ย่านางเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ยาวได้ 10-15 เมตร มีหัวใต้ดิน ใบเดี่ยวรูปหอก กว้าง ปลายแหลม สีเขียว ขอบเรียบ ดอกเล็ก ๆ สีขาวอมเขียวเป็นช่อ ผลกลมรีเล็กน้อย โตเท่าปลายนิ้วก้อยสีเขียวเป็นพวง เมื่อแก่ผลเป็นสีส้ม ย่านางเป็นสมุนไพรที่ไม่พบความเป็นพิษหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ เกิดตามป่าเต็งรัง ป่าละเมาะทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและแยกหน่อ
ประโยชน์/ การนำไปใช้
ใบ รสจืดขม รับประทาน ถอนพิษ แก้ไข้ แก้ไข้รากสาด ไข้พิษ ไข้เซื่องซึม ลิ้นกระด้าง คางแข็ง กวาดคอ แก้ไข้ฝีดาษ ไข้ดำแดง
เถา รสจืดขม รับประทานถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้พิษกลับซ้ำ
ราก รสจืดขม รับประทาน แก้พิษเมาเบื่อ กระทุ้งพิษได้ แก้ไข้ แก้เมาสุรา ถอนพิษผิดสำแดง แก้ท้องผูกไม่ถ่าย แก้ไข้รากสาด ไข้กลับ ไข้หัว ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้ป่าเรื้อรัง ไข้ทับระดู บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้พิษภายในให้ตกสิ้น แก้โรคหัวใจบวม แก้กำเดา แก้ลม
ทั้งต้น ปรุงเป็นยาแก้ไข้กลับ
การปลูกและขยายพันธุ์
ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นในดินทุกชนิด และปลูกได้ทุกฤดู ขยายพันธุ์โดยการใช้หัวใต้ดิน เถาแก่ที่ติดหัว ปักชำยอด หรือการเพาะเมล็ด เป็นไม้ที่ปลูกง่ายโดยปลูกเป็นหลุมหรือยกร่องก็ได้
ชื่อพื้นถิ่น
ภาคกลาง : เถาย่านาง, เถาหญ้านาง, เถาวัลย์เขียว, หญ้าภคินี
เชียงใหม่ : จ้อยนาง, จอยนาง, ผักจอยนาง
ภาคใต้ : ย่านนาง, ยานนาง, ขันยอ
สุราษฎร์ธานี : ยาดนาง, วันยอ
ภาคอีสาน : ย่านาง
ไม่ระบุถิ่น : เครือย่านาง, ปู่เจ้าเขาเขียว เถาเขียว, เครือเขางาม
แหล่งข้อมูล
ที่มา: หนังสือย่านาง โดย ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)