ข่าเป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตร เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอก ช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผล เป็นผลแห้งแตกได้ รูปกลม
สรรพคุณ
- เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
- แก้อาหารเป็นพิษ
- เป็นยาแก้ลมพิษ
- เป็นยารักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ติดเขื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
- รักษาท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องเดิน (ที่เรียกโรคป่วง) แก้บิด อาเจียน ปวดท้อง
ใช้เหง้าข่าแก่สด ยาวประมาณ 1-1 ½ นิ้วฟุต (หรือประมาณ 2 องคุลี) ตำให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส ใช้น้ำยาดื่ม ครั้งละ ½ ถ้วยแก้ว วันละ 3 เวลา หลังอาหาร - รักษาลมพิษ
ใช้เหง้าข่าแก่ ๆ ที่สด 1 แง่ง ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอให้แฉะๆ ใช้ทั้งเนื้อและน้ำ ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อย ๆ จนกว่าจะดีขึ้น - รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง
ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นโรคผิวหนัง หลาย ๆ ครั้งจนกว่าจะหาย
- ยาพื้นบ้านอีสาน ใช้ เหง้า มีกลิ่นหอม ฉุน รสขม บดเป็นผงละลายน้ำ หรือต้มน้ำดื่ม ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ตำรายาไทย ใช้ เหง้าแก่ รสเผ็ดร้อน ขม รับประทานเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้ไอ ช่วยย่อยอาหาร แก้บิด แก้ปวดท้องจุกเสียด กินแก้โรคปวดข้อ และโรคหลอดลมอักเสบ ขับน้ำคาวปลา ขับรก ใช้ภายนอกทารักษากลากเกลื้อน แก้ไฟลวก แก้น้ำร้อนลวก แก้ลมพิษ และโรคลมป่วงแก้สันนิบาตหน้าเพลิง ตำกับน้ำมะขามเปียกและเกลือให้สตรีกินหลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา แก้ฟกบวม โดยใช้ข่าแก่ฝานเป็นชิ้นบาง ๆ ชุบเหล้าโรงทา เหง้าแก่สดแก้โรคน้ำกัดเท้าโดยใช้ 1-2 หัวแม่มือ ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงพอท่วม ทิ้งไว้ 2 วัน ใช้สำลีชุบทาวันละ 3-4 ครั้ง หรือทาลมพิษ (ทาบ่อย ๆ จนกว่าจะดีขึ้น) ใบ รสเผ็ดร้อน ฆ่าพยาธิ กลากเกลื้อน ต้มอาบ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ ดอก รสเผ็ดร้อน ทาแก้กลากเกลื้อน ผล รสเผ็ดร้อนฉุน ช่วยย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องอืดเฟ้อ แก้บิดมีตัวและไม่มีตัว หน่อ รสเผ็ดร้อนหวาน แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ ต้นแก่ รสเผ็ดร้อนซ่า ตำผสมน้ำมันมะพร้าว ทาแก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ แก้ตะคริว ราก รสเผ็ดร้อนปร่า ขับเลือดลม ให้เดินสะดวก แก้เหน็บชา แก้เสมหะ และโลหิต หน่อ มีรสเผ็ดร้อนหวาน แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ
- ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ เหง้า ผสมใบมะกา เถาเชือก เขาหนัง หัวยาข้าวเย็นและเกลือ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาถ่าย เหง้าอ่อน ผสมขยันทั้งต้น หัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงลำไส้ ลำต้นใต้ดิน รักษาโรคกลากเกลื้อน เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเจ็บเมื่อยเส้นเอ็น ยาเสียบคัด ยามะเร็งครุด ยาไอ เป็นต้น
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ในหลอดทดลองพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคท้องเสีย วัณโรค ฝีหนอง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อราพวกกลาก และยืสต์ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังมีฤทธิ์ฆ่าแมลง และมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกในหนู สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้ามีฤทธิ์ขับพยาธิ ลดความดันโลหิต ลดไข้ และรักษาแผลที่กระเพาะอาหารและลดการหลั่งของกรด นอกจากนี้ยังต้านการอักเสบของตับ เพิ่มการเคลื่อนไหวของอสุจิ กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ การศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลองพบว่า ไม่มีพิษเฉียบพลัน แต่ในระยะยาวพบว่า ระดับเม็ดเลือดแดงลดลง และไม่เป็นพิษต่ออสุจิ
แหล่งข้อมูล
- เว็บไซตฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี