พริกไทยมีฤทธิ์ร้อน
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
ผลรูปกลม ผลแห้งมีผิวสีดำ ผิวนอกหยาบ มีรอยย่น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 4-6 มม. เปลือกนอกสีน้ำตาลเข้มออกดำ มีรอยย่นคล้ายร่างแห ที่ขั้วมีรอยก้านผล เปลือกผลชั้นนอกและชั้นกลางลอกออกง่าย เปลือกชั้นในบางและค่อนข้างแข็ง 1 ผลมี 1 เมล็ด ผงพริกไทยดำมีสีน้ำตาล-ดำ กลิ่นฉุน รสเผ็ดเล็กน้อย ทางยานิยมใช้พริกไทยดำมากกว่าพริกไทยล่อน
สรรพคุณ
- ตำรายาไทย: ใช้ เมล็ด ลดอาการท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ให้ผายเรอ ช่วยเจริญอาหาร แก้กองลม บำรุงธาตุ แก้ลมอัมพฤกษ์ แก้มุตตกิต แก้ลมสัตถกะวาตะ แก้ลมอันเนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์ แก้ลมมุตตฆาต (ลมที่ทำให้ท้องลั่นโครกคราก) ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้ตัวเย็นรู้สึกร้อนเหงื่อออกสบาย ขับปัสสาวะ กระตุ้นประสาท บำรุงธาตุ บำรุงไฟธาตุ แก้อาหารไม่ย่อย ผลและเมล็ด รักษาอาการปวดกระเพาะอาหาร อาเจียน แก้ลม จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในกระเพาะ ท้องเสีย แก้ปวดท้อง ปวดฟัน แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย แก้หวัด ทำให้น้ำลายออกมาก ช่วยให้น้ำย่อยหลั่งมากขึ้น ทำให้อยากอาหาร แก้อ่อนเพลีย กษัยกร่อนแห้ง แก้บิด ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตะคริว แผลปวดเพราะสุนัขกัด ฝี สะอึก ห้ามเลือด ยาหลังคลอดบุตร ปวดศีรษะ แก้อาหารเป็นพิษ ตำรายาอินเดีย ใช้กลั้วคอ แก้เจ็บคอ ลดไข้
- นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้พริกไทยในยารักษาอาการโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของพริกไทยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
- ตำรายาไทยพริกไทยจัดอยู่ใน “พิกัดตรีกฎุก” แปลว่าของที่มีรสร้อน 3 อย่าง เป็นพิกัดยาที่ประกอบด้วยเครื่องยา 3 อย่าง ในปริมาณเสมอกันคือ เมล็ดพริกไทย เหง้าขิงแห้ง และดอกดีปลี มีสรรพคุณแก้โรคที่เกิดจากวาตะ(ลม) เสมหะ และปิตตะ(ดี) ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฏฐาน “พิกัดตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด” คือการจำกัดจำนวนตัวยาเผ็ดร้อน 6 ชนิด คือ พริกไทย ดีปลี ผลผักชีลา ใบแมงลัก ผลกระวาน ใบโหระพา มีสรรพคุณแก้ลมจุกเสียด ช้ำบวม ช่วยย่อยอาหาร
- พริกไทยใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในยาแผนโบราณของจีนและอินเดีย ใช้แก้หวัด ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดประจำเดือน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย