ดอกโสนมีฤทธิ์เย็น
โสนเป็นไม้สกุลเดียวกับแค เป็นไม้ล้มลุกอายุ 1 ปี พืชตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย จากอินเดียไปทางตะวันออกจนถึงประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โสนขึ้นเองตามธรรมชาติ มักพบในพื้นที่ที่มีน้ำขัง ลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร ลำต้นผิวเรียบเป็นเหลี่ยมหรือกลมมีร่องละเอียดตามความยาวของลำต้น
ชื่อพ้อง โสนหิน โสนกินดอก (ภาคกลาง) ผักฮองแฮง (ภาคเหนือ) สีปรีหลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ชื่ออื่น Sesbania หรือ Sesbanea pea
สรรพคุณของดอกโสน
- สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทยบอกว่า ดอกโสนมีรสจืด มัน เย็น สรรพคุณแก้พิษร้อน ถอนพิษไข้ (สรรพคุณเดียวกันกับดอกแค)
- สรรพคุณทางโภชนาการพบว่า ดอกโสนให้ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกบำรุงสมอง มีเหล็กบำรุงเลือด ให้วิตามินเอไว้ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บอีก และมีวิตามินบี 1 บี 2 ไนอะซิน และวิตามินซี อีกพอสมควร นับว่าเป็นดอกไม้พืชพื้นบ้านที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายอย่างมาก
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ.2558 พบว่า ดอกโสนมีสารเควอเซทิน ไกลโคไซด์ (Quercetin 3-2 (G)-rhamnosylrutinoside) เป็นองค์ประกอบสำคัญ สารดังกล่าวเป็นสารฟลาโวนอยด์ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ในเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง สารกลุ่มฟลาโวนอยด์มักพบในดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม เนื่องจากฟลาโวนอยด์ดูดกลืนแสงอัลตราไวโอเลต จึงเป็นสารที่ทำหน้าที่ชี้แหล่งน้ำหวานให้กับแมลงที่มาผสมเกสร จัดเป็นกลุ่มสารที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชชั้นสูง
การศึกษาฤทธิ์ชีวภาพของเควอเซทินจากงานวิจัยพบว่า เควอเซทินมีฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตายด้วยกระบวนการอะพ็อปโทซิส (apoptosis) หยุดยั้งการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็ง ระงับการอักเสบ และป้องกันอันตรายของเซลล์ปกติต่อความเครียดจากกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อพบว่าดอกโสนอันเป็นไม้พื้นบ้านมีสารดังกล่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นองค์ประกอบจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจ และชักชวนกันกินไม้พื้นบ้านอันมีคุณค่ายิ่งตามฤดูกาล