หัวไชเท้ามีฤทธิ์เย็น
“ผักกาดหัว” เป็นพืชผักอายุปีเดียว ที่ปลูกกันไว้เพื่อบริโภคส่วนของรากที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งเราเรียกว่า “หัวผักกาด”
อาจจะเป็นสีแดงหรือสีขาวก็ได้คุณภาพของหัวผักกาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์ การปลูก การปฏิบัติดูแลรักษาตลอดจนการเก็บเกี่ยว ถ้าหากปล่อยให้อายุแก่หรือเลยระยะเวลาเก็บเกี่ยวแล้วรากจะขยายใหญ่มากยิ่งขึ้นเพื่อสะสมอาหารสำหรับสร้างดอกและติดเมล็ดเนื้อจะเริ่มฟ่าม มีเส้นใยมากขึ้น
ผักกาดหัว มีชื่ออื่นๆอีก เช่น ผักขี้หูด ผักกาดจีน ไชโป๊ หรือ ไช้เท้า เป็นต้น สามารถปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ซึ่งมีความชื้นในดินสูงพอสมควร และได้รับแสงแดดตลอดวัน มี pH ประมาณ 5.5-7.0 และอุณหภูมิ ประมาณ 18.5-24 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ผลดีที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม เป็นที่นิยมปลูกกันมากทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่น แถบจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี
สรรพคุณของหัวไชเท้า
- ราก : รสชุ่ม เย็น ละลายเสมหะ แก้พิษ ท้องอืดแน่น เนื่องจากการกินมากเกิน เสมหะมากไม่มีเสียง อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด กระหายน้ำ บิด และปวดหัวข้างเดียว รากทำให้สุก ใช้เป็นยาระบาย สมานลำไส้ บำรุงม้าม ขับเสมหะ เรียกน้ำลาย แก้คันและบำรุงเลือด
- เมล็ด : รสเผ็ด ชุ่ม เย็น เมล็ดคั่วแล้วมีรสเผ็ด ชุ่ม สุขุม ใช้เป็นยาระบาย ระงับอาการหอบ ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ แก้ไอหอบมีเสมหะมาก ท้องอืดแน่น บิด และแก้บวม
- ใบ หรือ ทั้งต้น : รสเผ็ด ขม สุขุม ทำให้เจริญอาหาร แก้ท้องเฟ้อเรอเปรี้ยว ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย บิด ท้องร่วง เจ็บคอ ต่อมน้ำนมบวม และน้ำนมคั่ง
- ใบสด : คั้นเอาน้ำทา แก้ผิวหนังเป็นผื่นคันมีน้ำเหลือง