จิตใจที่ผาสุกแท้ คือ จิตใจที่มีปัญญารู้ว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนโลกไม่ว่าจะเป็น สิ่งมีชีวิตสิ่งไม่มีชีวิต ดินน้ำลมไฟ กิจกรรมการงาน ความดี ความชั่ว ความเหมาะ ความไม่เหมาะ ความถูกต้อง ความไม่ถูกต้อง ความเจ็บป่วย ความไม่เจ็บป่วย ปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดในโลก ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ในใจเรา แต่เป็นเพียงวัตถุสสาร พลังงาน ที่เป็นกลาง ๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป หมุนวนอยู่ในโลก ตราบชั่วกาลนาน ไม่มีหมดไปอย่างถาวร และไม่มีตั้งอยู่อย่างถาวร ครูบาอาจารย์สอนไว้ว่า มีเพียงผู้ที่ฝึกฝนจนได้จิตวิญญาณที่ผาสุกอย่างอย่างยั่งยืนแท้จริงเท่านั้นที่เลือกจะเกิดก็ได้ เลือกจะดับก็ได้
“ปัญหาไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ แต่เป็นสิ่งที่ควรแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”
รังเกียจก็ทุกข์เปล่า ๆ รังเกียจให้โง่ทำไม เพราะปัญหาไม่เคยหมดไปจากโลก ปัญหาหมดได้ที่ใจเราเท่านั้น หน้าที่/กิจกรรม/การงาน ก็ไม่เคยหมดไปจากโลก ดังนั้นเราจงยินดีเต็มใจเบิกบานแจ่มใสผาสุกสงบสบายกับการยอมรับความจริงดังกล่าว แล้วทำหน้าที่ลดปัญหาที่ต้นเหตุ หรือทำหน้าที่/กิจกรรม/การงานที่สัมมา (เป็นกุศล/ไม่เป็นบาป-เวร-ภัย) สร้างสรรค์เต็มที่สุดฝีมือตามองค์ประกอบเหตุปัจจัยที่จะทำได้ (ตามอุปกรณ์-สิ่งแวดล้อม-บุญบารมี-ความเพียร ทั้งของเราและของผู้อื่นในโลก) ไม่มากเกินจนเบียดเบียนทรมานตนเองและผู้อื่น อย่าอยากขยายดีเกินกว่าฤทธิ์แรงที่ทำได้จริง (ลำบากเกิน/ทำไม่ไหว) และรู้พักอย่างพอดี (เพียรเต็มที่ พักพอดี) เมื่อพากเพียรอย่างเต็มที่แล้ว ก็ทำใจรับรู้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้น
“ดีที่สุดแล้วที่เป็นไปได้จริง อย่าอยากได้ดีหรืออยากให้เกิดสิ่งที่ดีเกินกว่าฤทธิ์แรงที่ทำได้จริง จงทำความผาสุกที่ตน จนคนที่มีปัญญาเห็น เกิดศรัทธาอยากได้ จึงค่อยบอกทางแก่ผู้ที่มีปัญญาและศรัทธานั้น”
จากนั้นก็ทำใจให้ผาสุกกับการปล่อยการกระทำและผลนั้นให้มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ให้โลกได้อาศัยแล้วก็ดับไปเมื่อหมดฤทธิ์ของเหตุปัจจัยที่กอบก่อ หมุนวนอยู่อย่างนั้น ๆ เมื่อเราพักพอดีแล้ว ก็เพียรอย่างเต็มที่ใหม่ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ ตราบที่เรายังมีชีวิตอยู่ ถ้าเราฝึกฝนกระทำสิ่งดังกล่าวให้ได้มั่นคงทุก ๆ วินาที เราก็จะได้จิตใจที่ผาสุกอย่างยั่งยืน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“เราไม่พัก เราไม่เพียร ก็ข้ามโอฆะสงสารได้” (พระไตรปิฎกเล่ม 15 “โอฆตรณสูตร”ข้อ 2) แปลว่า รู้เพียร รู้พัก ก็พ้นทุกข์ได้”
เมื่อถึงเวลาสมควรที่ต้องพากเพียรใหม่แต่ละครั้ง เราก็พากเพียรด้วยจิตใจที่ผาสุก รู้คุณค่า รู้ประโยชน์ของกุศลที่กำลังกระทำอยู่นั้น เมื่อพากเพียรอย่างเต็มที่แล้ว ก็ปล่อยวางด้วยจิตใจที่ผาสุก อย่าไปโง่หลงสร้างสุขสร้างทุกข์ ยึดมั่นถือมั่นในใจกับสิ่งต่าง ๆ ในโลก และมหาจักรวาล เพราะจะทำให้จิตใจไม่ผาสุกอย่างยั่งยืน
ในขณะที่เรายังดำรงชีวิตอยู่ เราควรทำใจผาสุกกับการไม่ทำอกุศล เพราะอกุศลเป็นโทษ ทำให้เดือดร้อน แต่ไม่ควรรัก/เกลียด/ชอบ/ชัง ในอกุศล เพราะทำให้ใจเป็นทุกข์ เนื่องจากอกุศลก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ตามเหตุปัจจัยของการกอปรก่อและดับไปเมื่อหมดเหตุปัจจัยของการกอปรก่อ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยหมดไปจากโลกและมหาจักรวาล หมุนวนอยู่อย่างนี้ตราบชั่วกาลนาน ควรทำใจผาสุกกับการทำกุศล เพราะกุศลเป็นประโยชน์ที่ควรอาศัย แต่ไม่ควรรัก/เกลียด/ชอบ/ชัง ยึดมั่นถือมั่นในกุศล เพราะทำให้ใจเป็นทุกข์ เนื่องจากกุศลก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ตามเหตุปัจจัยของการกอบก่อและดับไปเมื่อหมดเหตุปัจจัยของการกอบก่อ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยหมดไปจากโลกและมหาจักรวาล หมุนวนอยู่อย่างนี้ตราบชั่วกาลนาน
แต่ในขณะที่ทำกุศลต้องทำอย่างยึดมั่นถือมั่น (กำให้แน่น) ติดในกุศลอย่างรู้คุณค่าประโยชน์ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีพลังและไม่มีความผาสุกในการทำกุศล แต่เมื่อเสร็จแล้ว พึงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นให้หมดทั้งการกระทำและผลของการกระทำ ปล่อยวางทุกอย่างให้โลก (แบให้เกลี้ยง) เราเอาความผาสุกสงบสบายในใจกับความปล่อยวาง กับความไม่ได้ ไม่เป็น ไม่มีอะไร เพราะเป็นทางเอกสายเดียวที่จะทำให้เราได้จิตใจที่ผาสุก อย่างยั่งยืน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา (การปฏิบัติสู่ความสมดุล พอดี เป็นกลาง) เป็นทางเอกสายเดียวที่พาพ้นทุกข์” (กลางในการหยุดชั่ว/อกุศล/บาป-เวร-ภัย/ความไม่สมดุล/ความไม่พอดี ด้วยใจที่ผาสุก กลางในการทำดี/กุศล/ความสมดุล/ความพอดีด้วยใจที่ผาสุก กลางในจิตใจที่ผาสุก สงบ สบาย เบิกบาน ผ่องแผ้ว ผ่องใส จากการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง)
ทุกวินาทีพึงหมั่นตรวจสอบและล้างความชอบความชังทุกอย่างในจิตใจ เพราะมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในใจ และสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ ไม่เคยหมดไปจากโลกอย่างถาวร และไม่เคยอยู่กับเราอย่างถาวร ในความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นกลาง ๆ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปหมุนวน อยู่อย่างนั้นตราบชั่วกาลนาน ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ในใจเราเลย แต่เราหลงโง่สร้างความรู้สึกชอบ/เป็นสุขหรือไม่ชอบ/เป็นทุกข์ในใจของเราเอง
ถ้าเราหลงชอบ/หลงว่าเป็นสุข ก็ทำให้เกิดอารมณ์ทุกข์จากความอยากได้ดังใจหมาย ถ้าไม่ได้ก็เกิดความทุกข์ใจ ถ้าได้ก็ลดความทุกข์ใจลงสู่ความไม่ทุกข์ชั่วคราว สั่งสมเป็นพลังงานหลงติดว่าเป็นสุขฝังไว้ในใจ แล้วก็อยากใหม่/ทุกข์ใจใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้ตราบชั่วกาลนาน ต่อให้สิ่งนั้นไม่มีโทษ เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่เราหลงว่าเป็นสุขในใจเรา ก็จะทำให้เราอยากได้มาก ถ้าไม่ได้ก็ทุกข์ใจ ถ้าสามารถหามาตอบสนองได้ ก็จะหาเอามามากจนเกินพอดี เมื่อการกระทำและสิ่งที่ได้มานั้นเกินพอดี สิ่งนั้นจะกลายเป็นพิษเป็นโทษทันที
ส่วนถ้าเราหลงชัง/หลงไม่ชอบใจ/หลงว่าเป็นทุกข์ในใจเรา เวลาเราประสบพบเจอสิ่งนั้น เราก็จะไม่ชอบใจ/ทุกข์ใจ อยากทำลายหรืออยากหลบเลี่ยงสิ่งนั้น ถ้าทำลายหรือหลบเลี่ยงไม่ได้ก็จะทุกข์ใจต่อไป ถ้าทำลายหรือหลบเลี่ยงได้ทุกข์ใจก็ระงับหรือลดลงสู่ความไม่ทุกข์/ เป็นสุขในใจชั่วคราว สั่งสมเป็นพลังงานฝังไว้ในใจ ซึ่งเป็นพลังงานหลงเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ ถ้าทำลายหรือหลบเลี่ยงได้จึงจะเป็นสุข เวลาประสบพบเจออีกก็ทุกข์ใจ/ไม่ชอบใจอีก ต้องการทำลายหรือหลบเลี่ยงอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้ตราบชั่วกาลนาน
มนุษย์ผู้ฉลาดแท้ จะคงไว้เพียงการรับรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษเท่านั้น จึงมีความผาสุกกับการละเว้นสิ่งที่เป็นโทษ มีความผาสุกกับการอาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ และพึงจำไว้เสมอว่าอาการหลงชอบหรือหลงชัง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ในใจเราจะปรากฎออกมา เป็นเป็นคราว ๆ อยู่เรื่อย ๆ (ยกเว้น ผู้ที่ละล้างมาหลายชาติจนเหลือน้อยแล้ว) เพราะเราได้หลงโง่สั่งสมพลังงานดังกล่าวอย่างมากมายมาหลายภพหลายชาติ เราไม่มีหน้าที่งงว่า ทำไมมันมากจัง เราไม่มีหน้าที่ท้อว่า ทำไมมันไม่หมดสักที เรามีหน้าที่คอยตรวจสอบและพากเพียรล้างพลังงานหลงโง่ดังกล่าวด้วยความผาสุกเท่านั้น ซึ่งละล้างได้ด้วยการวิปัสสนา คือ การใช้สติปัญญาหมั่นไตร่ตรองผลเสียของการมีอารมณ์ชอบ/ชังดังกล่าว หมั่นไตร่ตรองผลดีของการรู้ความจริงตามความเป็นจริง ผลดีของการไม่มีอารมณ์ชอบ/ชังดังกล่าวและพิจารณากรรม (การกระทำ) และวิบาก (ผลของการกระทำ) ว่าใครกระทำสิ่งใด ๆ เป็นสมบัติของผู้นั้น รอวันให้ผล บางอย่างให้ผลทันที บางอย่างต้องรอเวลาจึงจะให้ผล บางอย่างให้ผลข้ามภพข้ามชาติ สร้างกรรมดีก็ให้ผลดี สร้างกรรมไม่ดีก็ให้ผลไม่ดี เมื่อให้ผลจนหมดฤทธิ์ของเหตุแล้ว กรรมนั้นก็จบดับไป ถ้าสร้างกรรมใหม่ก็สั่งสมเป็นสมบัติใหม่และรอเวลาให้ผลตามเหตุปัจจัย
จงทำกุศล/แก้ปัญหาทีละอย่างด้วยจิตใจที่ผาสุก เมื่อกำลังทำกุศล/แก้ปัญหาใดอยู่ จงตัดความกลัวความวิตกกังวล ความห่วงหาอาลัยอาวรณ์ ในกุศลในปัญหา ในบทบาทหน้าที่อื่น ๆ ให้หมด เพราะความกลัว ความวิตกกังวล ความห่วงหาอาลัยอาวรณ์ ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย แต่จะเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงที่สุดต่อจิตใจและร่างกายของเรา
ต่อให้เรามีความกลัว วิตกกังวล ห่วงหาอาลัยอาวรณ์กับสิ่งอื่น เราก็ไม่สามารถกระทำพร้อมกันทั้งหมดได้ ในเวลาเดียวกันอยู่แล้ว เมื่อองค์ประกอบเหตุปัจจัยจัดสรรให้เราต้องทำกุศลนั้น แสดงว่า ณ เวลานั้น สิ่งนั้นสำคัญที่สุด ดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด ควรทำที่สุด เป็นสาระแท้ที่สุด สิ่งอื่น ๆ ล้วนไม่ใช่สาระสำคัญทั้งสิ้น เพราะสิ่งต่าง ๆ บนโลกและจักรวาล ล้วนไม่มีสิ่งใดเป็นสาระแท้
ในขณะที่กำลังทำกิจกรรมใดก็ตามการทำด้วยความผาสุก อย่างรู้คุณค่าประโยชน์ อย่างยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละคือสาระแท้ที่ควรทำ เป็นสภาพการรู้เพียรอย่างมีเมตตา (ปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดี/สิ่งที่เป็นประโยชน์/ พ้นทุกข์/ผาสุก), กรุณา (ลงมือกระทำตามความปรารถนาดีนั้น) โดยกระทำด้วยอิทธิบาท ได้แก่ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ(จิตใจจดจ่อ ทุ่มโถมเอาใจใส่) วิมังสา (ตรวจสอบใคร่ครวญ ทั้งผลทางวัตถุและทางใจ) เพราะพระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “อะไรคือความสุขในโลก” พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสุขคือความพอใจ และพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่มีอิทธิบาทจะมีอายุเกินกัปล์ คือมีอายุยืนเกินกว่าที่ได้มา
และเมื่อทำเสร็จหรือทำยังไม่เสร็จ แต่มีเหตุจัดสรรให้ต้องกระทำอย่างอื่น ควรทำใจพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน (ไม่ยึดมั่นถือมั่น) ไปทำอย่างอื่นตามเหตุปัจจัย ณ เวลานั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้ไม่ทุกข์ใจ และพึงทำใจว่าการกระทำและผลที่ผ่านมานั้นก็ดีที่สุดแล้วที่เป็นไปได้จริง (มุทิตา-ยินดีที่เกิดดีขึ้น) จากนั้นทำใจให้ผาสุกกับการปล่อยวาง
การกระทำนั้น ๆ รวมถึงผลของการกระทำนั้น ๆ ให้เกิดดับอยู่บนโลกเป็นธรรมดา เป็นกลาง ๆ ไม่ดูด ไม่ผลัก ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่สุข ไม่ทุกข์ในใจเรา แต่เรามีความผาสุกในใจกับความไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ดูด ไม่ผลัก ไม่รัก ไม่เกลียด (อุเบกขา-ทำใจให้เป็นกลาง ปล่อยวางความติดยึดและ เหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง) นั้นแหละคือสาระแท้ที่ควรทำ เพราะสาระแท้ คือ ความผาสุกที่ยั่งยืนในใจเรา
