กระเทียมมีฤทธิ์ร้อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก ลำต้นสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร มีหัวอยู่ใต้ดิน แต่ละหัวประกอบด้วยกลีบหลายกลีบเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ แต่ละกลีบจะมีเปลือกหรือกาบสีขาวหรือม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 2 – 4 ชั้นโดยรอบ ลอกออกได้และสามารถแยกออกจากหัวเป็นอิสระได้ บางพันธุ์แต่ละหัวมีเพียงกลีบเดียว เรียกว่า กระเทียมโทน
ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปขอบขนาน แบนและแคบยาว ปลายใบแหลม โคนของใบแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันหุ้มรอบใบอ่อนกว่าด้านใน ลักษณะคล้ายลำต้นเทียม ขอบใบเรียบ ท้องใบมีรอยพับเป็นสันตลอดความยาว ใบมีสีเขียวแก่
ดอก ออกดอกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว เล็ก ติดกันเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อ มีลักษณะกลม ประกอบด้วยดอกหลายดอก มีกาบหุ้มเป็นจะงอยยาว กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปร่างยาวแหลม สีขาวแต้มสีม่วงหรือขาวอมชมพู
ผลขนาดเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู
สรรพคุณของกระเทียม
- หัว รสร้อนฉุน มีน้ำมันหอมระเหยใช้เป็นยาขับเหงื่อ
- ขับปัสสาวะ
- ขับเสมหะ
- น้ำกระเทียมผสมน้ำ 4 เท่า ใช้ใส่แผลที่เป็นหนอง
- น้ำคั้นจากกระเทียมหยอดใส่หูแก้หูอื้อ หูตึง
- ทาแผลแก้กลากเกลื้อน
- ขับลมในลำไส้ แก้ท้องขึ้น แน่นท้องจุกเสียด ท้องเฟ้อ
- ขับพยาธิในลำไส้
- แก้หืด อัมพาต
- โขลกสระผมป้องกันผมหงอก
- ทาถูนวดแก้อาการชักกระตุกของเด็ก
- โขลกพอกหัวเหน่าแก้ขัดเบา
- โขลกกับน้ำส้มกวาดคอแก้อักเสบเสียงแหบแห้ง
- แก้อาการไขมันอุดตันในเส้นเลือด
- แก้ความดันโลหิตสูง
- ใช้พอกตรงที่ถูกแมลง ตะขาบ และแมลงป่องต่อย เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด
- ใบ รสร้อนฉุน ทำให้เสมหะแห้ง กระจายโลหิต แก้ลมปวดมวนในท้อง