ดิบมีฤทธิ์เย็น และ สุกมีฤทธิ์ร้อนเล็กน้อย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10 – 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ลำต้นและกิ่งเหนียว ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนและแตกสะเก็ดเป็นร่องเล็กๆ เปลือกต้นด้านในมีสีแดงเรื่อๆ แก่นสีน้ำตาลเข้ม กระพี้สีขาว
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ชั้นเดียวออกเรียงสลับ ใบย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะใบรูปขอบขนาน ปลายใบเว้าบุ๋มหรือมน โคนใบมน ออกใบเป็นคู่ๆ เรียงกันตามก้านใบแบบตรงข้ามประมาณ 10 – 18 คู่ แผ่นใบเรียบบางสีเขียว ใบอ่อนสีออกแดงเรื่อๆ หรือชมพู
ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ช่อหนึ่งมีประมาณ 10 – 15 ดอก ออกช่อตามปลายกิ่งและซอกใบ มีกลีบรองกลีบดอก 4 กลีบ สีเหลืองหรือเขียวอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองประแต้มสีแดงส้ม
ผล เมื่อดอกร่วงแล้วก็จะติดผลเป็นฝักกลม แบนเล็กน้อย คอดเป็นข้อตามเมล็ด และมีก้าน เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ข้างในผลมีเนื้อเยื่อ แรกๆ เป็นสีเหลืองอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลแก่จัด ซึ่งจะหุ้มเมล็ดอยู่
เมล็ด เมล็ดเป็นรูปค่อนข้างกลมแป้น เปลือกผิวเกลี้ยงมีสีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลเข้ม
สรรพคุณของมะขาม
- ใบ รสเปรี้ยวฝาด ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้โรคบิด ฟอกโลหิต ขับลมในลำไส้ รักษาหวัด ขับเหงื่อ เป็นยาถ่าย ยาระบาย แก้ตามัว หยอดตารักษาเยื่อตาอักเสบ, ใบอ่อน นำมาต้มเอาน้ำโกรกศึรษะแก้หวัด คัดจมูก
- ผลหรือฝักดิบ รสเปรี้ยว ช่วยฟอกเลือดและลดความอ้วน เป็นยาระบาย ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย บรรเทาอาการไข้
- เนื้อในฝัก รสเปรี้ยว เป็นยาระบาย แก้ท้องผูก ขับเสมหะ แก้ไอ กระหายน้ำ ฟอกโลหิตสตรีหลังคลอด
- เมล็ดใน รสมัน ขับพยาธิไส้เดือนในลำไส้ แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน บำรุงกำลัง
- เปลือกเมล็ด รสฝาด แก้ท้องร่วง แก้บิดลมป่วง สมานแผลที่ปาก คอ ลิ้นและตามร่างกาย รักษาแผลสด
- เปลือกต้น รสฝาดเมาร้อน แก้เหงือกบวม ฆ่าแมลงกินฟัน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ต้มหรือฝนกับน้ำปูนใสชะล้างบาดแผลและทารักษาบาดแผลเรื้อรัง
- ทั้งต้น รสฝาดเมา แก้ไข้ตัวร้อน
- แก่น รสฝาดเมา กล่อมเสมหะและโลหิต รักษาฝีในมดลูก เป็นยาชักมดลูกให้เข้าอู่
- ราก รสฝาด แก้ท้องร่วง สมานแผล รักษาเริม และงูสวัด