ธรรมะวันเปิดร้านดอยฟ้า
“เปิดร้านดอยฟ้า”
วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราได้มาเปิดร้านดอยฟ้า Mini Supermarket ดอยฟ้า
เป็นร้านที่เราจำหน่ายสินค้าในระบบบุญนิยม หรือระบบวิถีธรรม โดยมีหลักการคือ “ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ”
สังเกตการออกแบบของร้าน หรือกิจกรรมการงาน หรือแม้แต่พิธีเปิดจะได้ไม่มีการเตรียมไว้ก่อน รู้แต่เชิญอาจารย์มาเปิด ไม่ได้เตรียมจะให้อาจารย์
หรือพี่น้องนั่งตรงไหน แม้แต่กินข้าวตรงไหนก็ไม่ได้ออกแบบ นั่งกันหน้าร้านนี่แหล่ะ ทุกอย่างเป็นไปตามธรรม พวกเราปฏิบัติธรรม ชีวิตเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากไม่ซับซ้อน ถ้าเรามีศีลแล้วจะตื่นออกมาจากความยุ่งยาก วุ่นวาย เหมือนด้ายพันกัน อิรุงตุงนังไปหมดเพราะชีวิตไม่มีศีล พอเราปฏิบัติศีล ลดกิเลส ลดการได้ดั่งใจหมาย ลดไปเรื่อยๆ ความอิรุงตุงนังต่างๆ จะลดลง ความยุ่งยากจะน้อยลง ลดลง ความผาสุกผ่องใสจะมากขึ้น เพราะฉะนั้น พิธีรีตองอะไรของเราก็จะไม่ได้เป็นพิธีรีตองอะไรแบบยุ่งยาก แบบไม่ต้องเตรียมไว้ ไปหาเอาข้างหน้า
“อาจารย์บริหารพวธ.ในช่วงแรกๆ”
อาจารย์จัดค่ายแบบไม่ได้เตรียมการอะไรเท่าไร เพราะอาจารย์พาพวกเราล้างโลกธรรม ล้างอัตตา ล้างอบายมุข ล้างกาม มาเป็นลำดับๆเพราะฉะนั้น เมื่อเราปรารถนาดีต่อผู้อื่นแล้ว เราก็ทำตามกำลังของเรา เราไม่แคร์ว่าใครจะว่าเรา อาจารย์ไม่แคร์ใครจะว่าเราไม่เตรียมเลย ทำไม่ดี ทำไม่เรียบร้อย เราไม่มีอัตตาในเรื่องนั้น ไม่มีโลกธรรมที่ต้องได้รับ ลาภ ยศ สรรเสริญอะไร
เราทำตามอัตภาพของเรา และอาจารย์ถือว่าผู้ที่เข้าอบรมมีบุญกุศลร่วมกัน จึงได้มาเจอกัน และอาจารย์ได้สละทรัพย์สมบัติของเรา พื้นที่ของเราให้เป็นของทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคนที่มาอบรมก็คือสมาชิกของบ้านเรา สรุปแล้วก็ยกบ้าน ให้เขาไปเลย เพราะฉะนั้น รกตรงไหนก็ช่วยกันกวาด ไม่เข้าท่าตรงไหนก็ช่วยกันทำ ก็บ้านเราเอง เป็นเจ้าของร่วมกัน มันก็จบปัญหา อาจารย์จึงเป็นคนไม่เตรียมการ สมัยก่อนเพื่อนที่อบรมด้วยกันเขาเป็นสายบีบคอให้คนอื่นทำให้เรียบร้อย ก่อนที่ผู้เข้าอบรมจะมา ทีมงานเราก็เครียดไปหมด ลำบากไปหมด แรงมีนิดเดียว งานก็เยอะไปหมด แต่ต้องทำให้เรียบร้อยให้หมด อาจารย์เห็นแล้วทำไม่ไหวหรอก ทำไหวก็ตายพอดี แล้วคนฉลาดก็เห็นหมดว่าอันนี้น่าทำๆ ฉลาดไปหมด แต่ไม่ฉลาดในการปล่อยวางอันที่เกินแรง ไม่ฉลาดในการทำตามแรง ไม่ฉลาดในการยกสมบัติให้คนอื่น มาทำร่วมกัน แล้วทำเท่าที่ทำได้ เขาไม่ฉลาดในการเป็นพี่เป็นน้อง ยกสมบัติให้ทุกคนมันจะไม่ได้ดั่งใจหมาย เขาไม่ฉลาดในการลดอัตตาว่า มันจะไม่ได้ดั่งใจหมายก็ได้ มันดีที่สุดแค่ไหนก็เอาแค่นั้นและเขาไม่ฉลาดในการลดโลกธรรม คำสรรเสริญ “โอ้ยย ดีจังเลย เตรียมไว้เรียบร้อยหมดเลย” ไม่ฉลาด ของเราไม่เรียบร้อยก็ไม่เป็นไร ยอมรับความจริง
เราฉลาดในการล้างโลกธรรม ตรงไหนไม่เรียบร้อยเราก็ไปช่วยกันทำ เราฉลาดในการยอมรับความจริง มีความรู้ความสามารถเท่านี้ มันไม่เก่งไปกว่านี้จะทำไงล่ะ ก็เอาเท่านี้ถ้าเก่งกว่านี้เราก็ทำเก่งกว่านี้ แรงเรามีเท่านี้เราก็เอาเท่านี้อาจารย์มีแนวคิดแบบนี้ อาจารย์จึงไม่เตรียมการมากมาย ขัดห้องน้ำไม่เสร็จก็ให้ผู้เข้าค่ายมาช่วยขัด ใครเขาจะกล้าให้แขกมาขัดห้องน้ำนอกจากอาจารย์ เราก็ไม่ถือว่าเป็นแขก ก็ว่าพี่น้องมาช่วยกันหน่อยก็อบรมฟรี อาหารก็ฟรี ความรู้ก็ฟรีทุกอย่างฟรีหมด เขาก็เข้าใจเพราะเราให้เขามากกว่าที่เขามาร่วมกันทำเขามาร่วมกันทำก็เป็นกุศลของเขาอีกเขามาแล้วได้มากกว่าที่เขาขัดห้องน้ำ เขาก็เต็มใจขัดห้องน้ำอาจารย์จัดค่าย ขัดห้องน้ำก็ไม่เสร็จ กวาดบ้านก็ไม่เสร็จเก็บอะไรก็ไม่เสร็จ ไม่เสร็จสักทีก็อาศัยพี่น้องผู้เข้าค่ายมาช่วย อาจารย์ก็เลยสบายเป็นการจัดอบรมไม่เหมือนทั่วๆ ไป “อาจารย์เป็นผู้บริหารมืออาชีพทางธรรม” การอบรมทั่วไปเขาจัดไว้เรียบร้อยหมด ผู้มาอบรมมากินมาฟังแล้วก็กลับ ของเราสไตล์เป็นพี่เป็นน้องกัน มาพัฒนาร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันทั้งหมดคือความจริงของชีวิตความจริงของชีวิตมีแค่นี้ เรามีศูนย์อบรมอย่างนี้ มีที่พักอย่างนี้มีห้องน้ำอย่างนี้ ทำงานอย่างนี้มีองค์ประกอบอย่างนี้ มีข้าวของอย่างนี้มันตกมันหล่นตรงนี้ตรงนี้ล้างยังไม่เสร็จ มีหยากไย่อยู่ตรงนี้ มีความจริงแบบนี้ชีวิตจริงของมนุษย์คือ นำความจริงที่มีอยู่ เราก็ยอมรับความจริงสิแล้วมาช่วยกันทำให้ดีขึ้นๆ เป็นการเรียนรู้ฝึกฝน บำเพ็ญ บุญ กุศลบำเพ็ญการทำงานที่แท้จริง บุญก็ชำระกิเลสเรา ชำระความเห็นแก่ตัวของเราชำระความได้ดั่งใจของเรา ทำการงานต่างๆ ก็เป็นกุศล
อาจารย์ทำมากว่ายี่สิบปี มันทำให้นักบริหารปวดหัวกับอาจารย์นักบริหารทั่วไปเขาเรียนวิชาบริหารมา อาจารย์ก็เรียนมาเหมือนเขาแต่อาจารย์ไม่ทำแบบเขา นักบริหารทั่วไปเขาปวดหัวกับจารย์แต่อาจารย์ไม่ปวดหัว เขากังวลกับอาจารย์แล้วเขาดูถูกด้วยนะ เขาพูดให้ฟังว่าบริหารยังไงไม่เหมือนมืออาชีพเลย อาจารย์มืออาชีพทางธรรม ทางพุทธะ เขาเป็นมือสมัครเล่น ทำแบบเป็นบล็อคๆ แบบนั้น ใครเขาก็ทำแบบนั้น แล้วก็เครียดๆ ทุกข์ๆ อยู่อย่างนั้น เขามืออาชีพทุกข์ อาจารย์อาชีพไม่ทุกข์ คนละอาชีพ
