ขนุนมีฤทธิ์ร้อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ขนุนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับสาเก สูง 15-30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ปลายใบทู่ถึงแหลม โคนใบมน ผิวในด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบหนา ดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดแยกเพศอยู่รวมกัน เป็นช่อสีเขียว อัดกันแน่น แยกเพศ แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ เป็นแท่งยาว ช่อดอกตัวเมียเป็นแท่งกลมยาว ออกตามลำต้นหรือกิ่งใหญ่ เมื่อติดผล ดอกทั้งช่อจะเจริญร่วมกันเป็นผลรวมมีขนาดใหญ่ โดย 1 ดอกกลายเป็น 1 ยวง ในผล ผลดิบเปลือกสีเขียว หนามทู่ ถ้ากรีดเปลือกจะมียางเหนียว เมื่อแก่ เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง หนามจะป้านขึ้น ภายในผลมีซังขนุนหุ้มยวงสีเหลืองไว้ เมล็ดอยู่ในยวง
สรรพคุณ
- ผลดิบ นำไปประกอบอาหาร เช่น แกง ยำ, ผลสุก รับประทาน เป็นผลไม้ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่ กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน คนเมือง ปะหล่อง ม้ง)
- เมล็ด ให้ใช้ประมาณ 60-240 กรัม ต้มสุกกิน จะมีรสชุ่ม ช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด มีน้ำนมน้อยหรือไม่มีน้ำนม ช่วยบำรุงร่างกาย
- เนื้อหุ้มเมล็ด ให้ใช้สด ผสมกับน้ำหวานกินบำรุงกำลัง หรือกินเป็นขนมก็ได้
- ใบ ใช้สด นำมาตำให้ละเอียด อุ่นแล้วพอกแผล ใบแห้งให้บดเป็นผงโรย หรือใช้ผสมทาตรงที่เป็นแผล ใช้สำหรับภายนอก รักษาแผลมีหนองเรื้อรัง
- ยาง จะมีรสจืด ฝาดเล็กน้อย ให้ใช้ยางสด ทาบริเวณที่บวมอักเสบ แผลมีหนองเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากแผล มีหนองที่ผิวหนัง
- แกนและราก ใช้แห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มน้ำรับประทาน จะมีรสหวานชุ่ม รักษากามโรค และบำรุงเลือด
- ผลอ่อน นำมาต้มเป็นผักจิ้มแล้ว ยังมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษาอาการท้องเสีย
- ผลสุก จะมีกลิ่นหอม เนื้อในจะมีสีเหลืองนำมารับประทานได้หรือผสมกับน้ำหวานเป็นขนม เนื้อในสีเหลืองลื่น รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับทรวงอก รับประทานมากจะเป็นยาระบายอ่อน ๆ
- ใบสด ใช้ต้มน้ำให้สัตว์กิน ช่วยขับน้ำนม และสามารถนำมาเผากับซังข้าวโพดและกะลามะพร้าวให้เป็นเถ้า ใช้เถารักษาแผลที่เป็นแผลเรื้อรังได้
- น้ำยาง จะมี resins ใช้เป็นสารเคลือบวัตถุ หรือจะนำมาผสมกับยางไม้อื่นเพื่อทำตังดักนกก็ได้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาโรคซิฟิลิส และขับพยาธิ
- ราก นำมาต้มรับประทานแก้อาการท้องเสียผสมยาอื่นรับประทาน สามารถรักษาไข้
- แกนไม้ ที่เราเรียกว่า กรัก ซึ่งเป็นไม้สีเหลืองเข้มออกน้ำตาลทำให้ปลวกและราไม่ขึ้น สามารถทำฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์และเครื่องดนตรี
- ประโยชน์ทางยา จะมีรสหวาน ชุ่ม ขม สามารถใช้บำรุงกำลังและบำรุงโลหิต ฝาดสมาน รักษาโรคกามโรค นอกจากนี้แล้วยังนำมาย้อมผ้าโดยการใช้สารส้มเป็นตัวช่วยให้สีติดทนนาน ผ้าที่ย้อมจะมีสีเหลืองออกน้ำตาล และยังเป็นยาระงับประสาทและโรคลมชัก
แหล่งข้อมูล
- เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- เว็บไซต์โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน)