พริกมีฤทธิ์ร้อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะเป็นไม้ทรงพุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 45-75 ซม. ลักษณะลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันและตรงข้าม ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ปลายใบแหลม ดอกขนาดเล็กสีขาว ดอกเดี่ยวออกตามข้อของลำต้น ประมาณ 1-3 ดอก ผลขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.25-0.6 นิ้ว ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม แดง หรือ แดงปนน้ำตาล ผิวเป็นมัน ขนาดและรูปร่างของผลแตกต่างกันตามพันธุ์ มีรสเผ็ดมากน้อยตามชนิดพันธุ์
สรรพคุณของพริก
- บรรเทาอาการไข้หวัดและการหายใจสะดวกสบายยิ่งขึ้น สารแคปไซซินที่อยู่ในพริกช่วยลดน้ำมูก หรือสิ่งกีดขวางระบบการหายใจอันเนื่องจากเป็นไข้หวัด ไซนัสหรือโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ช่วยบรรเทาอาหารไอ
- ลดการอุดตันของหลอดเลือด การอุดตันของหลอดเลือดเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจล้มเหลว หรือการเสียชีวิตจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน การกินพริกเป็นประจำจะช่วยลดอัตราเสี่ยงจากโรคทั้ง 2 ชนิด ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดี ลดความดัน ทั้งนี้เพราะสารจำพวกบีต้าแคโรทีนและวิตามินซีช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง เพิ่มการยืดตัวของผนังหลอดเลือด ทำให้ปรับเข้ากับแรงดันระดับต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
- ลดปริมาณสารคอเลสเตอรอล แคปไซซินช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-low density lipoprotein) ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-high density lipoprotein)ขึ้นทำให้ปริมาณ ของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ
- ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง พริกเป็นพืชที่มีวิตามินซีสูง การกินอาหารที่มีวิตามินซีมากๆ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ วิตามินซียับยั้งการสร้างสารไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหารวิตามินซีช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนที่เป็นส่วนประกอบของกระดูกอ่อน รวมถึงเป็นส่วนประกอบของผิวหนัง กล้ามเนื้อและปอด คอลลาเจนเป็นโปรตีนที่สามารถหยุดการแพร่กระจายของเซลล์ร้ายได้ นอกจากนี้ วิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ทำการหยุดยั้งบทบาทของอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่จะก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ สารบีต้าแคโรทีนในพริกช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งในปอดและในช่องปาก เพราะคนที่กินผักที่มีสารบีต้าแคโรทีนน้อยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากกว่าคนที่กินผักที่มีบีต้าแคโรทีนสูงถึง 7 เท่าสารบีต้าแคโรทีนมีคุณสมบัติช่วยลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์และทำลายเซลล์มะเร็ง
- บรรเทาอาการเจ็บปวด มนุษย์ใช้พริกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดมานานแล้ว เช่น ลดอาการปวดฟัน บรรเทาอาการเจ็บคอ และการอักเสบของผิวหนัง ปัจจุบันมีการใช้สารแคปไซซินเป็นส่วนประกอบของขี้ผึ้งใช้ทาบรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากผดผื่นคัน และอาการผื่นแดงที่เกิดบนผิวหนัง รวมทั้งอาการปวดที่เกิดจากเส้นเอ็น อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด โรคเกาต์หรือโรคข้อต่ออักเสบ
- อารมณ์แจ่มใส สารแคปไซซินช่วยเสริมสร้างอารมณ์สดชื่น เนื่องจากสารนี้มีการส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมองสร้างสารเอนดอร์ฟิน (endorphin) ออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน คือบรรเทาอาการเจ็บปวด ทำให้อารมณ์แจ่มใส
- พริกสด พริกแห้ง พริกป่น พริกดองช่วยเจริญอาหาร
- แก้อาเจียน บิด ขับเหงื่อ ขับลม
- เป็นเครื่องเทศ เครื่องแต่งสี กลิ่น รส ที่มีบทบาทสำคัญมากในอาหารไทยแทบทุกชนิด ทั้งน้ำพริก แกง ผัด ยำ ต้ม หมก หลน รวมทั้งซอส น้ำจิ้มปรุงรสต่าง ๆ ใช้ตกแต่งอาหารให้ดูสวยน่ารับประทาน และแต่งสี กลิ่น รส เครื่องดื่ม
- แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว กลาก หิต บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาการไขข้ออักเสบ ปวดบวม ใช้ผลพริกขี้หนูดองสุราหรือบดผสมวาสลิน 5 ส่วนในพริก 1 ส่วน ใช้ทาถูนวดบริเวณที่เป็น
- แก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อย ขับปัสสาวะ ใช้ต้นสุกเป็นถ่านแช่น้ำดื่ม
- ใบแก้อาการคันจากมดคันไฟ