มะเขือเปราะมีฤทธิ์เย็น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก กึ่งไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-3 เมตร ตามลำต้นมีหนามสั้น โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง ลำต้นและกิ่งก้านรูปทรงกระบอกตั้งตรง มีสีม่วงทั้งลำต้น กิ่งก้านและใบมีขนอ่อนละเอียดขึ้นอยู่ทั่วไป มีขนรูปดาวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และพบขนชนิดมีต่อม มีขนสั้นปกคลุมทั้งต้น มีหนามโค้งหรือตรง ขนาด 1-5 × 2-10 มิลลิเมตร ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบมีหลายรูปร่าง แผ่นใบรูปไข่ขนาด กว้าง 4-12 ซม. ยาว 4.5-18 ซม. มีขนรูปดาวทั้งสองด้านของใบ โคนใบรูปหัวใจ ฐานใบสองด้านเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบหยักเว้าเป็นพูตื้นๆ 5-7 พู ปลายใบแหลมหรือมน มีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ หลังใบสีเขียว ท้องใบเรียบเป็นมัน ก้านใบอ้วนสั้น ยาว 3-7 เซนติเมตร อาจพบหนามตามก้านใบ ดอกออกเป็นช่อสั้นแบบช่อกระจะ ดอกย่อย 4-6 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ก้านช่อยาว 1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 5-10 มิลลิเมตร มีขนยาวห่างๆ กลีบดอกสีม่วง มี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยสั้น ปลายแยกเป็นห้าแฉก กลีบรูปหอก ขนาด 4 × 14 มิลลิเมตร มีขนนุ่มเหมือนวงกลีบเลี้ยง กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ติดอยู่จนติดผล แต่ละแฉกรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ขนาด 5×15 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม วงกลีบเลี้ยงรูประฆังขนาด 5.5 เซนติเมตร เกสรสีเหลืองมี 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1-2 มิลลิเมตร อับเรณูรูปหอก เรียวแหลม ขนาด 6-7 มิลลิเมตร รังไข่เกลี้ยง ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 6-7 มิลลิเมตร ผลรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ผิวเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนผิวเรียบลื่นสีเขียวเข้ม มีลายสีขาวแทรก เมื่อสุกมีสีเหลืองสด ชั้นเนื้อผลบางมีสีเขียวอ่อนอมเหลืองใส มีกลิ่นเฉพาะตัว มีรสขื่น เมล็ดกลมแบนเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.8 มิลลิเมตร ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม พบตามที่รกร้าง ทุ่งหญ้า ป่าเปิด ที่ระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-2,300 เมตร
ชื่ออื่น ๆ : มะเขือเหลือง มะเขือขันขำ มะเขือคางกบ มะเขือคำ มะเขือแจ้ (ภาคเหนือ) มะเขือเปราะ มะเขือเสวย มะเขือแจ้ดิน (เชียงใหม่) มังคิเก่ (แม่ฮ่องสอน) เขือหิน (ภาคใต้) เขือเพา (นครศรีธรรมราช)
สรรพคุณของมะเขือเปราะ
ตำรายาไทย
- ราก รสขื่นเอียน เปรี้ยวเล็กน้อย เป็นยาขับเสมหะและน้ำลาย แก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว รากแช่น้ำกินแก้ไอ ลดไขมันในเส้นเลือด กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ที่มีพิษร้อน ใช้ปรุงกับยาอื่น แก้กามตายด้าน
- ผล รสเปรี้ยวขื่นเย็น เป็นยากัดเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้ไข้สันนิบาต เป็นยาบำรุง
- ผล เมือกจากผล ขูดตากแดด ใส่เหล้า อัตราส่วน 32 ลูก ต่อเหล้าหนึ่งขวด แก้ปวดเมื่อย
การแพทย์อายุรเวทของอินเดีย
- รากมะเขือเปราะ รักษาอาการไอ หอบหืด อาการหลอดลมอักเสบ ขับปัสสาวะ และขับลม
- ผล ใช้ขับพยาธิ ลดไข้ ลดอักเสบ ช่วยการขับถ่าย ช่วยย่อยอาหาร และกระตุ้นทางเพศ
- ประชากรในแคว้นโอริสสา ของประเทศอินเดียใช้น้ำต้มผลมะเขือเปราะรักษาโรคเบาหวาน
งานวิจัยนานาชาติระหว่างปี พ.ศ.2510-2538 พบว่าผลมะเขือเปราะมีฤทธิ์ลดการบีบตัวกล้ามเนื้อเรียบ ต้านมะเร็ง บำรุงหัวใจ และลดความดันเลือด
ผลมะเขือเปราะมีไกลโคอัลคาลอยด์โซลามาร์จีน โซลาโซนีน และอัลคาลอยด์โซลาโซดีนที่ปราศจากโมเลกุลน้ำตาล การทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสารเหล่านี้พบว่า ทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ พบว่าฤทธิ์ของไกลโคอัลคาลอยด์สูงกว่าโมเลกุลไร้น้ำตาล ราก ต้นและผลแก่มีสารอัลคาลอยด์เหล่านี้ต่ำ แต่ผลเขียว (เหมือนที่คนไทยกิน) มีสารที่มีประโยชน์เหล่านี้ในปริมาณสูงกว่าส่วนอื่นของพืชดังกล่าว
สารโซลาโซดีนใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สเตียรอยด์คอร์ติโซนและฮอร์โมนเพศได้ผลตากแห้งบดเป็นผงผสมน้ำผึ้งใช้ปรุงยาแก้ไอ
งานวิจัยที่แคว้นโอริสสา ประเทศอินเดีย ใช้สารสกัดน้ำของผลมะเขือเปราะลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานอะล็อกซาน พบว่าได้ผลลดน้ำตาลในเลือดดีเท่ากับการใช้ยากลิเบนคลาไมด์ (glibenclamide)
การทดสอบเพิ่มเติมพบว่า สารสกัดดังกล่าวออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน โดยช่วยเสริมการใช้งานกลูโคสอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลเชิงบวกต่อการทำงานของตับอ่อน สารสกัดน้ำของผลมะเขือเปราะไม่มีพิษต่อสัตว์ทดลองแต่อย่างใด
ข้อควรระวัง
คนไข้ที่มีอาการไอ ไม่ควรรับประทานผล เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง