อ.หมอเขียว ยกเตสกุณชาดกที่ 1 ว่าด้วยนกตอบปัญหาพระราชา จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ข้อที่ 2438-2444 โดยนำข้อที่ 2444 มาขยายความ ว่าผู้มีปัญญามาก แม้ประสบทุกข์ก็หาสุขพบ จากนั้นแนะนำให้ทุกท่านใช้โอกาสที่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ในเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ พิจารณากิเลสของตนเอง ซึ่งการลดกิเลสนี้เป็นบุญกุศลสูงสุด โดยใช้หลักไตรลักษณ์ พิจารณาความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ของกิเลส คือพิจารณาโทษของกิเลส จนกิเลสยอมตาย สลายไป เห็นสภาพอนัตตาความไม่มีตัวตนของกิเลส คือพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีกิเลส
รับฟังเสียงได้ที่
เนื้อหาจากพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกวันที่ 27 ข้อที่ 2444 กำลังในบุรุษผู้มีอัธยาศัยใหญ่ในโลกนี้มี ๕ ประการ ในกำลัง ๕ ประการนั้น กำลังแขน บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังต่ำทราม ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเจริญพระชนม์ กำลังโภคทรัพย์ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังที่ ๒. กำลังอำมาตย์ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังที่ ๓ กำลังคือมีชาติยิ่งใหญ่เป็นกำลังที่ ๔ โดยแท้ บัณฑิตย่อมยึดเอากำลังทั้งหมดนี้ไว้ได้. กำลังปัญญา บัณฑิตกล่าวว่าเป็นกำลังประเสริฐ ยอดเยี่ยมกว่ากำลังทั้งหลาย เพราะว่าบัณฑิตอันกำลังปัญญาสนับสนุนแล้ว ย่อมได้ความเจริญ. ถ้าบุคคลมีปัญญาทราม แม้ได้แผ่นดินอันสมบูรณ์ เมื่อเขาไม่ปรารถนา คนอื่นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ก็ข่มขี่แย่งเอาแผ่นดินนั้นเสีย. ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวกาสี ถ้าบุคคลแม้เป็นผู้มีชาติสูง ได้ราชสมบัติแล้วเป็นกษัตริย์ แต่มีปัญญาทราม หาเป็นอยู่ด้วยราชสมบัติทุกอย่างได้ไม่. ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยข้อความที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง คนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ย่อมได้รับสุข. ก็คนบางคนไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่อาศัยผู้เป็นพหูสูต ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่พิจารณาเหตุผล ย่อมไม่ได้บรรลุปัญญาแล อนึ่ง ผู้ใดรู้จักจำแนกธรรม ลุกขึ้นในเวลาเช้า ไม่เกียจคร้าน ย่อมบากบั่นตามกาล ผลการงานของผู้นั้นย่อมสำเร็จประโยชน์แห่งการงานของบุคคลผู้มีศีล มิใช่บ่อเกิด ผู้คบหาบุคคลที่มิใช่บ่อเกิด (ลาภยศสุข) ผู้มีปกติเบื่อหน่าย ทำการงาน ย่อมไม่เผล็ดผลโดยชอบ. ส่วนประโยชน์แห่งการงานของบุคคลผู้ประกอบธรรมอันเป็นภายใน คบหาบุคคลที่เป็นบ่อเกิดอย่างนั้น ไม่มีปกติเบื่อหน่ายทำการงาน ย่อมเผล็ดผลโดยชอบ. ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงเสวนะปัญญา อันเป็นส่วนแห่งการประกอบความเพียร เป็นเครื่องตามรักษาทรัพย์ที่รวบรวมไว้ และเหตุ ๒ ประการข้างต้นที่ ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลแล้วนั้นเถิด อย่าได้ทรงทำลายทรัพย์เสียด้วยการงานอันไม่สมควร เพราะคนมีปัญญาทราม ย่อมล่มจมด้วยการงานอันไม่สมควร ดังเรือนไม้อ้อฉะนั้น.
ขยายความพระไตรปิฎก
คนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ย่อมได้รับสุข มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีในชีวิต เราเอาประโยชน์ได้ อย่างสถานการณ์โควิดตอนนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยิ่งเอาประโยชน์ได้ง่าย คนมีปัญญาคิดโดนพอๆ กัน ทุกคนอยู่ในสถานการณ์นี้เหมือนกันหมด ลองพิจารณาสิ ว่าจะเอาประโยชน์อะไรได้ คนมีปัญญาละเอียดสูงสุด จะรู้ว่ามีวิบากเข้ามาในชีวิต เป็นวิบากรับแล้วก็หมดไป อยากหมดเร็วก็อย่าทำชั่ว ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ อะไรที่เป็นบุญกุศล อะไรที่เป็นการลดกิเลสได้ อะไรที่ช่วยเหลือผู้อื่นได้เท่าที่เราทำได้ ทำเข้าไป ทำด้วยใจไร้กังวล ถือเอาประโยชน์ว่าดีเหมือนกันจะได้เพ่งเพียรทำสิ่งดีตามที่พระพุทธเจ้าสอน หรือจังหวะนี้ดีเหมือนกันที่ได้อยู่บ้าน ดูแลบ้าน ดีเหมือนกันจะได้ปลูกพืชปลูกผักไว้กิน ดีจะได้ทำปัจจัย 4 ทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ว่าปัจจัย 4 เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต สำหรับเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย บางท่านก็คิดว่าดีเหมือนกันได้ตรวจสอบใจว่าตอนนี้เรามีกิเลสอะไรที่อยากเสพสิ่งนั้นสิ่งนี้ไหม เรามีกิเลสอะไร เห็นอาการเลยว่าที่เราอยากออกนอกบ้านไปเสพสิ่งนั้นสิ่งนี้ ตรงนั้นตรงนี้ เห็นกิเลสจะได้ใช้ปัญญากำจัดเลย พิจาณาไตรลักษณ์ ว่ากิเลสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มี เริ่มต้นจากสุขปลอมของกิเลส ว่ามันไม่เที่ยงเสพไปแป๊ปเดียวก็หมดไป เก็บไม่ได้ มันไม่มีสาระ แล้วมันไม่ใช่สุข มันหลอกเราว่าเป็นสุข แท้จริงมันเป็นทุกข์ คือใจเป็นทุกข์ เราได้สมใจก็ลดทุกข์ชั่วคราว ก็ดีใจแว็บหนึ่งแล้วมันก็ละลายไป แท้จริงมันสร้างทุกข์แล้วก็ลดทุกข์เท่านั้น ในมาคันทิยาสูตร มันหลอกให้เราสร้างทุกข์ แล้วก็หลอกให้เราลดทุกข์ พอได้ชั่วคราว ก็ดีใจแว็บหนึ่งแล้วก็ละลายไปเลย แล้วก็ทุกข์ใหม่อีก ชั่วกัปชั่วกัลป์ มันไม่ใช่สุขมันเป็นทุกข์ แล้วทุกครั้งที่เราอยาก เป็นวิบากร้ายชั่วกัปชั่วกัลป์ ตั้งแต่เริ่มต้นอยากจะไปเสพ ก็กลัวที่จะไม่ได้อย่างที่อยาก ใจก็เป็นทุกข์แล้ว เกิดทุกข์ใจ เป็นทุกข์ที่แรงที่สุดในโลกแล้ว ใจก็เป็นทุกข์ อยากได้สิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ แล้วเป็นทุกข์ทั้งแผ่นดิน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนขสิขสูตร ใจก็เป็นทุกข์ ทุกข์แรงเท่ากับดินทั้งแผ่นดิน เมื่อเทียบกับฝุ่นปลายเล็บ คือกายกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ตกลงเราเสียพลังไปสร้างทุกข์ เสียพลังไปดันทุกข์ออก เสียพลังไปสั่งให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวบีบทุกข์ออก เมื่อดันทุกข์ใจออกไม่ได้ ก็ดันร่างกายพังย่ำแย่ เจ็บป่วย เรามัวมายุ่งกับกิเลสของเรา มายุ่งกับการอยากเสพกิเลสของเรา เราก็ไม่ได้เอาพลังชีวิตเราณ เวลานั้นไปช่วยเหลือผู้อื่น เมื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้กิเลสของผู้อื่นก็โตขึ้น ๆ และยังเป็นพลังส่งเสริมให้กิเลสคนอื่นโตขึ้นด้วย กลายเป็นพลังสนิทาน เหนี่ยวนำให้กิเลสคนอื่นโตขึ้น ๆด้วย กิเลสมันก็โตขึ้น ก็อยากได้สิ่งนั้น มันก็ทุกข์ใจ ทุกข์กาย แล้วก็ทำไม่ดีได้ทุกเรื่อง เหนี่ยวนำให้ผู้อื่นเป็นตาม สืบเนื่องไปชั่วกัปชั่วกัลป์ ชีวิตเราก็ทุรังคมัง ไปได้ไกล อนันตัง ไม่มีที่สิ้นสุด บันทึกเป็นวิบากร้ายของเรา ดึงเรื่องร้ายมาใส่เราและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องชั่วกัปชั่วกัลป์ ความทุกข์ทั้งปวงเกิดด้วยประการฉะนี้ เราก็พิจารณา ว่ากิเลสที่เราติด อยากออกไปเสพตรงนั้นตรงนี้ การที่เราอยู่บ้านแล้วอยากออกไป เราออกไม่ได้ เห็นกิเลสอยากเสพนู่นนี่มีไหม ก็จับอาการและถือโอกาสกำจัดกิเลสเลย กำจัดกิเลสได้ก็ได้บุญกุศลมากที่สุดแล้ว พิจารณาซ้ำๆ ว่ากิเลสมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เรามีญาณปัญญาแค่ไหนก็พิจารณาเข้าไป จนกิเลสมันเถียงเราไม่ได้ว่าคิดแบบกิเลสเป็นทุกข์ เราชี้แจงจนกิเลสเถียงเราไม่ได้ หลอกเราไม่ได้อีกต่อไป ปกติกิเลสหลอกว่าเป็นสุข ไม่ใช่มันเป็นทุกข์ หลอกว่าเที่ยง ไม่ใช่มันไม่เที่ยง ก็พิจารณาจนกิเลสยอมด้วยญาณปัญญาของเรา ที่นี้กิเลสไม่อยากทุกข์ มีวิธีที่จะไม่ทุกข์ คือตายจากความคิดเดิม เนื่องจากพลังงานไม่สูญหายไปจากโลก พลังงานที่กิเลสสูญสลาย ก็จะกลายมาเป็นของเรา เอามาคิดแบบพุทธะ ก็ไม่ชอบในการที่ไปเสพกิเลส และก็ไม่ชังในการไม่ได้เสพกิเลส กลายเป็นสภาพไม่ชอบไม่ชัง ยินดีในความไม่ชอบไม่ชัง ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่อยากไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีวิบากร้ายใดๆ ใจก็เบิกบานแจ่มใส เบาใจ ไร้กังวล อะไรเกิดอะไรดับก็ไม่ทุกข์ใจ แล้วเราก็เข้าใจกรรมแจ่มแจ้ง เราก็ไม่ทำชั่ว ทำแต่ดีที่ทำได้ เกิดพลังเหนี่ยวนำให้ผู้อื่นเป็นตาม กลายเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นชั่วกัปชั่วกัลป์ ใจก็เป็นสุข กายก็แข็งแรง เกิดเรื่องดีกับตนเองและผู้อื่นชั่วกัปชั่วกัลป์ นี่คือสภาพอนัตตา ความไม่มีตัวตนของกิเลส เกิดจากการพิจาณาความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง นี่แหละ จะทำให้เกิดสภาพอนัตตา ความไม่มีตัวตนของกิเลสนั่นแหละคือประโยชน์ในชีวิต สรุปคืออนิจจัง ทุกขังคือพิจารณาโทษของการมีกิเลส และอนัตตาพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีกิเลส ตรงกับพระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ข้อที่ 2010
ที่มา: รายการธรรมะพาพ้นทุกข์ วันที่ 4 เมษายน 2563