ดังนั้นเมื่อมีปัญหาหรือกุศลอื่นแทรกเข้ามา ในขณะที่เรากำลังแก้ปัญหาหรือบำเพ็ญกุศลอย่างหนึ่งอยู่ แล้วองค์ประกอบเหตุปัจจัยจัดสรรให้เราแก้ปัญหาหรือบำเพ็ญกุศลที่แทรกเข้ามานั้น ให้ถือว่าการแก้ปัญหาหรือบำเพ็ญกุศลที่แทรกเข้ามานั้นสำคัญที่สุด ดีที่สุดเป็นประโยชน์ที่สุด ควรทำที่สุด เป็นสาระแท้ที่สุด สิ่งอื่น ๆ ล้วนไม่ใช่สาระแท้ทั้งสิ้น
เพราะสิ่งต่าง ๆ บนโลกและจักรวาล ล้วนไม่มีสิ่งใดเป็นสาระแท้ เพราะสาระแท้ คือความผาสุกในใจเราทุกวินาที
เราพึงกระทำการแก้ปัญหาหรือบำเพ็ญกุศลที่แทรกเข้ามานั้นด้วยความผาสุก เพราะต่อให้เรามี ความกลัว วิตกกังวล ห่วงหาอาลัยอาวรณ์กับปัญหาหรือกุศลเดิมหรือสิ่งอื่น ๆ เราก็ไม่สามารถกระทำพร้อมกันทั้งหมดได้ในเวลาเดียวกันอยู่แล้ว โง่ทุกข์ทำไม ฉลาดผาสุกดีกว่า
ความกลัวโรค ยิ่งกลัวมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้โรคกำเริบรุนแรงมากเท่านั้น ๆ ความกลัวตาย ยิ่งกลัวมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ความตายกำเริบมาเท่านั้น ๆ พึงทำจิตปล่อยวางความกลัว รู้ว่าโรคมันเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตราบชั่วกาลนาน ไม่ดับตอนเป็น ก็ดับตอนตาย เป็นธรรมดา โรคดับไปแล้วก็มาใหม่ได้ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ มาแล้วก็ดับไปได้ ไม่ดับตอนเป็นก็ดับตอนตาย โรคเป็นของอยู่คู่โลก โรคเป็นเพื่อนของทุกคน เป็นเพื่อนที่คอยมาบอกว่าร่างกายเราไม่สมดุล/มีพิษ เราจะได้ปรับสมดุลล้างพิษจากร่างกายเสีย
โรคอยู่กับคนทุกคนเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ” ไม่มีใครสามารถทำความสมดุลทางวัตถุสสารพลังงานภายนอกจิตให้ยั่งยืนถาวรได้ (ความสมดุลที่ยั่งยืน มีได้ที่พลังงานทางจิตวิญญาณเท่านั้น) ดังนั้นในขณะที่เราสามารถจัดสรรวัตถุสสารพลังงานนอกจิตให้สมดุลได้โรคก็จะไม่แสดงอาการ และเมื่อความสมดุลที่จัดสรรได้แล้วนั้น ถูกเหตุปัจจัยกระทบจนความสมดุลแปรเปลี่ยนไปสู่ความไม่สมดุล โรคก็จะแสดงอาการ ดังนั้นทุกคนจึงมีโรคอยู่กับตัวเป็นธรรมดา โรคจะแสดงอาการเมื่อไม่สมดุล และจะไม่แสดงอาการเมื่อสมดุล โรคเป็นสัจจะที่มีหน้าที่เกิดและตายพร้อมกับคนเป็นธรรมดา
โรคเกิดจากวิบากเก่าที่ไม่ดีและความไม่สมดุลวิบากกรรมเก่าที่ไม่ดี สามารถแก้/บรรเทาได้ด้วยการบำเพ็ญกุศล ส่วนความไม่สมดุล สามารถแก้/บรรเทาได้ด้วยการดูแลรักษาปรับสมดุลเต็มที่ตามอค์ประกอบเหตุปัจจัยที่ทำได้ พึงปล่อยวางความกลัวความเกลียดโรค ทำใจให้เป็นกลาง ๆ และมีความผาสุกสงบสบายกับความเป็นกลาง ๆ ทำใจรับรู้ว่าแม้โรคหายเราก็ต้องตายต้องดับ แม้โรคไม่หายเราก็ต้องตายต้องดับ จะทุกข์กลัวตาย กลัวดับให้โง่ทำไม เมื่อเราดูแลรักษาอย่างเต็มที่แล้ว ถึงอย่างไรโรคมันก็ต้องหายอยู่ดี ไม่หายตอนเป็น มันก็หายตอนตาย และความตายก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ความตายเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ธรรมชาติให้มาเพื่อช่วยในการเปลี่ยนร่างกายที่ทรุดโทรมหรือทุกข์ทรมารมากเกินไป ให้ไปเอาร่างใหม่ที่ดีกว่าเดิมจะได้ทำหน้าที่/ทำกุศลได้ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่มีปรินิพพานได้ ก็ทำให้สามารถสูญจากโลกได้ การหมั่นพิจารณาทบทวนยอมรับความจริงเหล่านี้ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับจิตใจและร่างกาย ช่วยให้หายหรือบรรเทาอาการของโรคได้เร็วได้ดีที่สุด แม้ไม่หายก็ช่วยให้ทุกข์ทรมานน้อย
ความเร่งรีบ/เร่งรัด/รีบร้อน ให้เกิดผลสำเร็จเร็ว ๆ เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จช้า พึงทำใจให้ผาสุกกับการพากเพียรทำเหตุที่ดีอย่างเต็มที่ ตามองค์ประกอบเหตุปัจจัย แต่อย่าเร่งผล เพราะการเร่งผล จะเกิดผลเสียร้ายแรงที่สุดต่อร่างกายและจิตใจ
พึงหมั่นพิจารณาว่า ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นทุก ๆ วินาที ที่เราได้พากเพียรอย่างเต็มที่ ดังนั้น เราจึงควรมีความพอใจ/ผาสุกในใจ ทุกวินาทีที่เราได้พากเพียรเต็มที่ เพราะมันสำเร็จตามจริงทุก ๆ วินาทีอยู่แล้ว อย่าโง่ขาดทุนรอผลสำเร็จปริมาณมากหรือผลสำเร็จตอนจบ ภารกิจทั้งหมดแล้วค่อยผาสุก พึงทำใจให้ความผาสุกกับความสำเร็จแม้น้อย ตามรายทางไปเรื่อย ๆ อย่ารอผาสุกแค่ปลายทางอย่างเดียว
และผลก็ไม่ได้เกิดจากการเร่งผล ผลเกิดจากการกระทำเหตุ เมื่อเรามีความผาสุกกับพากเพียรทำเหตุที่ดีอย่างเต็มที่แล้ว จงมีความผาสุกในการปล่อยวางผล โดยทำใจว่าหายก็ได้ ไม่หายก็ได้ หายตอนเป็นก็ได้ หายตอนตายก็ได้ หายเร็วก็ได้ หายช้าก็ได้ เป็นก็ได้ ตายก็ได้ เพราะเราไม่สามารถกำหนดผลได้ ว่าจะให้ผลนั้นเกิดมากเกิดน้อยเกิดเร็วเกิดช้า และในความเป็นจริงเมื่อเราได้พากเพียรเต็มที่แล้ว ผลที่เกิดขึ้นทุกวินาทีก็มากที่สุดและเร็วที่สุดแล้วที่เป็นไปได้จริง และไม่ว่าผลมันจะออกมาอย่างไร สุดท้ายมันก็ต้องดับไปอยู่ดี (การทำใจในผลของกิจกรรมการงานอย่างอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน)
ดังนั้น จงทำใจอย่ากลัวตาย อย่ากลัวโ่รค อย่าเร่งผล อย่ากังวล อย่าสอนคนที่ไม่ศรัทธา อย่าใจร้อน อยากขยายดีให้กว้างเกินมากเกินจนลำบากเกิน หรือทำไม่ไหว หรือทำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ให้ค่อย ๆ ทำไป มันก็จะค่อย ๆ ขยาย ค่อย ๆ โตขึ้นเองตามธรรม และอย่างอยากได้ดี หรืออยากให้เกิดสิ่งที่ดีเกินกว่าฤทธิ์แรงที่มีจริง/ที่ทำได้จริง การทำใจอย่างนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจมากที่สุด
จริงใจ ไมตรี
ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว)