มหาวรรคที่ 5 พระไตรปิฎกเล่มที่ 21 ข้อ 194
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ 4 ประการ
1 สีลปาริสุทธิ พยายามทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นลำดับๆ
2 จิตตปาริสุทธิ ทำจิตให้บริสุทธิ์ขึ้นไป
3 ทิฏฐิปาริสุทธิ ความเข้าใจที่บริสุทธิ์
4 วิมุตติปาริสุทธิ หลุดพ้นจากทุกข์
องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ 4 ประการ
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่นิคมของพวกโกฬิยะ ชื่อสาปุคะในแคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชาวนิคมสาปุคะมากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะโกฬิยบุตรชาวสาปุคนิคมว่า ดูกร พยัคฆปัชชะทั้งหลายองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ 4 ประการนี้ พระผู้มีพระภาคผู้รู้ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส [ เดี๋ยวนี้เขาทุกข์กัน ถ้าเขาทำที่พระพุทธเจ้าว่าเขาจะพ้นทุกข์ โทมนัสคือทุกข์ใจ ทุกข์ความหมายรวมทั้งหมดและความเดือดร้อนทั้งหมดรวมทั้งทุกข์ใจ ที่เป็นทุกข์ที่สุดที่แรงเท่ากับดินทั้งแผ่นดิน ที่คนทั้งโลกกำลังทุกข์อยู่ตอนนี้ หวาดกลัวกันนี่แหละคือทุกข์ที่สุดในโลกเลย กำลังครอบงำคนทั้งโลก ตอนนี้เป็นโรคตื่นตระหนกร้ายยิ่งกว่าโรคไวรัสโคโรนาอีก โรคโควิดยังไม่ร้ายเท่าไหร่ ยังระบาดไม่ทั่ว ระบาดไปสัก 100,000 กว่าคน แต่โรคกลัวโควิดระบาดทั้งโลกเลย] เพื่อบรรลุญายธรรม [ญายธรรมคือปฏิจจสมุปบาท คือเหตุและผลทำอะไรเกิดผลอะไร ทำเหตุอะไรเป็นประโยชน์ ทำเหตุอะไรเป็นโทษ รู้ระดับวิบากกรรมเลย] เพื่อทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน องค์ 4 ประการเป็นไฉน คือ องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีล 1 [ต้องปฏิบัติศีลเป็นลำดับ ๆ เพิ่มศีลขึ้นไปตั้งแต่ ศีล5 ศีล8 ศีล10 จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าใครทำได้สมบูรณ์จะไม่มีภัยใดๆเลย ท่านตรัสอย่างนี้เลยในจุลศีลพระไตรปิฎกเล่มที่ 9 ข้อที่ 255 พระพุทธเจ้าตรัสเลยปฏิบัติถูกตรงไม่มีภัยใดๆเลย] ศีล1 จิต1 [ทำจิตให้บริสุทธิ์ขึ้นไป] ทิฐิ1 [ทำทิฐิความเข้าใจให้ถูกตรง] วิมุตติ1 [หลุดพ้นจากทุกข์]
1 สีลปาริสุทธิ พยายามทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นลำดับๆ
ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ คือ ศีลเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีลฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกสีลปาริสุทธิ [คือศีลบริสุทธิ์ ทำศีลให้บริสุทธิ์ไปเรื่อยๆ ศีลที่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ถึงจิตเลยนะ ถึงขั้นล้างทุกข์ ล้างความกลัว ความกังวล ความหวั่นไหวได้เป็นลำดับๆ บริสุทธิ์จากความเบียดเบียนตัวเอง คนอื่น สัตว์อื่น บริสุทธิ์จากความยึดมั่นถือมั่น บริสุทธิ์จากความกลัวความกังวลไปเป็นลำดับๆ ในแง่นั้นเชิงนี้] ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ [ศีลข้อไหนยังไม่สมบูรณ์ทำให้สมบูรณ์ ศีลสมบูรณ์ทั้งกายวาจาใจ ใจที่ไร้ทุกข์ ไร้ความยึดมั่นถือมั่น ไร้ความชอบชังในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แง่นั้นเชิงนี้ ใจสบายไร้กังวล นั่นแหละต้องไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้] จักใช้ปัญญาประคับประคองสีลปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ สีลปาริสุทธิ ฯ [คือศีลบริสุทธิ์ พยายามทำศีลให้บริสุทธิ์เป็นลำดับๆ]
2 จิตตปาริสุทธิ ทำจิตให้บริสุทธิ์ขึ้นไป
ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ [ลด ละ เลิก รูปเสียงกลิ่นรสที่เป็นภัยได้ เป็นลำดับ ๆ] บรรลุปฐมฌาน…[ฌานที่ ๑ วิตก วิจาร] ทุติยฌาน….[ฌานที่ ๒ พบวิตกวิจาร อ่านกิเลสเป็น ใช้ปัญญากำจัดกิเลสได้เข้าสู่ฌานที่ 2 มีปีติอิ่มใจที่กำจัดกิเลส เครื่องกังวลเครื่องเบียดเบียนได้] ตติยฌาน...[ ฌาน ๓ มีความรู้สึกผาสุข ความดีใจแรงๆ ลดลง ให้อยู่แบบสบายๆ] จตุตถฌานอยู่ [ฌานที่ 4 ก็มีความยินดีแบบสบายๆ ยินดีที่เราไม่กังวล ไม่เบียดเบียนตัวเอง คนอื่น สัตว์อื่น ยินดีที่เราไม่ยึดมั่นถือมั่น] นี้เรียกว่าจิตตปาริสุทธิ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังจิตตปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ จักใช้ปัญญาประคับประคองจิตตปาริสุทธิ [ต้องใช้ปัญญาปฎิบัติ ใช้ปัญญาประคับประคอง ปัญญาตั้งศีลมาปฏิบัติให้พอเหมาะ ปัญญาอ่านอาการกิเลสเป็น ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ของกิเลสได้ ความไม่เที่ยงของสุขปลอมทุกข์จริง ความเป็นทุกข์ของกิเลส แล้วทำจนกิเลสสลาย ความไม่มีตัวตนของมัน เวลามันสลายแล้วมันผาสุกขนาดไหน ดีเยี่ยมขนาดไหน สัมผัสตัวนั้นให้ได้ ถ้าใครมีปัญญาสัมผัสตัวนั้นจะไม่หวั่นไหวเลย ไม่กลัวไม่หวั่นไหวอันนี้ดีที่สุดยอดเยี่ยมที่สุดแล้วจะไม่ถอยหลัง ถ้าไปถึงขั้นนั้นได้] จักใช้ปัญญาประคับประคองจิตตปาริสุทธิ อันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ จิตตปาริสุทธิ ฯ
3 ทิฏฐิปาริสุทธิ ความเข้าใจที่บริสุทธิ์
ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิปาริสุทธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าทิฏฐิปาริสุทธิ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังทิฏฐิปาริสุทธิเห็นปานนั้นอันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ [ใครยังมีความรู้สึกว่ามันยังมีทุกข์อยู่ในใจเราอยู่นะ มันยังไม่บริบูรณ์ ถ้ายังมีความทุกข์ ความไม่สบายใจอยู่ในใจ มันยังไม่บริบูรณ์เราก็ต้องทำให้บริบูรณ์] จักใช้ปัญญาประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ ทิฏฐิปาริสุทธิ ฯ ความเข้าใจที่บริสุทธิ์
[ยกตัวอย่าง มีอยู่ครั้งหนึ่งพ่อครู(สมณะโพธิรักษ์) มาที่สวนป่านาบุญ 1 อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และอาจารย์ได้สนทนากับพ่อครู ว่าได้ข่าวว่าตอนสร้างอาคารบวรมันมีรถไปชน ชนตอนสร้างใหม่ๆ มันก็เลยทำให้สร้างช้า พ่อครูบอกว่าเขาไม่ให้เสร็จเร็ว ถ้าเสร็จเร็วมันจะไม่ดี ท่านว่ายังไม่ใช่เวลา เขาไม่ให้เสร็จเร็ว เสร็จเร็วจะไม่ดี เขาก็เลยมีอะไรกั้นๆไว้ ผู้ที่มีปัญญาฟังก็จะรู้ว่า อะไรที่มันยังไม่ใช่เวลา มันก็จะมีอุปสรรคมาปิดกั้นไว้ ยังไม่ใช่เวลาที่จะเกิดสิ่งดีอันนั้น จะมีอุปสรรคมาปิดกั้นไว้ มันไม่ใช่เวลา พอถึงเวลามันก็ได้เองของเขา เราใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ ถึงวันหนึ่ง ถ้าใช่เวลาเขา เขาก็ใช่ เพราะใช่เวลา เดี๋ยวก็ได้เองเดี๋ยวก็สำเร็จเอง เป็นเอง ดีเองในเรื่องนั้นๆ แต่มันไม่ใช่เองหรอก เราก็ทำดีไปนั่นแหละ จริงๆ ถ้ายังไม่ใช่เวลามันก็มีอกุศลมากั้นไว้ รับแล้วก็หมดไปๆ อย่าไปกังวลอะไร บางทีอกุศลมาไม่ได้มาแต่อกุศลนะ จริงๆ กุศลนั่นแหละไปยืมอกุศลมา ยืมหน่อยเอากันไว้ก่อนหน่อย ถ้าได้อันนี้จะไม่ดี ยืมหน่อย ก็เลยมากั้นไว้อย่าเพิ่งได้เลย ได้แล้วจะไม่ดี อย่างนี้เป็นต้น ก็มากั้นไว้ กั้นแล้วก็ได้หมดเวรหมดกรรมไปด้วย หมดอกุศลไปด้วย ใช้ตรงนั้นไปด้วยจากนั้นกุศลก็ออกฤทธิ์ลึ่มเลย ฉะน้้นเราทำดีเรื่องไป ใจเย็นข้ามชาติ ไม่ต้องไปกังวลอะไร อะไรที่มันยังเสร็จไม่ได้แสดงว่า อกุศลกั้นไว้อยู่ ยังไม่ใช่เวลา ถ้าเราไปผลักดัน ใจอยากได้ ๆ ในสิ่งที่ไม่ได้ เดี๋ยวก็ทุกข์พอดีเลย ในสิ่งที่มันยังเป็นไปไม่ได้ ในสิ่งที่มันยังสำเร็จไม่ได้ สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราอยากได้ ๆไม่สำเร็จนะ นั่นแหละทุกข์ เหตุมันก็ไปอยากได้นี่แหละ ยึดมั่นถือมั่น เห็นไหมนี่คืออริยสัจ 4 ก็ต้องทำความเข้าใจให้ดี มันเป็นดีที่ยังไม่ใช่เวลา แล้วก็ใจเย็นข้ามชาติ ทำดีเรื่อย ๆ ไป ใจเย็นข้ามชาติ อย่างนี้เป็นต้น สภาพดับทุกข์ ก็สบายใจไร้กังวล ได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ตอนนี้ได้อะไรก็อาศัยเท่านั้น ที่ยังไม่ได้ก็ยังไม่อาศัย สบายใจไร้กังวลนี่สภาพดับทุกข์ ส่วนวิธีดับทุกข์ ก็เข้าใจเรื่องกรรมให้แจ่มแจ้ง อะไรที่ยังไม่ใช่เวลา ก็ยังไม่ใช่เวลา จะไปเร่งทำไม ส่วนอะไรที่มันก็ใช่เวลา เราก็พากเพียร เราทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ ถ้ามันใช่เวลาเดี๋ยวมันก็ลื่นๆ โล่งๆไป แต่อะไรไม่ใช่เวลามันก็กั้นเรา ต้องมีปัญญาทำนี่แหละ นี่แหละทิฏฐิปาริสุทธิ ก็ทำความคิดให้มันบริสุทธิ์ เพราะความคิดเราบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากความโง่ ความคิดที่มีปัญญา เข้าใจเรื่องกรรม แต่ละวันเราก็สบาย ๆ อันนี้ยังไม่ใช่เวลา รอก่อน ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ยังไม่ใช่เวลาก็ไม่ใช่เวลา แต่ถ้ามันใช่เวลามันก็ใช่เวลา มันจะป๊อกแป๊ก ๆ ของมันเอง ไม่ต้องไปกังวลเลย]
4 วิมุตติปาริสุทธิ หลุดพ้นจากทุกข์
ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลาย ก็องค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิเป็นไฉน อริยสาวกนี้แล เป็นผู้ประกอบด้วยองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรคือ สีลปาริสุทธิ…จิตตปาริสุทธิ… ทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว ย่อมคลายจิตในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด [คลายจิตในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด คืออธรรม นั่นแหละ คลายมันออกไป มันไปอยากเสพในสิ่งที่มันเป็นโทษเป็นภัย อยากเสพในสิ่งที่เป็นกิเลส อยากเสพในความยึดมั่นถือมั่น ได้สมใจอยากสุขใจชอบใจ ไม่สมใจอยากทุกข์ใจไม่ชอบใจนั่นแหละ นั่นแหละมันอยากได้ดั่งใจอยาก นั่นแหละมันทุกข์ อันนี้เราปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดี สิ่งที่ชั่วเราตัดไปเลย ตัดไปลดละเลิกไป สิ่งที่ดีปรารถนาให้เกิดสิ่งที่ดี แต่เราก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ได้ก็ผาสุก ไม่ได้ก็ผาสุก ได้ก็ใช่เวลาของเขาแล้ว กุศลเราและคนที่เกี่ยวข้องเต็มรอบ ให้ได้อาศัยก่อนที่ทุกอย่างจะดับไป ถ้ายังไม่ได้กุศลของเราและคนที่เกี่ยวข้องยังไม่เต็มรอบก็ไม่เป็นไร ใช้วิบากไป รับแล้วก็หมดไปก็โชคดีขึ้น อกุศลออกฤทธิ์อยู่ ใช้แล้วก็หมดไปก็โชคดีขึ้น เราก็ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เห็นไหมจิตเรามันไม่ไปมีความกำหนัดแบบกิเลสแล้ว ที่จะให้มันทุกข์ ไม่ไปอยากแบบนั้น มันก็สบายไร้กังวล] ย่อมเปลื้องในธรรมที่ควรเปลื้อง [เห็นไหมอะไรที่มันไม่ดี อะไรที่เราไปอยากได้แล้วมันทุกข์ อะไรที่เราไปอยากแบบยึดมั่นถือมั่นแล้วมันทุกข์เราก็ตัดออกไป] ครั้นแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุติ [สัมผัสถูกต้องคือสัมผัสสัมมาวิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง จึงมีเป็นพลังผาสุกผ่องใส่ไร้กังวล ในสถานการณ์นั้นๆ ในเรื่องนั้นๆ ไม่มีเงื่อนไขที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ มีปัญญาเต็มรอบที่จะกำจัดทุกข์ได้ ในเรื่องนั้นๆ เป็นเรื่อง ๆ ไป ] นี้เรียกว่าวิมุตติปาริสุทธิ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า เราจักยังวิมุตติปาริสุทธิเห็นปานนี้อันยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ [ตรวจดูอะไรมันยังไม่พ้นทุกข์ มันยังคาๆ อยู่ในใจ ไม่โปร่งไม่โล่งใจ ก็เอาให้มันบริบูรณ์] จักใช้ปัญญาประคับประคอง วิมุตติปาริสุทธิอันบริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ นี้เรียกว่าองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียร คือ วิมุตติปาริสุทธิ
ดูกรพยัคฆปัชชะทั้งหลายองค์เป็นที่ตั้งแห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์ 4 ประการ นี้แล อันพระผู้มีพระภาคผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์ และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ฯ