ฉันทะ ๘ ชั้นคืออะไร
๑. ฉันทะในชั่ว แบบมีทุกข์ คือ กามฉันทะในชั่ว มีสุขลวง สุขลิกะในชั่วปน แบ่งเป็น
๑.๑ กามภพในชั่ว
๑.๒ รูปภพในชั่ว
๑.๓ อรูปภพในชั่ว
อยากได้อยากเสพในสิ่งที่เป็นโทษภัย ควรลด ละ เลิก ตัดไปเลย
๒. ฉันทะในดีแบบมีทุกข์ คือ กามฉันทะในดี ที่มีสุขลวงทุกข์จริงปนอยู่ แบ่งเป็น
๑.๑ กามภพในดี
๑.๒ รูปภพในดี
๑.๓ อรูปภพในดี
ถ้าดีเกิดจะสุขใจ ดีไม่เกิดจะทุกข์ใจ ถ้ามาแช่อยู่ตรงนี้ก็ทุกข์ ดีในงาน ดีในคนดี ดีในเหตุการณ์ มีฉันทะที่จะให้เกิดดี แต่มีสุขลวงทุกข์จริงซ่อนอยู่ มาแช่อยู่แค่นี้ชีวิตไม่พ้นทุกข์
ชาวแพทย์วิถีธรรมแช่อยู่ตรงนี้เยอะ เพราะมีดีให้เสพเยอะ ดีในการงาน ดีในเหตุการณ์ ก็มีให้เสพเยอะ แล้วคนหลงว่าอันนี้เป็นดีในพุทธะเยอะ ทำดีไม่เอาอะไรเลย เงินทอง รอยยิ้ม คำขอบคุณก็ไม่เอา เพียงแค่เกิดดีไม่ได้จะไม่สบายใจเท่านั้นเอง กิเลสบอกว่าเราไม่เอาอะไร
ตกลงก็เอาดีนั้นแหละมาเสพ กิเลสมันเนียน คนจึงเข้าใจว่าตัวเองเป็นพุทธะ
บางท่านมีความพอใจมากที่จะได้ฟังธรรม พอใจที่จะได้เข้ารายการอริยสัจขจัดมาร เราก็ทบทวนธรรมตลอดนะ แต่มีเหตุปัจจัยให้เข้าซูม (Zoom) ไม่ได้ เข้ารายการไม่ได้ ก็ทุกข์ใจ เราก็เข้าใจว่าเราเป็นพุทธะ พุทธะต้องมีฉันทะอย่างนี้ ได้เข้ารายการได้สนทนาธรรม พุทธะต้องเป็นอย่างนี้แหละ เหมือนพุทธะ แต่ไม่ใช่พุทธะ มีกิเลสแทรกเพราะมีทุกข์
พุทธะคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ผู้ไม่รู้ ผู้ทุกข์ ผู้เบิกบูด สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี แม้แต่การฟังธรรมก็ยึดไม่ได้
คนจะดื้อสุด สอนยากสุดอยู่ตรงนี้ แต่เขาคิดว่าเขาพ้นทุกข์แล้ว วันที่ไม่ได้ก็จะรอให้หมดวิบาก หมดวิบากเมื่อไหร่ก็จะเอาให้ได้ดั่งใจหมาย ตั้งความหวังว่าสักวันวิบากหมดเราก็จะได้ดั่งใจหมาย หรือไม่ก็จะออกจากหมู่ไปเพื่อให้ได้ดั่งใจหมาย จะพ้นทุกข์ไหม? ไม่พ้นนะ จะพ้นทุกข์ต้องกำจัดทุกข์
ฉันทะชั้น ๑ และ ชั้น๒ ก็ตรวจสอบตัวเองไปว่าเราอยู่ชั้น ป.๑/๑, ป.๑/๒ หรือ ป.๑/๓ หรือ ป.๒/๑ ป.๒/๒ ป.๒/๓ อ่านตัวเองได้ว่าเราอยู่ชั้นไหน จะได้ประเมินตัวเองและ ทำให้ตัวเองเจริญขึ้นไปอีก
๓. ฉันทะในการหยุดทุกข์ในชั่ว หมดทุกข์ หมดชั่ว ดับสุขลวงทุกข์จริงในชั่ว ได้สุขจริงได้อาศัย ยินดีที่ได้สุขจริงเพราะเราพ้นสุขลวงในชั่ว แบ่งเป็น
๓.๑ ฉันทะในการกำจัดกามภพในชั่ว
๓.๒ ฉันทะในการกำจัดรูปภพในชั่ว
๓.๓ ฉันทะในการกำจัดอรูปภพในชั่ว บางทีก็ซ้อนกับชั้นป.๑ คือ ถ้าเรามีฉันทะในกามภพในชั่ว เราก็อยู่ป.๑ เมื่อกำจัดกามภพในชั่วได้ เราก็อยู่ป.๓/๑ ก็จะโอเวอร์แล็บ (overlap) กันแบบนี้
๔. ฉันทะในการหยุดทุกข์ในดี หมดกามในดี หมดสุขหมดทุกข์ในดี อุเบกขา แบ่งเป็น
๔.๑ ฉันทะในการกำจัดกามภพในดี
๔.๒ ฉันทะในการกำจัดรูปภพในดี
๔.๓ ฉันทะในการกำจัดอรูปภพในดี จะมาสู่ชั้นที่ ๔ ชั้นพ้นทุกข์จากดีให้ตรวจสอบว่า ดีนั้น มีคุณค่า มีประโยชน์ มีความสำคัญ แล้วดีนั้นไม่เกิดดั่งใจหมายถ้ายังทุกข์อยู่ ก็ยังไม่พ้นชั้นสาม ชาวแพทย์วิถีธรรมติดชั้นนี้เยอะ มันหวานหอม ดีหลายเหลี่ยมหลายมุม น่าได้ น่าเป็น น่ามี แล้วดีนั้นก็ทำได้ด้วย ก็หลงว่าตัวเองเป็นพุทธะ เพราะเรามาเสียสละ เราไม่เอาอะไร เราพุทธะเต็มร้อยขอให้ดีเกิด หลงว่านี่เราเป็นพุทธะสูงสุด จะตรวจสอบได้ก็ตอนที่ไม่ได้ดั่งใจหมาย แล้วทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ไม่ชอบใจ ใช้ชีวิตปกติไปเดี๋ยวก็มีเหตุการณ์มากระแทกให้ดีไม่เกิดดั่งใจหมาย ทุกขอริยสัจ คือ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจะเห็นทุกขอริยสัจได้จากการไม่ได้ดั่งใจหมาย
คนที่เป็นเทวดาได้ดั่งใจหมายตลอดจะไม่เห็นทุกข์หรอก ถ้าเรากินของอร่อยตลอดได้ดั่งใจทุกวันจะไม่เห็นทุกข์ กินอร่อยเข้าไป ไม่เห็นทุกข์หรอก จะเห็นตอนป่วย ตอนมีเรื่องร้าย หรือตอนไม่ได้กินนั่นแหละ
คนเราได้ดั่งใจหมายตลอด ยังแข็งแรงดีอยู่ มีเหตุการณ์ดี ๆ เข้ามาในชีวิตอยู่ ยังมีกินอยู่ ไม่เห็นทุกข์หรอก พอป่วย ไม่สบาย มีเรื่องร้าย ไม่มีให้กิน ถึงจะเห็นทุกข์ เรื่องดีก็เหมือนกัน ถ้าเราได้รับสิ่งดีไปตลอด อยากทำดีอะไรก็ได้ทำ อยากได้รับผลดีอะไรก็ได้รับ จะไม่เห็นทุกข์หรอก นี่ไม่ใช่วิธีพ้นทุกข์ วิธีจะให้เห็นทุกข์ไม่ใช่ได้สมใจตลอด ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เป็นทุกข์
ประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพรัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ จะเห็นทุกขอริยสัจเมื่อไม่ได้สมอยาก ปรารถนาสิ่งได้ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจะให้เห็นทุกข์ต้องไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา
พระพุทธเจ้าจึงให้ตั้งศีลมาลด ละ เลิก ในสิ่งนั้น ๆ อยากรู้ว่าเราทุกข์ในเรื่องนั้น ๆ หรือเปล่า ลองตั้งศีลมาเลิกสิ่งนั้นดูว่าไม่ได้สิ่งนั้นจะทุกข์ไหม ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นแล้วทุกข์ก็ยังมีกิเลสอยู่ ถ้าไม่ทุกข์ก็ไม่ทุกข์ อยากเห็นทุกข์ในดีเร็วทำอย่างไร?
ก็พยายามเข้าหมู่มิตรดี ใช้มติหมู่ เพราะเมื่อเราเสนอความคิดกับหมู่เยอะ ๆ คนเยอะ ๆ มีโอกาสที่จะไม่ได้ตามความคิดเราเยอะ เพราะความคิดเห็นว่าจะทำอะไรดีในหมู่จะต่างกันเยอะ เมื่อไม่ได้ตามใจ ถ้าเรามีกิเลสก็จะยังทุกข์อยู่ ก็ได้เห็นทุกข์ ก็จะได้พากเพียรกำจัดทุกข์ในใจที่ไม่ได้ดั่งใจหมาย ก็จะได้มีปัญญา
ประโยชน์สูงสุดของอปริหานิยธรรมคือ (การทำงานเป็นหมู่) ได้เห็นทุกข์เร็ว ได้ล้างทุกข์เร็ว เห็นทุกข์ช้า ล้างทุกข์ช้า ล้างทุกข์ยาก ยิ่งทุกข์แรงเท่านั้น ๆ ยิ่งทำงานคนเดียวก็ยิ่งเอาแต่ใจตัวเอง คิดว่าอะไรดีได้ทำดั่งใจหมายชื่นใจ การติดดีดั่งใจหมายก็มากขึ้น ๆ แล้วมันดีจริง ๆ ก็น่าชื่นใจ จะไปเข้าใจว่ามันไม่ดีก็ไม่ได้ เราก็ไม่เอาอะไร เสียสละเพื่อส่วนรวมฟรี ๆ เราทำเพื่อมนุษยชาติ ไม่มีโลกธรรม รอยยิ้มคำขอบคุณก็ไม่เอา แค่ให้ดีเกิดก็จะสุขใจ ดีไม่เกิดจะทุกข์ใจเท่านั้น เรายังเอาดีอยู่ เอาทุกข์อยู่ แต่คิดว่าตัวเองเอาสุข ไม่เอาทุกข์นะ จริง ๆ ยังเอาทุกข์อยู่นะ ยังหลงอยู่ แล้วคิดว่าเอาสุข สุขนั้นก็ไม่ยั่งยืน แต่ทุกข์ยั่งยืน หลงสุขอยู่ก็หลงทุกข์ตลอดกาล แต่ก็หลงว่านั้นสุขที่สุดในโลก ยิ่งเก่ง ยิ่งมีบารมีด้านโลกียะ ก็ทำดีดั่งใจหมายได้ ใครจะสอนให้พ้นทุกข์ได้? อาจารย์ก็ไม่บังอาจสอนให้เขาพ้นทุกข์ พวกเทวดายังเป็นเทวดาอยู่อย่าคิดว่าจะพาเขาพ้นทุกข์ได้
๕. ฉันทะในทำดีที่ทำได้ รับผลดีที่ทำได้ การให้เกิดดี ถ้าดีนั้นเกิดได้
เมื่อมีโอกาสที่จะได้รับผลดีนั้นได้ พอใจที่จะได้รับผลดี พอใจที่จะทำ พอใจที่จะอาศัยผล พอใจที่จะทำดีนั้น เมื่อเหตุปัจจัยเอื้อให้ทำ เป็นโควต้าของเราและคนที่เกี่ยวข้องให้ได้อาศัยก่อนที่ทุกอย่างจะดับไป
๖ ฉันทะในการหยุดดี หยุดอยากทำดี หยุดทำดีที่ทำไม่ได้ ไม่ทุกข์แม้ดีไม่เกิด เพราะไม่ใช่กุศลของเรา
มีฉันทะในการหยุดทำในสิ่งที่ดีที่ทำไม่ได้ หยุดอยากได้ผลดีที่เป็นไปไม่ได้ มีความพอใจที่จะไม่ได้ผลดีที่เป็นไปไม่ได้ พอใจที่จะหยุดดีที่เป็นกิลมถะ ดีที่ไม่ใช่โค้วต้าของเราและคนที่เกี่ยวข้อง เราก็ไม่เอาดีที่ไม่ใช่ของเราและของคนที่เกี่ยวข้อง ยินดีที่หยุดอยากได้พอใจ มีฉันทะที่จะหยุดอยากทำดีที่ทำไม่ได้ หยุดอยากได้ดีที่ทำไม่ได้
๗. ฉันทะในการเอาประโยชน์ได้ทุกเรื่อง
เพราะเข้าใจเรื่องกรรมแจ่มแจ้ง ยินดีรับ ยินดีอาศัยทั้งสองด้าน ทั้งด้านดีและด้านร้าย ยินดีรับร้าย รับแล้วก็หมดไป
๘. ยินดีในอุเบกขา
เรายินดีในประโยชน์แรง ๆ ก็เมื่อย ก็ลดความยินดีแรง ๆ ลง เป็นยินดีแบบสบาย ๆ อุเบกขา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอะไรเป็นตัวเราของเรา พัก สบาย ๆ ไม่ชอบ ไม่ชัง ไม่สุขไม่ทุกข์
ฉันทะชั้นที่ ๑ และ ๒ ไม่ควรอาศัย ควรกำจัดไป
ฉันทะชั้นที่ ๓ ถึง ๘ ควรอาศัย
ชั้นที่ ๓, ๔ และ ๘ จะคล้ายกัน เพราะจะต้องมีฐานอุเบกขาเป็นฐานอาศัย
ชั้นที่ ๕, ๖ และ ๗ เป็นปฏิกิริยาต่าง ๆ กับสถานการณ์ต่าง ๆ ให้พอเหมาะ
ก่อนที่จะกลับมาที่ฐานอุเบกขาที่สมบูรณ์อีกทีตอนชั้น ๘ คือ
ผ่านการยึดและวางตามขั้นตอนต่างๆ ก่อนที่จะวางอีกทีหนึ่ง
คือ องค์คุณอุเบกขา
“องค์คุณอุเบกขา” ปริสุทธา ปริโยทาตา เป็นฉันทะชั้น ๓, ๔ บริสุทธิ์จากกิเลส ไปเป็นลำดับ ๆ ถูกกระแทกก็ไม่หวั่นไหว มุทุ แววไวพร้อมปรับเปลี่ยน กัมมันยา จิตควรแก่การงาน มีกำลังใจ กำลังปัญญา รู้เหมาะรู้ควร เป็นฉันทะชั้น ๕, ๖ และ ๗ ทำเต็มที่ก็ไปสู่ปภัสสรา ก็ตรงกับฉันทะชั้นที่ ๘
ชีวิตต้องมีฐานของอุเบกขา ๕ อย่างไรปฏิบัติธรรมก็ต้องไปสู่ฐานอุเบกขาให้ได้
อุเบกขาองค์แรก ก็ต้องปริสุทธา บริสุทธิ์จากสุขลวงทุกข์จริงให้ได้นี้เป็นฐาน ปริโยทาตา ทำการงานปกติและถูกกระแทกอย่างไร ๆ ก็ไม่หวั่นไหว ยังบริสุทธิ์อยู่ได้ นี้ก็เป็นฐาน ถึงจะไปสู่มุทุ แววไว เป็นลักษณะพิเศษของพุทธะ จะอตกาวจรา คาดคะเนเดาไม่ได้ คนทั่วไปเข้าใจว่าพอเข้าสู่อุเบกขา ก็เข้าใจว่า ไม่ต้องทำอะไร ไม่รู้เรื่องอะไร เขาก็เดาเอาว่าเป็นอุเบกขาเด๋อ อุเบกขาควาย เฉย ๆ บื้อ ๆ
อุเบกขาพุทธะ คนละอย่างจากอุเบกขาทั่วไป ตั้งแต่จิตบริสุทธิ์จากทุกข์ จากชั่ว จะยินดีที่เป็นกลาง ๆ อะไรจะเกิดดับก็ไม่ทุกข์ ไม่ใช่อุเบกขาทั่วไป เป็นอุเบกขาพุทธะยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ ยินดีในสภาพนี้ ยินดีที่ไม่ทุกข์ สบาย ไร้กังวล ไม่ใช่บื้อ ๆ ไม่ทำดี แต่จะรู้ว่าดีไหนทำได้จะทำเลย ดีไหนมีประโยชน์จะรีบทำเลย อุเบกขาเป็นผลที่กำจัดสุขลวงทุกข์จริงได้ ไม่ใช่การคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
แต่เป็นสภาวะแววไว เป็นผลจากการกำจัดกิเลสได้จริง จะแววไวเองเลย ยิ่งได้ปัญญาจากพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จะยิ่งแววไว จิตแบบนี้จะกัมมันยา เป็นจิตควรแก่การงาน จะมีปัญญารู้ว่าทำแบบไหนดี มีปฏิภาณ มีญาณปัญญา ที่จะปรุงแต่งให้ดี ที่จะพัฒนา การแก้ปัญหา รู้จักสังเกต รู้จักรับฟังผู้อื่น จะมีข้อมูลมาให้เข้ามา จะตัดตัวที่เสียหาย ทำตัวที่มีประโยชน์ มีฉันทะ มีอิทธิบาท รู้จักทำให้เกิดพลังขึ้นในจิต ในกาย จะมีฉันทะได้ต้องรู้ประโยชน์ วิริยะ พากเพียร
ตรวจสอบทั้งงานนอกงานใน งานนอกเห็นข้อพร่องได้ดี แก้ไขได้ดี จะปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ส่วนงานใน ก็ตรวจสอบว่าล้างกิเลสได้แล้ว ทำสมบูรณ์ถูกต้อง ใช้ฉันทะชั้น ๓ ถึง ๘ ได้แล้ว หรือตรวจสอบและรู้ว่าบางเรื่องยังมี ความหวัง ความอยาก ความยึด อยู่ไหม? ถ้ามีก็ ยังทุกข์อยู่ เห็นแล้วก็แก้ให้หมดหวัง หมดอยาก หมดยึด หมดทุกข์ เจอเมื่อไหร่ก็กำจัดสุขลวงทุกข์จริงออก
ทำงานนอกงานในไปด้วย ก็พ้นทุกข์ไป ทำเต็มที่แล้วก็ได้ปภัสสรา จิตผ่องใส แววไว งดงาม ยินดีแบบสบาย ๆ องค์คุณอุเบกขา ๕ เป็นแบบนี้ เป็นสภาวะ ถ้าอุเบกขาบื้อ ๆ อุเบกขาควายจะไม่ได้สภาวะนี้ จะไม่สดชื่น ไม่กระตือรื้อร้นอะไร อุเบกขาพุทธะ ไม่มีทุกข์อะไร และกระตือรือร้นอย่างผ่องใส วางอย่างยินดี ยึดได้ วางได้ได้ง่าย วางอย่างผ่องใส แววไว
๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔
ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)
ณ ดอยแพงค่า พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ
บ้านแม่เลา ตำบลป่าแป๋
อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
รับชมผ่าน:
๑. Youtube หมอเขียวทีวี https://youtu.be/2ppYGireh28
๒. Facebook หมอเขียว แฟนคลับ https://fb.watch/5cm2_JF6YT/