ บำรุงผิว ในตำราจีน ใช้เมล็ด แก้ไข้ ลดความร้อน ระบายเสลด ใช้กรณีไอ จากความร้อน อาการทางปอด ตกขาว
ชื่อท้องถิ่น
ในประเทศไทยมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างกันไป เช่น
- ภาคเหนือ – ฟักขี้หมู, ฟักจิง, มะฟักขม, มะฟักหม่น, มะฟักหม่นขม
- ภาคอีสาน – บักฟัก,บักโต่น
- ภาคกลาง – ฟักขาว, ฟักเขียว, ฟักจีน, แฟง
- ภาคใต้ – ขี้พร้า
- แม่ฮ่องสอน – มะฟักหอม
- ชาวกะเหรี่ยง/แม่ฮ่องสอน – ดีหมือ, ลุ่เค้ส่า
- จีนแต้จิ๋ว – ตังกวย, ตี่จือ
แหล่งข้อมูล
- เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- เว็บไซต์ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่