หยวกกล้วยมีฤทธิ์เย็น
หยวกกล้วย ส่วนที่อยู่ภายในต้นกล้วย หรือจะเรียกว่าเป็นแกนของต้นกล้วย หยวกกล้วยจะมีสีขาวขุ่น อย่างที่หลาย ๆ คนได้ยินคำว่า ขาวเหมือนหยวกกล้วย ซึ่งหยวกกล้วยส่วนใหญ่มีประโยชน์ในเรื่องของการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร
หยวกกล้วย คือ แกนในสุดของต้นกล้วย เป็นส่วนที่อ่อนที่สุด หยวกที่นำมาทำแกง มาจากต้นกล้วยนางที่ยังไม่ออกปลี ออกเครือ (ออกลูก) ต้องตัดมาทั้งต้น ตัดส่วนยอดและส่วนโคนทิ้ง แล้วผ่าเลาะกาบกล้วยออกจนถึงแกนในสุด ให้เหลือเฉพาะกาบอ่อนด้านใน (ซึ่งนาน ๆ ครั้งในตลาดสดจะมีมาขายสักที…) และก่อนที่จะนำมาทำอาหาร ต้องนำมาหั่นตามขวาง หรือตามยาวเป็นชิ้นขนาดพอคำ ๆ แช่น้ำให้ท่วม (ป้องกันดำ ใส่เกลือ น้ำมะนาว หรือมะขามเปียก) แล้วใช้ตะเกียบไม้ วน ๆ ไปรอบ ๆ หยวกที่แช่น้ำไว้ เพื่อพันเอาใยเหนียว ๆ ของหยวกออกก่อนให้หมด (ใยหยวกกล้วยมีลักษณะคล้าย ๆ ใยของสายบัว) หรืออาจใช้มือค่อย ๆ ดึงหรือสาวใยออกก็ได้ เมื่อจะนำไปทำอาหารค่อยล้างให้สะอาด สรงให้สะเด็ดน้ำพักไว้ เท่านี้ก็ได้หยวกกล้วยขาว ๆ ที่พร้อมปรุงเมนูอร่อย ๆ หรือทำอาหารใส่แทนผักในแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงส้ม ต้มข่า ต้มกะทิ ลวกจิ้มกับน้ำพริก และปรุงเมนูอื่น ๆ ได้ตามความชอบใจ
หยวกกล้วยส่วนใหญ่ที่นิยมนำมาปรุงอาหารนั้นจะเป็นหยวกกล้วยเถื่อน (กล้วยป่า : คนใต้มักนิยมกินมากกว่าชนิดอื่น ๆ) หยวกกล้วยตานี หยวกกล้วยน้ำว้า สำหรับการนำมาใช้ทำอาหารก็เพียงแค่หั่นให้ได้ขนาดชิ้นที่พอเหมาะเท่านั้น
สรรพคุณของหยวกกล้วย
- มีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี (วิตามินซีอาจมีไม่มากเมื่อนำไปปรุงอาหารที่ผ่านความร้อน เพราะความร้อนจะทำลายวิตามินซีลงไปได้ แต่ก็ยังพอมีบ้าง)
- มีใยอาหารสูง ซึ่งมีบทบาทช่วยดูดซับสิ่งสกปรกและสารพิษตามลำไส้ กระเพาะอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ให้สะอาดปลอดจากสารพิษ แล้วขับถ่ายออกมากับอุจจาระ
- มีธาตุเหล็กที่ช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบิลในเลือด ในสภาวะโลหิตจาง
- ช่วยบรรเทาอาการเสียดท้อง และป้องกันโรคลำไส้เป็นแผล
- บำรุงร่ายกาย
- ช่วยระบบการขับถ่าย
- ต่อต้านโรคมะเร็ง