ถั่วเหลืองมีฤทธิ์เย็น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ถั่วเหลืองเป็นพืชล้มลุก สูง 0.3-0.9 เมตร ลำต้นมีขนปกคลุม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มี 3 ใบย่อย หูใบรูปไข่ขนาด 3-7 มิลลิเมตร ใบย่อยรูปไข่ ฐานใบเป็นรูปลิ่มหรือกลม ปลายใบเรียวแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจะ ก้านช่อดอกยาว 1-3.5 เซนติเมตร วงกลีบเลี้ยงขนาด 4-6 มิลลิเมตร มีขนหยาบแข็ง วงกลีบดอกสีม่วง ม่วงอ่อน หรือขาว ขนาด 4.5-10 เซนติเมตร กลีบกลางรูปไข่โคนกลีบคล้ายกันกลีบ ปลายกลีบเว้าตื้น กลีบคู่ข้างหยักมน กลีบคู่ล่างรูปไข่กลับ รังไข่เหนือวงกลีบ ผลแบบฝักแบบถั่วขนาด 40-75 x 8-15 มิลลิเมตร อวบน้ำ ขอบรูปขนาน มี 2-5 เมล็ด รูปร่างรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ขั้วเมล็ดเป็นรูปรี
สรรพคุณของถั่วเหลือง
นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญแล้ว ในถั่วเหลืองยังพบสารกลุ่มไอโซฟลาโวน (Isoflavones) เช่น เจนีสทีน (genistein) เดดซีน (daidzein) และไกลซิทีน (glycitein) ซึ่งจัดเป็นสารจากพืชที่มีฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (phytoestrogen) ฮอร์โมนที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
สำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีข้อมูลระบุว่า
- การบริโภคถั่วเหลืองมีผลช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ (hot flashes) ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีระดับฮอร์โมนลดลงตามวัย
- ลดระดับไขมันในเลือด
- และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีผลช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผลต่อการเรียนรู้และจดจำ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
- สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของถั่วเหลืองต่อโรคมะเร็ง มีข้อมูลระบุว่าการบริโภคถั่วเหลืองมีผลช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม และลดการแบ่งตัวของจำนวนเซลล์มะเร็งเต้านมได้ แต่ก็มีบางงานวิจัยระบุว่าถั่วเหลืองมีผลเพิ่มความรุนแรงของมะเร็งได้เช่นกัน
- นักวิจัยจึงยังคงทำการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการบริโภคถั่วเหลืองกับมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งและความรุนแรงของมะเร็งเต้านมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- สำหรับการเตรียมถั่วเหลืองเพื่อรับประทานนั้น ควรเลือกวัตถุดิบที่สะอาดและมีคุณภาพ เพื่อให้ปลอดภัยจากสารพิษอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ที่พบได้มากในธัญพืชทั่วไป และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับ นอกจากนี้ควรระมัดระวังในผู้บริโภคบางรายที่อาจเกิดอาการแพ้ถั่วเหลืองได้ สำหรับการบริโภคถั่วเหลืองเพื่อให้ได้ผลต่อการป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็ง อาจต้องมีการศึกษาข้อมูลทางคลินิกเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์หลากหลายชนิดในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด ก็เป็นวิธีปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
- มีโปรตีน เลซิทิน และกรดแอมิโน รวมทั้งมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี 1 และบี 2 วิตามินเอและอี ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ป้องกันการขาดแคลเซียมในกระดูก
- และบำรุงระบบประสาทในสมอง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ป้องกันโรคโลหิตจาง
- รสหวาน บำรุงม้าม ขับแห้ง สลายน้ำ ขับร้อน ถอนพิษ แก้ปวด มักใช้บำบัดอาการลำไส้ทำงานไม่ปกติ โรคบิด แน่นท้อง ผอมแห้ง แผลเปื่อย
ถั่วเหลืองได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งถั่ว” หากกินเป็นประจำช่วยป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน
แหล่งข้อมูล
- งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี