รูปมาจากเว็บไซต์ความรู้ด้านการเกษตร
เห็ดหูหนูขาวมีฤทธิ์เย็น
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tremella fuciformis Berk ชื่อภาษาอังกฤษว่า Tremella Mushroom, Tremella Fuciformis Mushroom ( White Jelly Fungus, Snow Fungus) เห็ดหูหนูขาว ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มก้อนติดกัน มีดอกบางสีขาวใส รูปร่างแตกต่างกันหลายแบบ เช่นเหมือนใบหู กลีบดอกไม้ และภาชนะ มีทั้งแบบหมวกบานใหญ่และแบบหมวกบานฝอย คล้ายแมงกระพรุน ดอกเห็ดมีลักษณะคล้ายวุ้น อ่อนนุ่ม ขอบหยักย่น เป็นคลื่น อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ดอกแห้งสีขาวอมเหลือง รสหวาน เนื้อนุ่มกว่าเห็ดหูหนูสีน้ำตาล
เห็ดหูหนูขาวได้ถูกยกย่องเป็น สุดยอดของเห็ด สมัยก่อนเป็นเห็ดที่พบได้น้อยตามธรรมชาติ ราคาแพง เป็นอาหารบำรุงสำหรับคนที่มีฐานะร่ำรวย แต่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง ทำให้ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย ในสมัยปลายราชวงศ์ชิง มีการระบาดของวัณโรค ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หลังเที่ยงวัน ไอแห้ง ๆ มีเสมหะปนเลือด มีการใช้เห็ดหูหนูขาวบำรุงรักษา เสริมกับยา ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า เห็ดหูหนูขาว มีส่วนประกอบของโปรตีน ไขมัน น้ำตาล ไฟเบอร์ กรดอะมิโน วิตามิน และสารจำเป็นต่าง ๆ รวมทั้งน้ำมันยางอย่างอุดมสมบูรณ์
สรรพคุณของเห็ดหูหนูขาว
ชะลอความเสื่อมของเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจดีขึ้น (ลดอาการหลอดเลือดหัวใจขาด ตีบ) มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดอาการแทรกซ้อน ภายหลังการฉายแสงรักษาโรคมะเร็ง
สรรพคุณทางยาจีน เสริมบำรุงสารน้ำของปอด บำรุงไต ทำให้เกิดสารน้ำ หยุดไอ (ไอที่เกิดจากปอดแห้ง ไอแห้งๆ มีเลือดปน) บำรุงพลัง บำรุงหัวใจ บำรุงสมอง มีฤทธิ์สงบประสาท ช่วยให้นอนหลับ
การประยุกต์ใช้ทางคลินิก
เนื่องจากเห็ดหูหนูขาวมีคุณสมบัติทางยา ไม่ร้อน ไม่เย็น มีรสหวาน จึงมีคุณสมบัติบำรุง เสริมธาตุน้ำ และวิ่งเส้นลมปราณปอด (สีขาวเป็นสีของปอด) มักใช้บำรุงร่างกาย คนสูงอายุที่มีอาการป่วยไข้เรื้อรัง ทำให้พลังและยินพร่อง ใจสั่น นอนไม่หลับ ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค ไอแห้ง ๆ ไอมีเสมหะปนเลือด คนที่มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง หรือมีภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองแตก หรือหลอดเลือดหัวใจตีบในเวลาต่อมา
ข้อเปรียบเทียบเห็ดหูหนูขาว-เห็ดหูหนูดำ
- ข้อเหมือนกัน
- รสหวาน
- ส่วนประกอบ
- ต้านมะเร็ง ลดไขมันในเลือด ลดความดันเลือดสูง หลอดเลือดตีบ
- ข้อต่างกัน
- เห็ดหูหนูขาว
- วิ่งเส้นลมปราณปอด
- บำรุงพลังยินของปอด
- จุดเด่นที่วัณโรคปอด ไอแห้ง ๆ ไอมีเลือดปน (เนื่องจากปอดแห้ง ขาดสารยินหล่อเลี้ยง) เลือดกำเดาออก คอแห้ง เบื่ออาหารเนื่องจากกระเพาะอาหารแห้ง
- เห็ดหูหนูดำ
- วิ่งเส้นลมปราณไต
- บำรุงพลังเลือดยินของไต (บำรุงสมอง)
- จุดเด่น เลือดออกเนื่องจากเลือดร้อน โดยเฉพาะอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ประจำเดือนมากผิดปกติ ริดสีดวงทวาร โรคบิด (เนื่องจากเลือดร้อน)
หมายเหตุ : คุณสมบัติคล้ายกัน แต่การออกฤทธิ์ของเห็ดหูหนูขาวจะออกฤทธิ์ที่ปอดและกระเพาะอาหาร ส่วนเห็ดหูหนูดำจะออกฤทธิ์ที่ไตและตับ