ผักคราดหัวแหวนเป็นผักฤทธิ์ร้อน
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
ผักคราดหัวแหวน เป็นพืชล้มลุกที่ขึ้นในที่ลุ่มและมีความชุ่มชื้น พบได้ตามริมคลองหรือร่องน้ำ ใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน รูปใบเป็นสามเหลี่ยมขอบใบหยัก ออกดอกเดี่ยวมีก้านเรียวยาว ดอกสีเหลืองลักษณะกลมปลายแหลมคล้ายหัวแหวน
การปลูก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้เร็ว
สรรพคุณของคราดหัวแหวน
ผักคราดหัวแหวนมีรสเผ็ดร้อน ตามหลักการแพทย์วิถีธรรมเป็นผักฤทธิ์ร้อน หมอพื้นบ้านใช้ ก้านดอกมาขยี้ อุดเข้าไปในรูฟันที่ปวดบรรเทาอาการปวดฟัน ราก นำมาต้มดื่ม อมและบ้วนปาก แก้อักเสบในช่องปาก ทั้งต้น นำมาตำใส่น้ำพอชุ่ม พอกบริเวณที่ปวดบวม ฟกช้ำ แก้อักเสบ ยอดอ่อน ดอกอ่อนและใบอ่อน รับประทานเป็นผักสด แกล้มกับน้ำพริก หรือนำมาผัด ภาคเหนือ นำไปแกงแค ภาคอีสาน นำไปใส่แกงอ่อม ทำให้รสชาติและกลิ่นของแกงน่ารับประทานมากขึ้น
ส่วนที่ใช้ : ราก ต้น ทั้งต้น ใบ ดอก (ราก ทั้งต้นสด เก็บได้ตลอดปี หรือตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้)
- ราก – แก้ปวดฟัน แก้ปวดศีรษะ แก้คัน เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ
- ต้น – แก้พิษตานซาง แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ฝีในคอ แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ริดสีดวง
- ทั้งต้น
– รสเผ็ด ซ่าปาก ทำให้ลิ้นและเยื่อเมือกชา แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ
– แก้ฝีในคอ แก้ไข้ คอตีบตัน แก้ซาง แก้คัน แก้ริดสีดวง แก้เริม
– แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง แก้ไอ ระงับหอบ ไอหวัด ไอกรน หอบหืด
– แก้เหงือกและฟันปวด แก้ปวดบวมฟกช้ำ แก้ไขข้ออักเสบจากลมขึ้น ( Rheumatic fever )
– แก้บิด ท้องเดิน
– แก้แผลบวม มีพิษ งูพิษกัด สุนัขกัด ตะมอย - ใบ – แก้ปวดฟัน แก้ปวดศีรษะ รักษาแผล มีฤทธิ์เป็นยาชา
- ดอก – แก้ปวดฟัน แก้ปวดศีรษะ
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
- ใช้รับประทานภายใน
ต้มแห้งหนัก 3.2- 10 กรัม ต้มน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงหนัก 0.7- 1 กรัม รับประทานกับน้ำ หรือผสมกับเหล้ารับประทาน - ใช้ทาภายนอก
ต้นสดตำพอก หรือเอาน้ำทาถู ใช้ต้นสด 1 ต้น ตำให้ละเอียด เติมเกลือ 10 เม็ด คั้นน้ำ ใช้สำลีพันไม้ชุบน้ำยาจิ้มลงในซอกฟัน ทำให้หายปวดฟันได้
หมายเหตุ
เมื่อเอาก้านช่อดอกหรือลำต้นมาเคี้ยว จะทำให้รู้สึกชามากกว่าเคี้ยวแต่ใบอย่างเดียว ดังนั้นการจะนำมาใช้ในทางทำให้ชา เช่น แก้ปวดฟันหรือทางแก้ปวดบวม คันต่าง ๆ ก็น่าจะใช้ลำต้นหรือก้านช่อดอกซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าใช้ใบ การใช้แก้ปวดฟัน ให้เอาก้านสดมาเคี้ยวตรงบริเวณฟันซี่ที่ปวด เพื่อให้น้ำจากก้านซึมเข้าไปตรงที่ปวด จะทำให้ชาสามารถระงับอาการปวดฟันได้ดี ถ้าฟันที่ปวดเป็นรู ใช้ขยี้ให้เละ อุดเข้าไปในรูนั้น สักครู่จะทำให้ชาและหายปวด (เคี้ยวแล้วประมาณ 1 นาที จะรู้สึกชาและจะชาอยู่ประมาณ 20 นาที ถ้ายังไม่หาย ก็เคี้ยวอีก 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย พบว่าหายปวดไปได้นานและบางคนว่าจะไม่ปวดอีกเลย) เคี้ยวพืชนี้แล้วจะมีน้ำลายออกมาก ใช้เป็นสารกระตุ้นให้หลั่งน้ำลายได้ดี ยอดอ่อนใช้แกงกินหรือกินเป็นผักสดได้ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออกมาก ช่วยให้การย่อยในปากและกระเพาะดีขึ้น และกินแก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้ตำพอกแผลและแผลเนื้อตายได้ ใช้ต้นนี้ร่วมกับใบหนาดใหญ่ และใบมะขามต้มอาบหลังฟื้นไข้ และในโรคปวดตามข้อ หญิงมีครรภ์และหลังคลอด
รากใช้เป็นยาถ่าย ใช้รากแห้ง 4-8 กรัม ต้มในน้ำ 1 ถ้วยกิน รากใช้ต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปากและเจ็บคอ นอกจากนี้อาจใช้ก้านขยี้ทาแผลในปากเด็ก ซึ่งเกิดเนื่องจากร้อนใน
ชื่อพื้นถิ่น
ภาคเหนือ ผักเผ็ด ผักตุ้มหู หญ้าตุ้มหู
ภาคกลาง ผักคราด ผักคราดหัวแหวน กระดุมทอง