“อาจารย์อยู่กับความจริง ณ วินาทีนั้น”
อาจารย์จึงไม่ค่อยเตรียมการ อาศัยคนทีมาร่วมกันเตรียมการ
ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เหตุปัจจัยร่วมกัน นั่นคือความจริง
อาจารย์อยู่กับความจริง คนจริงๆ เหตุการณ์จริงๆ องค์ประกอบจริงๆ
เราเอาความจริงทุกอย่างมันจริงอยู่เท่านี้ จะหนีความจริงไปไหน
จริงอยู่เท่านี้ก็ช่วยกันทำไปตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ไปที่ไหนอาจารย์ไม่ได้ไปตั้งภพตั้งชาติ ตั้งความหวังว่า
ต้องไปเจออย่างนี้อย่างนั้น มีความจริงเท่าไหร่อาจารย์ทำเท่าที่ความจริง ก็จบ
จบที่ความจริงที่มี แล้วมันสบาย สบาย ชีวิตมีบารมีเท่านี้ ณ วินาทีนั้นด้วยนะ บางวินาทีเรามีมาก บางวินาทีมีกลางๆ บางวินาทีมีน้อยเดียว บางวินาทีไม่มีอะไรเลยไม่มีเลยก็ไม่มีเลย ก็ไม่เป็นไร ณ วินาทีนั้นมีอะไรเท่าไหร่ก็เอาเท่านั้นขนาดพระพุทธเจ้าบางครั้งบิณฑบาต บางครั้งได้เยอะ บางวันได้กลางๆบางวันไม่ได้เลย ท่านก็ยินดีกับการไม่ได้เลย เสวยปิติ กินความยินดีใช้วิบาก โชคดีอีกแล้ว ร้ายหมดอีกแล้ว เซลล์ยิ่งแข็งแรงสู้ความลำบากวิบากหมดดีก็ยิ่งออกฤทธิ์ได้มาก ท่านไม่เอาอะไร ก็ไม่มีอะไรทุกข์ไม่ต้องไปอยากได้ดั่งใจหมาย พอไม่อยากได้ดั่งใจหมายก็ไม่มีอะไรทุกข์ขนาดไม่ได้ยังไม่ทุกข์ ประสาอะไรกับได้ ได้ก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้ก็ไม่ทุกข์ชีวิตพุทธะคือความไม่ทุกข์ ชีวิตที่ประเสริฐที่สุด ชีวิตที่ดีที่สุดคือ ชีวิตที่ไม่ทุกข์ชีวิตที่เสื่อมที่สุด แย่ที่สุด โง่ที่สุด คือชีวิตที่ทุกข์เพราะฉะนั้น ชีวิตเราอย่าให้ทุกข์ ทุกข์มันเสียหาย มันไม่เข้าท่า ส่วนร่างกาย เหตุการณ์ก็มีทุกข์บ้างก็ช่างมันเถอะ ตามวิบากแก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องแก้ถ้าไม่อยากทุกข์ อย่าไปอยากอะไร อย่าไปอยากได้ดั่งใจหมาย อยากได้ดั่งใจหมายเป็นเหตุแห่งทุกข์เพราะฉะนั้นเวลาเราทุกข์ใจขึ้นมามันไม่มีอะไรหรอก มันอยากได้ดั่งใจหมาย
“อาจารย์สอนปฏิบัติอริยสัจ 4”
ทุกข์อริยสัจ คือ ทุกข์ใจ มันไม่แช่มชื่น ไม่เบิกบาน ไม่แจ่มใส มันกลัวกังวล หวั่นไหวกับเรื่องไหนก็ช่าง
เหตุแห่งทุกข์คือ มันอยาก กิเลส ตัณหา มันอยากได้ดั่งใจหมาย
สภาพดับทุกข์คือ ไม่อยากได้ดั่งใจหมาย ตัณหานั้นแลดับโดยไม่เหลือ ต้องยินดีที่เราไม่อยากได้ดั่งใจหมาย
ตัณหาดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคข้อปฏิบัติ คือวิราคะ คลายความอยากได้ดั่งใจหมาย คลายสุขลวง ทุกข์จริงไป มัอันเดียวกัน คลายสุขลวงทุกข์จริงจะหายไป คลายชอบออกไป ชังก็หมด คลายความอยากแบบยึดมั่นถือมั่นมันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีสุขลวงมันก็ไม่อยากได้ ไม่อยากได้มันก็ไม่ทุกข์ เพราะทุกข์เกิดจากมันอยากได้
มรรค คือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน เด็ดขาดเลย สละทั้งข้างนอกด้วย สละข้างในด้วย สละความอยากแบบยึดมั่นถืมั่น สละได้โดยตั้งศีลมาปฏิบัติว่าเราจะกำจัดความได้ดั่งใจหมาย
วิธีกำจัดความได้ดั่งใจหมายก็พิจารณาไตรลักษณ์ ตั้งศีลมาแล้วเห็นความอยากได้ดั่งใจก็ไม่ต้องทำตามมัน และพิจารณาไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงของสุขลวง ทุกข์จริง สุขลวงมันได้สมใจอยาก แว้บเดียวก็หมดไปมันไม่เที่ยง ทุกข์จริงก็ไม่เที่ยง ไม่มีสุขลวงก็ไม่มีทุกข์จริง พิจารณาโทษจากการได้ดั่งใจหมาย มันทุกข์ใจ ทุกข์กาย มันนำเรื่องร้ายมาสู่ตนเองสู่ผู้อื่น พิจารณาประโยชน์จากการไม่ได้ดั่งใจหมาย คือ อนัตตา ความไม่มีตัวตนจากการได้ดั่งใจหมาย
ประโยชน์ของการไม่อยากได้ดั่งใจหมาย คือ ใจไร้ทุกข์ กายแข็งแรง มีเรื่องดี ไม่มีเรื่องร้าย เห็นอนัตตาความไม่มีตัวตนของกิเลสก็จะเห็นความไม่เที่ยง กิเลสก็สลายไป สุขลวงก็ละลายไป ทุกข์จริงก็ละลายไปด้วย ละลายไป ไม่เที่ยง แล้วก็ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็พ้นทุกข์ ชีวิตพ้นทุกข์เท่านี้ ง่ายๆ
ทุกข์เรื่องไหนทำอริยสัจ 4 เข้าใจให้มันถูกต้อง สัมมาทิฏฐิแล้วก็คิดให้ถูกต้องตามที่เข้าใจพูดให้ถูกต้องตามที่เข้าใจทำให้ถูกต้องตามที่เข้าใจ ทำการงานให้ถูกต้องตามที่เข้าใจ พากเพียรให้ถูกต้องตามที่เข้าใจ มีสติให้ถูกต้องตามที่เข้าใจ ทำอย่างตั้งมั่นให้ถูกต้องตามที่เข้าใจ แล้วก็พ้นทุกข์ตามที่เข้าใจนี่แหล่ะ ชีวิตก็พ้นทุกข์นี่แหล่ะอริยสัจ 4 ทางเอกสายเดียวสู่ความพ้นทุกข์ “ทุกข์มีสองอย่าง คือผิดศีล กับประมาณผิด” ทุกข์ที่ทุกข์ที่สุดในโลกคือ ทุกข์จากการผิดศีล ทุกข์จากการได้ดั่งใจหมายเป็นทุกข์ที่นำทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลมาให้แก่ชีวิต ดับทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ให้ได้ที่เหลือก็เป็นเรื่องการประมาณเรื่องการประมาณจะเก่งไปเรื่อยๆ แต่มันจะมีวิบากทำให้ประมาณผิดประมาณผิดก็ทุกข์ ก็มีปัญหาบ้าง ใช้วิบากไปหมดก็จะรู้ว่าประมาณผิดกุศลก็จะออกฤทธิ์ การประมาณไม่ได้มีโทษร้ายเท่ากับการผิดศีลถ้าเราศีลบริสุทธิ์แล้วประมาณผิดเขาก็ลดโทษให้ เรารู้ตัวก็แก้ไขใหม่ดีจังเลยรู้ว่าผิดพลาด รู้ว่าประมาณผิด ก็ประมาณใหม่ให้มันถูกขึ้นไปอีกให้มันดีขึ้นไปอีก ตั้งแต่เราเริ่มหยุดการประมาณที่ผิดก็เป็นกุศลแล้วแล้วมาประมาณให้ถูก อีกสักพักก็จะประมาณผิดอีก เพราะมีวิบากก็จะประมาณผิดอีกเรื่อยๆ เราใช้วิบาก เราทำกุศลไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราก็รู้ตัว เราก็หยุดการประมาณที่ผิดอีก แล้วก็ประมาณใหม่อีก มันก็ดีขึ้นๆจนเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง เบื้องต้นก็เป็น Little Buddha ไปก่อน ชีวิตก็มีอยู่เท่านี้ เบิกบาน เบิกบาน และเบิกบาน
“ร้านดอยฟ้า”
หนึ่งในการบำเพ็ญของเราตอนนี้จะเป็นเรื่องร้านค้าชุมชน
เหตุปัจจัยทำให้ ร้านดอยฟ้าได้เกิดขึ้น
“ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ”
ก็มาช่วยกันทำพาณิชย์ หรือการค้าบุญนิยม
ซึ่งร้านดอยฟ้าจะจำหน่ายของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ณ ที่นี้ด้วย
แล้วเราก็จะทำออนไลน์ โควิดระบาดหนักเราไปไหนไม่ไ้ด้อยู่แล้ว
เหตุปัจจัยก็ทำให้เราได้ทำร้านค้าดอยฟ้าเป็นร้านค้าบุญนิยม
- นำของดีของมีประโยชน์ตามลำดับๆ เราไม่นำสินค้าที่เป็นอบายมุขมาขาย คนจะเดือดร้อนมาก เราถือโอกาสนี้ช่วยเหลือเขา คนที่เขาเดือดร้อนอยาก ได้ของดี ของที่เป็นประโยชน์ตามแต่ละฐาน
- ขายราคาถูก ต่ำกว่าท้องตลาด เท่าทุน ต่ำกว่าทุน แจกฟรี ราคาบุญนิยม 4 ระดับ
- ซื่อสัตย์ มีความซื่อสัตย์ บอกความจริงตามความเป็นจริง ของดีหมดก็เลิกขาย ไม่เอาของปลอมมาขาย บอกความจริง มีประโยชน์ มีข้อควรระวังเท่าไหร่ๆ ก็บอกตามความเป็นจริง
- มีน้ำใจ แบ่งปันอะไรได้ก็แบ่งปันกัน แบ่งปันความรู้ แบ่งปันมิตรไมตรี เกื้อกูลกันไป อาจารย์ว่าจะเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ร้านเล็กๆ ทำเล็กๆ ของเราไป เราขายผลิตภัณฑ์ไร้สารพิษก็ได้เกื้อกูลพี่น้องที่สนใจผลิตภัณฑ์ของเรา ในอนาคตอาจจะเป็นตลาดชุมชนนะ ร้านค้าที่เข้าเกณฑ์ก็มาขายได้ ให้เราปฏิบัติศีลให้ดีไปเรื่อยๆ
ศีลที่สมบูรณ์ที่สุดคือ ไม่ต้องไปอยากได้ดั่งใจหมาย
ยิ่งไม่อยากได้ ยิ่งได้ ยิ่งไม่เสื่อม ยิ่งไม่ทุกข์
ยิ่งอยากได้ ยิ่งไม่ได้ ยิ่งเสื่อม ยิ่งทุกข์แรง
เราปฏิบัติศีลดีๆ ลดกิเลส ลดความอยากแบบยึดมั่นถือมั่น ล้างความอยากได้ดั่งใจหมาย เรื่องชั่วตัดไปเลย ส่วนเรื่องดีจะไม่ได้ก็ได้ ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ได้ไว้ก่อนก็ไม่มีปัญหา ก็ยินดีหมด ได้ก็ยินดีได้ ไม่ได้ก็ยินดีได้ ยินดีได้หมด เอาประโยชน์ได้หมด เอาประโยชน์ได้หมดเมื่อเราละบาปแล้ว ไม่ทำชั่ว ไม่เสพกิเลสแล้ว บำเพ็ญแต่กุศลที่เป็นไปได้ แล้วมันจะดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลกันและกัน เกื้อกูลผองชน เกื้อกูลกันและกันก็เป็นกุศลแล้ว เกื้อกูลผองชนก็เป็นกุศลกว้างขึ้นไปอีก ชีวิตก็แบบนี้ดีที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้หรอก ชีวิตที่ดีที่สุดในโลก ชีวิตที่มีคุณค่าและผาสุกที่สุดในโลกเป็นเช่นนี้ ช่วยกันทำไป ตอนนี้มีเค้าลางเล็กๆ มาเรื่อยๆ ทำจากเล็กไปใหญ่จะเจริญไปเรื่อยๆ เจริญในพุทธะ เจริญในคุณค่าและผาสุก คนที่เดือดร้อนเขาจะได้ใช้ประโยชน์ ขนาดเรายังไม่ทันได้เปิดร้านเลย พี่น้องที่เดือดร้อนมาขอซื้อน้ำมัน ซื้อน้ำตาล ยังไม่ทันเปิดก็ขายได้พันกว่าบาทแล้ว คนที่เขาอยากขายๆ เขาขายไม่ค่อยได้ ของเราบอกว่าอย่าเพิ่งๆ ยังจัดร้านไม่เสร็จเลย ยังไม่ทันอยากขายเลยเราไม่อยากได้ดั่งใจหมาย นี่แหล่ะเป็นการดูสัจจะว่าความดีเต็มรอบหรือยัง ถ้าความดีเต็มรอบจะเป็นอย่างนี้ คนจะอยากอุดหนุน เป็นลักษณะความเต็ม รอบของศีล การลดกิเลส การช่วยเหลือผู้อื่น ความสัมพันธ์กัน ความเกื้อกูลกันที่เต็มรอบ คนจะได้รับประโยชน์ คนจะสานสัมพันธ์กันเข้ามา
“อาจารย์สอนหลักการค้า เศรษฐกิจพอเพียง” เพราะฉะนั้น เวลาจะทำอะไรให้ดูว่าเต็มรอบหรือยัง ถ้ายังไม่เต็มรอบอย่าเพิ่งไปทำ ใครก็ไม่สนใจจะซื้อจะกินอะไร อย่าเปิดร้านอะไร เอาไปแจกเขาก่อนว่ากลืนลงหรือไม่ลง แจกกันก่อน กินเองก่อนกินได้ไหม แข็งแรงไหม ใช้ได้ไหม แล้วเอาไปแจกกันก่อน แจกไปๆ กุศลเต็มรอบแล้ว เขาอยากได้เอง ค่อยเปิดร้านขาย นี้คือวิธีเปิดร้านที่ไม่เจ๊ง คือ เจ๊งไปก่อน แจกไปก่อน แจกก็เจ๊งแล้ว ทำกินทำใช้ก่อน เจ๊งไปก่อนเลย ไม่ต้องไปอยากรุ่งเรืองหรอก รุ่งรื่งไปก่อน เจ๊งเสร็จแล้วเดี๋ยวไม่เจ๊ง เจ๊งไปแจกไป ให้ไปด้วยใจที่บริสุทธิ์ อะไรที่เราผลิตเองได้ให้ไปๆๆ อย่าไปซื้อมาแจกนะ หมดทุนพอดี ต้องเอาที่เราทำเอาเองได้ ผลิตขึ้นมาเองได้ มันงอกขึ้นมาเองได้ เอาอันนั้นแจกไปๆไม่มีอะไรแจกก็เอาความสามารถแจก ช่วยเขาทำก็ได้ ช่วยคนไปๆ ช่วยคนไปเดี๋ยวคนเขาก็อุดหนุนเราเอง ช่วยไปเราไม่ต้องอยากได้อะไรช่วยให้เขารับประโยขน์ ของที่ผลิตได้เราก็แจกไปๆ แล้วเราก็เอาของที่ เราผลิตได้มาขาย แจกไปๆ เขาก็ได้รับประโยชน์ แต่เขาไม่มีเวลาทำ เขาก็อยากได้ของเราเพราะเรามีน้ำใจ เราซื่อสัตย์ เรามีศีล คนก็อยากได้ ของเราเพราะเขารู้ว่าเราาทำของดี ราคาถูก เราซื่อสัตย์ เรามีน้ำใจ เขาก็ยอมแพ้นำ้ใจเราด้วย เขาก็อยากช่วย เพราะเราช่วยเขา เขาก็อยากช่วยเรา จริงๆ หลักการค้าขายมีอยู่เท่านี้ แต่เขาทำกันไม่เป็น หนึ่งเขาไม่รู้ สองเขารู้ว่าแจกมันดีแต่ไปซื้อมาแจก ก็เจ๊งเลย การแบ่งปันที่จะให้ตัวเองอยู่รอดต้องใช้ หนึ่งเรี่ยวแรงทำเข้าไปเลย สองวัตถุข้าวของที่งอกเองในพื้นที่ แปรให้เป็นประโยชน์ เรากินเราใช้ให้ได้ก่อน แล้วเอาไปแจก เอาความสามารถที่มีแจก แจกไปเลย ให้ไปเลย จากนั้นจะมีช่องเองเดี๋ยวเขาจะถามเองมีสิ่งนั้น สิ่งนี้ไหม เขาจะถามเราก็เอาอันนั้นจำหน่ายไป พอแจกไปแล้วเขาได้รับประโยชน์แล้วจำหน่ายไปก็จะอยู่รอด นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง นี้คือหลักการค้า ใครทำรอดหมด นี่คือหลัก เศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริง ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ
คำว่าน้ำใจ คือ เอาข้าวของที่เราผลิตได้เอง งอกได้เอง และเรี่ยวแรงความสามารถของเราแบ่งปัน อาชีพอะไรก็ไปรอด คนตกงานทั้งหลาย ท่านผู้ชมทางบ้านที่เข้าใจจะรู้เลยว่าจะทำอย่างไร กลับไปทำกสิกรรมไร้สารพิษ เลี้ยงชีวิตตัวเองให้อยู่รอดก่อน จากนั้นมีอะไรที่มันงอกเงยขึ้นมาได้ในพื้นที่ของเรา ที่เราทำเองได้ แบ่งปันไป เป็นของดี ราคาถูก ขายถูกๆ เพราะเรากินน้อยใช้น้อยเราก็อยู่ได้ เพราะเรามีศีลก็ขายถูกได้ เราซื่อสัตย์ มีน้ำใจ แบ่งปันเกื้อกูลกัน เท่านี้แหล่ะหลักการค้าบุญนิยม ที่พ่อครูกล่าวไว้ตรงกับพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ของดีย่อมได้รับของดี ให้ของประเสริฐย่อมได้ของประเสริฐ พระพุทธเจ้าให้ลดความโลภ ขายถูกก็คือ ลดความโลภ พระพุทธเจ้าให้ซื่อสัตย์ ไม่โกหก ศีลข้อ 4 พระพุทธเจ้าให้แบ่งปัน นอกจากการแบ่งปันกันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ พระพุทธเจ้าสอนไว้หมดแล้ว
พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ก็นำมาย่อ “ของดี ราคาถูก ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ” อาจารย์ก็มาขยายรายละเอียดว่ามีเทคนิคในการทำอย่างนี้ ใครเข้าใจและจับประเด็นได้ นำหลักการนี้ไปจะเลี้ยงชีวิตตัวเองได้เลย ตกงานกันทั่วโลกนำหลักการนี้ไป อย่างไรก็ไปรอด นี่เศรษฐกิจพอเพียงของจริง จากนั้นค่อยขยายไป พอมีทุนรอนแล้ว อย่างอื่นที่คนต้องการ นำมาค้าขายบริการได้ ก็นำมาบริการกัน ก็จะขยายไปได้ เป็นความเจริญขึ้น เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่านนี่แหล่ะที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ท่านทำอะไรอยู่จงยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
๑๑ เมษายน ๒๕๖๔
ดร.ใจเพชร กล้าจน (อาจารย์หมอเขียว)
เมตตาแสดงธรรมในวันเปิดร้านดอยฟ้า
ณ ดอยแพงค่า พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ บ้านแม่เลา
ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่